ไพบูลย์ เล็งถอน เมทแอมเฟตามีน พ้นบัญชียาเสพติด ชี้ทำลายสุขภาพน้อยกว่าเหล้า-บุหรี่



ไพบูลย์ เล็งถอนยาบ้าพ้นบัญชียาเสพติด ชี้ปราบไม่สำเร็จก็ต้องอยู่ร่วมกัน

          พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา เผยเล็งยกเลิก "เมทแอมเฟตามีน" จากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ ชี้ มีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุราเสียอีก

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559  ศาลฎีกา ร่วมกับสำนักกิจการในพระราชดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ประชุมเรื่องทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด ( UNGASS ) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมี นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย
          โดย พล.อ. ไพบูลย์ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยการประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ รวมถึงทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้ง ๆ ที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

ไพบูลย์ เล็งถอนยาบ้าพ้นบัญชียาเสพติด ชี้ปราบไม่สำเร็จก็ต้องอยู่ร่วมกัน

          พล.อ. ไพบูลย์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้ เพราะยังติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ

          และขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยกฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลยพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยจะพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง

          สำหรับการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น จำต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน

           - ด้านการปราบปราม

           - ด้านการป้องกัน

           - ด้านการบำบัดฟื้นฟู 

          แต่ที่ผ่านมาการบำบัดฟื้นฟูทำไม่ได้ เนื่องจากติดขัดที่กฎหมาย ฉะนั้นอาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยน "เมทแอมเฟตามีน" จากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ "เมทแอมเฟตามีน" มีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุราเสียอีก แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรามากกว่า โดยเห็นว่าเมทแอมเฟตามีนป็นอาชญากรรม แต่บุหรี่และสุราไม่ใช่อาชญากรรม

          โดยหลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด

          อนึ่ง เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) เป็นอนุพันธ์หนึ่งของแอมเฟตามีน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้า หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้า อาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ โดยสารเมทแอมเฟตามีนจะพบได้ในยาเสพติดหลายชนิด อาทิ ยาบ้า และ ยาไอซ์

          อย่างไรก็ตาม ทีมงานต้องขออภัยในความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ที่อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดในเรื่องของยาบ้า และสารเมทแอมเฟตามีน มา ณ ที่นี้ด้วย

ติดตามข่าว ยาบ้าถูกกฎหมาย ทั้งหมด

***หมายเหตุ : อัพเดทข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 18.12 น. วันที่ 16 มิถุนายน 2559

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
pharmacy.mahidol.ac.th, office.bangkok.go.th, pr.prd.go.th 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไพบูลย์ เล็งถอน เมทแอมเฟตามีน พ้นบัญชียาเสพติด ชี้ทำลายสุขภาพน้อยกว่าเหล้า-บุหรี่ อัปเดตล่าสุด 20 มิถุนายน 2559 เวลา 10:34:18 328,397 อ่าน
TOP
x close