นักท่องเที่ยวไทย เปิดใจ นาทีหนีตายระทึก เจาะลึกเหตุแผ่นดินไหวภูเขาไฟรินจานี

          หนุ่มนักท่องเที่ยวไทย เปิดใจวินาทีหนีตาย จากเหตุแผ่นดินไหวที่ภูเขาไฟรินจานี อินโดนีเซีย เจาะลึกเรียงลำดับเหตุการณ์ทั้งหมด พร้อมแนะแนวทางรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน ท่ามกลางความอลหม่านก็ได้พบเรื่องสุดประทับใจ  
แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          จากเหตุการณ์ แผ่นดินไหว 6.4 แมกนิจูด บริเวณเกาะลอมบอก สถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตของประเทศอินโดนีเซีย ก่อนจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายระลอก ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนจำนวนมากได้รับความเสียหาย รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปชมความงามของภูเขาไฟรินจานี ต่างพากันหนีตายกันอลหม่าน เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมานั้น (อ่านข่าว : แผ่นดินไหวอินโดนีเซียทั้งหมด ที่นี่)

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ล่าสุด (3 สิงหาคม 2561) กระปุกดอทคอม ได้ติดตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง และได้สัมภาษณ์ นายนเรศ เดชผล หรือ เอก หนึ่งในนักท่องเที่ยวชาวไทย ที่เดินทางไปท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ Gunung Rinjani (ภูเขาไฟรินจานี) ในวันที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว โดยเอกได้เปิดใจเล่านาทีเกิดเหตุ และลำดับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งแนะแนวทางให้นักท่องเที่ยวทุกคน หากเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ต้องรับมืออย่างไรบ้าง


เหตุการณ์ในวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

       เอก : วันเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาประมาณ 06.45 น. ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงขึ้น ซึ่งในวันนั้นมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทย เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดยาวของไทย แรงสั่นสะเทือนทำให้ภูเขารินจานีพังทลายโดยรอบ เส้นทางขึ้นเขาเสียหาย ที่สำคัญคือแรงสั่นสะเทือนยังทำให้เส้นทางเข้า-ออกทะเลสาบเสียหายไปด้วย ขณะนั้นนักท่องเที่ยวที่อยู่ด้านในทะเลสาบทั้งหมดถูกขัง และไม่มีใครกล้าตัดสินใจใช้เส้นทางปกติหนีออกมา

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ช่วงเวลาที่มีการสั่นสะเทือน นักท่องเที่ยวที่น่าจะเสี่ยงอันตรายมากที่สุดคือ กลุ่มที่กำลังใช้เส้นทางสันเขา เพื่อเดินขึ้นไปยังจุด Summit และอีกกลุ่มที่อยู่บริเวณยอดเขา เนื่องจากมีการพังทลายของดินทุกครั้งที่เกิดการสั่นสะเทือน ทำให้มีความเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจะตกลงมาจากภูเขาได้

          สำหรับทริปนี้ ผมรู้สึกแปลกใจที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย ซึ่งก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว ผมได้มีโอกาสทักทายและพูดคุยกับนักท่องเที่ยวไทยคนอื่น ๆ พบว่าทุกคนเพิ่งมาที่นี่เป็นครั้งแรก ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนไม่เคย Trekking กันมาก่อน ซึ่งเส้นทางสู่ยอดรินจานีถือว่ายาก แต่หากผ่านที่นี่ไปได้ ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง และสามารถไปพิชิตยอดเขาอื่น ๆ ที่สูงกว่าได้       


ตอนที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น กำลังทำอะไรอยู่ และรู้สึกอย่างไร ?
 
