ไอเดียเจ๋ง เปลี่ยนมลพิษทางอากาศเป็นน้ำหมึกคุณภาพสูง ใช้ประโยชน์ได้จริง

          เผยไอเดียเจ๋ง เปลี่ยนมลพิษทางอากาศเป็นน้ำหมึกคุณภาพสูง ใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งช่วยลดปัญหามลพิษ แถมยังลดปริมาณการใช้คาร์บอนในการผลิตทางอุตสาหกรรม 
air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          ในขณะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประเทศไทย กำลังเผชิญภาวะฝุ่นพิษ PM2.5 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ สร้างความน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ทางรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการเร่งหามาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว

          การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน และน้ำมันดิบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นบรรยากาศทั่วโลก ประเทศอินเดีย ก็เป็นอีกประเทศที่ติดอันดับประเทศที่ประสบภาวะมลพิษทางอากาศขั้นรุนแรง โดยเว็บไซต์เนชั่นแนลจีโอกราฟิก ได้เผยเรื่องราวน่าสนใจจากประเทศอินเดีย เกี่ยวกับไอเดียเจ๋ง ๆ ในการเปลี่ยนมลพิษทางอากาศเป็นน้ำหมึกคุณภาพสูงที่ใช้ประโยชน์ได้

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          โดยผู้ที่ริเริ่มแนวคิดดังกล่าวคือ อนิรุธ ชาร์มา (Anirudh Sharma) จุดเริ่มต้นแนวคิดนี้คือ ขณะที่เขาไปร่วมงานประชุมแห่งหนึ่งในอินเดีย เขาสังเกตว่ามีผงฝุ่นสีดำเปรอะเปื้อนอยู่บนเสื้อเชิ้ตสีขาวของเขา ซึ่งมาจากมลพิษทางอากาศที่อยู่ภายนอก เขาจึงมองมลพิษทางอากาศในแบบที่เข้าใจง่าย ๆ เหมือนกับว่ามันเป็นน้ำหมึกที่เลอะเสื้อ จึงเป็นที่มาของไอเดีย เปลี่ยนมลพิษทางอากาศให้กลายเป็นน้ำหมึก

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          หลังจากนั้น ชาร์มา ได้กลับไปที่ศูนย์วิจัย ทางเทคโนโลยี MIT Media Lab ในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐฯ ของสถาบันที่เขากำลังการศึกษา และเขาได้เริ่มต้นโปรเจกต์ เปลี่ยนมลพิษทางอากาศให้เป็นน้ำหมึก โดยเริ่มทดลองต้นแบบจากเขม่าควันดำที่ได้จากเปลวเทียน กระทั่งเขาจบการศึกษาระดับปริญญาโท เขาก็ได้กลับมายังกรุงเดลลี ประเทศอินเดีย ในปี 2559 เขาได้ตั้งทีมทำงานชื่อว่า Graviky Labs เพื่อดำเนินการแนวคิดนี้ต่อเพื่อให้เข้าใกล้ความจริงมากขึ้น โดยใช้ชื่อแบบตรงตัวว่า Air-Ink

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          ทางทีม Graviky Labs ได้พัฒนาอุปกรณ์ตัวกรองที่เหมาะกับท่อไอเสียของรถยนต์ หรือท่อปล่อยควันเสียต่าง ๆ จากนั้นเก็บคราบเขม่าที่ได้การเผาไหม้เชื้อเพลิงดีเซล นำมาผสมกับสารตัวทำละลาย จนกลายเป็นน้ำหมึกบรรจุขวด และใส่ในแท่งสำหรับใช้ประโยชน์ด้านการเขียน

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          นิคีล เคาชิก ผู้ร่วมก่อตั้ง ทีม Graviky Labs เผยว่า Air-Ink ถือเป็นประโยชน์ 2 เท่า เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหามลพิษ โดยการนำมารีเคิลเป็นน้ำหมึก แต่ยังช่วยลดปริมาณการใช้คาร์บอนในอุตสาหกรรม อาทิ การผลิตยาง น้ำหมึก สี และกระดาษคาร์บอน เป็นต้น

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          โดยภายหลังจากทีมนำผลงาน Air-Ink ไปโพสต์ลง Kickstarter เว็บไซต์สำหรับแสวงหาเงินทุนสำหรับโปรเจกต์ต่าง ๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ได้รับเงินบริจาคร่วมลงทุนขยายโปรเจกต์มากถึง 41,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 ล้านบาท) มากกว่าเงินที่พวกเขาใช้เริ่มต้นถึง 3 เท่า โดยพวกเขาได้นำน้ำหมึกที่ผลิตได้แจกจ่ายไปให้ศิลปินมากมายที่สร้างสรรค์ผลงานในที่สาธารณะทั้งในลอนดอน สิงคโปร์ และเมืองอื่น ๆ

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

          คริสโตเฟอร์ โฮ ศิลปินในฮ่องกง เผยว่า ตอนแรกที่เขาได้รับสีดังกล่าว คิดว่าเป็นแค่สีมีลูกเล่นเหมือนทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อได้ลองใช้จริงแล้ว มันดีมากและเข้มกว่าสีหมึกธรรมดา เมื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะก็สวยงาม

          ในการเก็บคราบเขม่า 45 นาที สามารถนำมาผลิตน้ำหมึกได้ประมาณ 30 มิลลิลิตร โดยในระยะเวลา 1 ปี ทาง Graviky Labs ได้ผลิตน้ำหมึกรีไซเคิลจากมลพิษได้ราว 1,000 ลิตร ซึ่งขณะนี้ทางทีมกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งหาโอกาสที่จะพัฒนาขยายการผลิตเป็นสินค้าอื่น ๆ เพิ่มเติม รวมไปถึงหมึกเครื่องพิมพ์พรินเตอร์ ซึ่งหากทำได้จะเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมาก 

          "พวกเราเชื่อว่า ในธรรมชาติไม่มีอะไรที่สูญเปล่า ทุกอย่างมีคุณค่า และเมื่อคิดได้แล้ว เราลงมือทำตามแนวคิดนั้นได้หรือไม่" นิคีล เคาชิก กล่าว 

air ink
ภาพจาก Instagram air.ink

https://www.instagram.com/p/Br3Eky8A3Pu/embed?taken-by=air.ink

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก graviky.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไอเดียเจ๋ง เปลี่ยนมลพิษทางอากาศเป็นน้ำหมึกคุณภาพสูง ใช้ประโยชน์ได้จริง อัปเดตล่าสุด 16 มกราคม 2562 เวลา 16:23:35 6,551 อ่าน
TOP
x close