สส. รณรงค์ใช้กระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง



            สส. รณรงค์ใช้กระทงร่วมกัน "1 ครอบครัว 1 กระทง" งดเล่นดอกไม้ไฟ พลุ ประทัด แนะกระทงขนมปังไม่ควรใส่สี ไม่โรยกากเพชร ชวนโพสต์ภาพติดแฮชแท็ก #มาด้วยกันลอยด้วยกัน

            วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชิญชวนประชาชนร่วมลอยกระทงรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิด "ลอยกระทงปลอดภัย สืบสานวัฒนธรรมไทย ใส่ใจสายน้ำและสิ่งแวดล้อม" ร่วมสร้างค่านิยมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทย และมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการก่อขยะ โดยรณรงค์ให้ประชาชนเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ และลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 1 ครอบครัว 1 กระทง หรือ 1 แก๊ง/กลุ่ม 1 กระทง หรือการลอยกระทงออนไลน์

            นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างค่านิยมให้ประชาชนมีพฤติกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการก่อขยะ และเห็นความสำคัญของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า โดยในช่วงประเพณีลอยกระทงที่กำลังจะมาถึงนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนลอยกระทงแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะประเพณีที่ดีเราต้องสืบสานให้ดำรงอยู่ แต่คงต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาแม่น้ำ ลำคลองและสิ่งแวดล้อมด้วย
            จากข้อมูลจำนวนกระทงในพื้นที่กรุงเทพมหานครของสำนักสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551-2559 พบว่า ประชาชนหันมานิยมใช้กระทงที่ทำจากใบตองหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2558 มีกระทงที่ทำจากใบตองหรือวัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ 754,587 ใบ จากกระทงทั้งสิ้น 825,614 ใบ คิดเป็นร้อยละ 91 และปี 2559 มี 573,867 ใบ จากกระทงทั้งสิ้น 617,901 ใบ คิดเป็นร้อยละ 93 ตามลำดับ

1 ครอบครัว 1 กระทง

            อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่ออีกว่า จากสัดส่วนของปริมาณกระทงที่เก็บขนได้ในพื้นที่กรุงเทพฯ แสดงว่าประชาชนมีความตื่นตัวในการเลือกใช้กระทงจากวัสดุธรรมชาติ แต่ทำอย่างไรให้กระทงจำนวนมากนี้มีปริมาณลดลง จึงต้องรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการลดปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง และร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยในช่วงลอยกระทง โดยวัสดุที่นำมาทำกระทงควรเป็นวัสดุธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้ และต้องมีความเหมาะสมและสร้างมลพิษให้แก่แหล่งน้ำน้อยที่สุด

            ส่วนจะเลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุชนิดใดให้ดูจากพื้นที่ เช่น หากลอยในแม่น้ำ หรือสระน้ำที่มีปลาหรือสัตว์น้ำเยอะ ๆ ก็ควรเลือกกระทงขนมปัง แนะนำว่ากระทงขนมปังไม่ควรใส่สี ควรเป็นกระทงสีธรรมชาติซึ่งดูสวยอยู่แล้ว และไม่ควรตกแต่งกระทงด้วยวัสดุอื่น เช่น โรยกากเพชร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน ถ้าปริมาณกระทงขนมปังเหมาะสมกับจำนวนสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ก็จะไม่ก่อให้เกิดปัญหา เป็นการได้บุญ 2 ต่อ ได้ขอขมาพระแม่คงคา และยังได้ทำทานกับสัตว์น้ำอีกด้วย หากลอยกระทงในแหล่งน้ำซึ่งเป็นระบบปิด เช่น สระ บ่อ บึง หนองน้ำ ที่ปลาไม่เยอะ อาจใช้กระทงใบตอง หรือวัสดุธรรมชาติอื่นแทน

            นอกจากนี้ ก็ขอความร่วมมือจากประชาชน งดการจุดและปล่อยพลุ ดอกไม้ไฟ ตะไล โคมลอย โคมไฟ และโคมควันในช่วงวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ด้วย เพื่อป้องกันอันตรายและอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ พร้อมกับเชิญชวนโพสต์ภาพถ่ายทางเฟซบุ๊ก หรืออินสตาแกรม พร้อมติดแฮชแท็ก #มาด้วยกันลอยด้วยกัน #ลอยกระทงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม #คนไทยหัวใจสีเขียว #loykrathongwithdeqp

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สส. รณรงค์ใช้กระทงร่วมกัน 1 ครอบครัว 1 กระทง อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16:47:05 10,374 อ่าน
TOP
x close