สุราไม่เคยให้คุณใด ๆ ทั้งยังก่อให้เกิดโรคได้มากกว่า 200 ชนิด แต่ถ้าเราเอาชนะใจ งดสุราได้ สุขภาพและคุณภาพชีวิตก็จะดีกว่าเดิม
ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก พบว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3.3 ล้านคน โดยพบว่าสุราเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้มากมาย ทั้งโรคมะเร็ง โรคตับ โรคหัวใจ โรคปอด และเบาหวาน เนื่องจากสุราทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ดังนั้น คนที่ดื่มสุราบ่อย ๆ ก็เสี่ยงป่วยได้ง่าย กับโควิด 19 ก็ด้วย
ปัจจุบันผู้หญิงมีแนวโน้มดื่มสุรามากขึ้น โดยสาเหตุที่หันมาดื่มเพราะต้องการผ่อนคลายจากการทำงาน การเรียน และต้องการการยอมรับจากเพื่อน และที่สำคัญหาซื้อง่าย ใกล้บ้าน ใกล้สถานศึกษา เดินทางไม่ถึง 5 นาทีก็หาซื้อได้แล้ว จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนเข้าสู่วงจรนักดื่มหน้าใหม่
ทั้งนี้ ในแต่ละปีประเทศไทยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน มีการศึกษาพบว่า หากมีคนในครอบครัวดื่ม เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีการดื่ม 3-4 เท่า ซึ่งพบว่าเด็กไทยเคยเห็นการดื่มแอลกอฮอล์จนเมาของสมาชิกในครอบครัว และส่วนใหญ่มีประสบการณ์นี้ก่อนอายุ 18 ปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อเด็กทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะมีแนวโน้มว่าเด็กอาจถูกทำร้ายร่างกายได้ โดยเฉพาะเวลาที่พ่อแม่เมาจนขาดสติ และยิ่งน่าตกใจไปกว่านั้น เมื่อมีข้อมูลพบว่าพฤติกรรมการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ 40.8% ยอมรับว่าก่อคดีภายใน 5 ชั่วโมง หลังจากดื่มแอลกอฮอล์ !! ถือว่าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
คนไทยป่วยโรคจิตเวช จากการดื่มเหล้าถึง 9.3 ล้านคน
ความน่ากลัวของแอลกอฮอล์ไม่หยุดเพียงเท่านี้ ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคจิตเวชเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โรคจิตเวชกำเริบ คือ เรื่องการดื่มเหล้า จากผลสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ซึ่งสำรวจทุก 5 ปี พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตของคนไทยจากการใช้สุรามีมากถึง 18% หรือ 9.3 ล้านคน โดยผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิง และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ยังพบว่าปัญหาจากการใช้สุราและสารเสพติด ประเทศไทยมีความชุกสูงสุดถึง 19.6% รองลงมาคือ ยูเครน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถิติที่ไม่น่าครอบครองเอาซะเลย
ซดเหล้า ต้นตออุบัติเหตุ
นอกจากแอลกอฮอล์จะกระทบกับผู้ดื่มโดยตรงแล้ว ยังเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน กี่ครั้งแล้วที่เราสูญเสียคนที่เรารักจากความประมาทของผู้อื่น จากสถิติอุบัติเหตุจราจรทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ของไทย ช่วง 7 วันอันตราย พบว่าจำนวนผู้บาดเจ็บที่ดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลถึง 3.1 เท่า และเพิ่มสูงขึ้นหากคู่กรณีดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลกระทบเหล่านี้นอกจากทำให้เกิดความสูญเสียแล้ว ยังเป็นสาเหตุของความพิการอีกด้วย
สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า แต่ก็ทำไม่ได้สักที เข้าพรรษานี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ลองอีกครั้ง...
ขอบคุณข้อมูลจาก