          เอก : ตอนสั่นสะเทือนครั้งแรก ผมอยู่บริเวณปลายยอดเขาพอดี ตรงนั้นเรียกว่าเนินซอมบี้ น่าจะเป็นจุดที่มีความยากที่สุดก่อนถึงจุด Summit เพราะเส้นทางสูงชันมาก ประกอบกับพื้นเป็นหินร่วน ทำให้เดินได้ยาก สมมติถ้าเดินขึ้นไปสองก้าว ก็มักจะลื่นไถลกลับลงมาหนึ่งก้าว ทำให้ต้องออกแรงเดินมากกว่าปกติ และตอนนั้นผมก็เหลือระยะทางอีกแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็จะถึงจุด Summit แล้ว แต่มาเจอแผ่นดินไหวเสียก่อน

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนพื้นทรุดตัวลง จากนั้นก็เกิดการสั่นอย่างรุนแรง ตามมาด้วยเสียงภูเขาพังทลายดังรอบทิศทาง มีฝุ่นตลบเข้ามาแทนเมฆหมอก ขณะนั้นทุกคนนั่งลงกับพื้น บางคนนอนหมอบลงไปเลย พร้อมกับเสียงร้องด้วยความตกใจ ในตอนนั้นผมไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะไม่มีประสบการณ์เรื่องแผ่นดินไหวมาก่อน แต่ในใจคิดว่าใช่แน่ ๆ

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ผมเชื่อว่าหลายคนไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ในใจผมแอบคิดเหมือนกันว่าเราจะต้องมาเสียชีวิตที่นี่หรือเปล่า แต่ผมก็พยายามรวบรวมสติ เชื่อว่าทุกอย่างไม่เลวร้าย และคิดว่าต้องผ่านมันไปให้ได้


เอาชีวิตรอดออกมาได้อย่างไร ?

          เอก : เมื่อการสั่นสะเทือนรอบแรกหยุดลง ไกด์ชาวอินโดฯ ก็ตะโกนบอกให้ทุกคนรีบวิ่งลงเขาทันที ผมคิดว่าทุกคนไม่บาดเจ็บมาก เพราะหินร่วนของทางช่วยซับแรงกระแทกเวลาก้าวกระโดดได้พอสมควร

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ทุกคนวิ่งลงไปได้ไม่นาน แรงสั่นสะเทือนระลอกสองก็ตามมาอีก ขณะนั้นทุกคนหยุดวิ่งและทิ้งตัวนอนราบกับพื้นทันที พวกเราหยุดนิ่งอยู่เป็นเวลานาน เพราะทุกคนเริ่มไม่แน่ใจแล้ว ว่าจะเกิดการสั่นสะเทือนอีกหรือไม่

ไกด์ช่วยเหลือเราอย่างไรบ้าง และนักท่องเที่ยวด้วยกันช่วยเหลือกันอย่างไร ?

          เอก : ไกด์ชาวอินโดฯ มีบทบาทในการช่วยเหลือทุกคนมาก พวกเขาสร้างความมั่นใจให้กับเรา โดยการเปิดเส้นทางใหม่และคอยกำกับทิศทางว่าต้องวิ่งไปทางไหน เพราะทางเดินเก่าพังทลายไปเกือบหมดแล้ว โชคดีที่เส้นทางใหม่ไม่ชันมาก แต่ก็มีหินร่วนที่เพิ่งพังทลายลงมา ทำให้ทุกคนต้องค่อย ๆ วิ่ง เพราะอาจพลัดตกลงไปได้

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ขณะที่วิ่งลงเขา ไกด์ไม่ได้วิ่งคนเดียว พวกเขาช่วยจูงมือนักท่องเที่ยวที่ดูแลอยู่ไปด้วย โดยเฉพาะคนที่ไกด์ประเมินแล้วว่าอาจจะไม่ค่อยมีแรง หรือสภาพจิตใจย่ำแย่ ซึ่งทุกอย่างค่อนข้างทุลักทุเลพอสมควร

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          จังหวะหนึ่งผมเห็นหญิงชาวไทยคนหนึ่ง ตกลงไปตรงหน้าผาฝั่งภูเขาไฟ ซึ่งตรงนั้นมันลึกมากประมาณ 600 เมตร อาจเป็นเพราะแผ่นดินสไลด์ตัวลงไปก็เลยทำให้พลัดตกลงไปด้วย แต่โชคดีที่ไปติดอยู่กับดินที่แตกออกมา ผมเห็นไกด์อินโดฯ พุ่งไปช่วยทันที ไกด์ยื่นมือไปช่วยดึงน้องเขาขึ้นมา แล้วก็มีอีกคนเข้าไปช่วยกันดึง จนน้องเขาขึ้นมาได้ โชคดีมากที่จังหวะนั้นไม่มีแรงสั่นสะเทือนเข้ามาอีก ไม่อย่างนั้นทุกคนบริเวณนั้นน่าจะพลัดตกลงไปอีก

