วันศารทวิษุวัต 2565 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. นี้ กลางวันยาวเท่ากลางคืน

           สดร. เผย 23 กันยายน นี้ เป็นวัน "ศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ถือเป็นวันเปลี่ยนฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเปลี่ยนสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

วันศารทวิษุวัต

           สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า วันที่ 23 กันยายน 2565 เป็นวัน "ศารทวิษุวัต" ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้ช่วงเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน

           วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีเวลาเท่ากัน คำว่า "Equinox" มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า "วิษุวัต" แปลว่า "จุดราตรีเสมอภาค" นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และประเทศซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

วันศารทวิษุวัต 2565

           แต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏในตำแหน่งต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก และตกทางทิศตะวันตกพอดี

           สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

           เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันศารทวิษุวัต 2565 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. นี้ กลางวันยาวเท่ากลางคืน อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2565 เวลา 18:05:47 12,992 อ่าน
TOP
x close