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          ภาพฝุ่นดินที่เกิดจากการพังทลายของภูเขา ฟุ้งกระจายปกคลุมทั่วทั้งภูเขา

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล


ฝากอะไรถึงคนที่จะไปปีนเขา ต้องเตรียมตัวอย่างไร และควรรับมืออย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะในต่างประเทศ ?

          เอก : เรื่องการเตรียมตัวก่อน Trekking มีคนเขียนบล็อกไว้เยอะมาก จึงอยากให้ผู้ที่สนใจอ่านและศึกษาให้ดี จะได้ทราบว่าจะต้องเดินทางอย่างไร เตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องนุ่งห่มอย่างไรบ้าง ผมเองก็อาศัยความรู้จากแหล่งข้อมูลเหล่านี้เหมือนกัน อยากให้ทุกคนอ่านให้ตกผลึก แล้วเมื่อไปถึงทุกอย่างจะง่ายขึ้นแน่นอน สำหรับผม หลังจากประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ผมคิดว่าสิ่งจำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะ Trekking ได้แก่

แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          1. ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เน้นสร้างความแข็งแรงให้ขาและระบบการหายใจ ควรเตรียมตัวก่อนสัก 2 เดือน
       
          2. ก่อนเดินต้องเตรียมเสบียงอาหารและน้ำให้เพียงพอ เน้นอาหารที่มีน้ำหนักไม่มาก แต่ให้พลังสูง

          3. หากประสบเหตุแผ่นดินไหว ก่อนอื่นต้องตั้งสติให้ดี ไม่แตกตื่นจนอาจจะทำให้เราตัดสินใจทำอะไรผิดพลาด เพราะเราจะไม่ได้เดือดร้อนคนเดียว เพื่อน ๆ หรือนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ อาจจะแย่ไปกับเราด้วย เมื่อตั้งสติได้แล้วก็คอยฟังและทำตามไกด์ เพราะไกด์เป็นคนในพื้นที่ ชำนาญเส้นทางมากกว่าเรา

          4. การทำประกันชีวิตสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งควรทำไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ

          5. เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายแล้ว อย่าลืมแจ้งชื่อไปยังสถานทูต จะมีลิงก์แบบฟอร์มให้เรากรอกผ่านอินเทอร์เน็ต ทางหน่วยงานรัฐที่ช่วยเหลือ จะได้ทราบจำนวนผู้ประสบภัย


แผ่นดินไหวอินโดนีเซีย ภูเขาไฟรินจานี
ภาพจาก นเรศ เดชผล

          "หากนึกย้อนกลับไป ในความอลหม่านก็ยังมีเรื่องที่ผมรู้สึกประทับใจ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายคนอยู่ในอาการหวาดผวา หลายคนหยุดอยู่ที่เดิมไม่กล้าที่จะก้าวไปไหน บางคนร้องไห้พูดวน ๆ ว่าจะออกไปจากที่นี่ บางคนก็นั่งซุกตรงซอกหิน แต่อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวทุกคนก็ไม่ทิ้งกันครับ ไม่ว่าเชื้อชาติภาษาจะแตกต่างกัน แต่ก็ช่วยเหลือกันและพยายามพูดให้กำลังใจกันตลอด" เอก กล่าวทิ้งท้าย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักท่องเที่ยวไทย เปิดใจ นาทีหนีตายระทึก เจาะลึกเหตุแผ่นดินไหวภูเขาไฟรินจานี อัปเดตล่าสุด 3 สิงหาคม 2561 เวลา 17:32:29 11,745 อ่าน
TOP
x close