ประเพณีตรุษจีนในประเทศไทย


ประเพณีตรุษจีนในประเทศไทย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          วันตรุษจีน นับได้ว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากวันหนึ่งของชาวจีน เนื่องจากวันตรุษจีนเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก โดยเทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ ซึ่งในปีนี้วันตรุษจีนตรงกับวันที่ 23 มกราคม 2555

          สำหรับปีใหม่จีนนี้ ก็เช่นเดียวกับปีใหม่ของตะวันตก เนื่องจากถือว่าเป็นการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเริ่มต้นสิ่งดี ๆ ในปีต่อไป ซึ่งก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีนทั่วไปที่จะมีการทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อปัดสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากบ้าน และต้อนรับสิ่งดี ๆ เข้ามา นอกจากนี้ วันตรุษจีนยังถือได้ว่าเป็นวันที่ชาวจีนได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษและสรรพสิ่ง รวมทั้งเป็นวันที่ทุกคนจะได้รวมญาติ ได้พบปะญาติพี่น้องมากมายอีกด้วย ดังนั้น วันตรุษจีนจึงถือเป็นวันหยุดที่สำคัญมาก และจะมีการเฉลิมฉลองของชาวจีนและชาวจีนโพ้นทะเลไปทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย เวียดนาม ทิเบต เนปาล ภูฐาน รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งมีชาวไทยเชื้อสายจีนอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน

          สำหรับในประเทศไทย จะถือปฏิบัติกันอยู่ 3 วันสำคัญ คือ วันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว

          1. วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี ซึ่งเป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (ตี่จู้เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการะบูชาของเจ้าบ้าน

          2. วันไหว้ คือ วันสิ้นปี โดยในวันไหว้จะมีการไหว้ 3 ครั้ง คือ

          ตอนเช้ามืด ไหว้ "ไป่เล่าเอี๊ย" เป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ โดยมีเครื่องไหว้ คือเนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่ม ตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) ก็ได้ และที่ขาดไม่ได้คือ เหล้า, น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง

          ตอนสาย จะไหว้ "ไป่แป๋บ้อ" คือ การไหว้บรรพบุรุษ หรือญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน โดยการไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยงวัน เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ จากนั้นญาติพี่น้องจะมาร่วมกันทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด โดยจะมีการแจกอั่งเปาหลังจากทานอาหารร่วมกันแล้ว

          ตอนบ่าย จะไหว้ "ไป่ฮ่อเฮียตี๋" เป็นการไหว้ผีพี่น้องและผีไร้ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัด เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อความเป็นสิริมงคลนั่นเอง

ตรุษจีน

          3. วันเที่ยว หรือ วันถือ ซึ่งก็คือวันขึ้นปีใหม่ หรือเรียกว่า วันชิวอิก วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ "ไป่เจีย" เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยการมอบส้มสีทองให้ 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย โดยเหตุที่ให้ส้มก็เพราะ คำว่า ส้ม นั้น ออกเสียงภาษาจีนแต้จิ๋วว่า "กิก" (?) ซึ่งไปพ้องกับคำว่า ความสุขหรือโชคลาภ (?) เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือ คือเป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น งดพูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

การไหว้เจ้าที่ และ ไหว้บรรพบุรุษ 

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้เจ้าที่ประกอบด้วย

          ของคาว ประกอบไปด้วย หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย หากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

          ขนมไหว้ ประกอบไปด้วย ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง

          ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องมียืนเป็นหลัก

          ผลไม้ ส้ม, กล้วยทั้งหวีเลือกเขียว ๆ , องุ่น, แอ๊ปเปิ้ล, ชมพู่, ลูกพลับ

          เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ จัด 5 ที่เช่นกัน

          กระดาษเงิน กระดาษทอง ชุดไหว้เจ้าที่

          จำนวนธูปไหว้ คนละ 5 ดอก

          หมายเหตุ จำนวนชนิดของขนมไหว้ นิยมให้สอดคล้องกับของคาว เช่น ไหว้ของคาว 3 อย่าง ขนม 3 อย่าง และผลไม้ 3 อย่าง

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้ตรุษจีน

ของไหว้บรรพบุรุษประกอบด้วย

          ของคาว ประกอบไปด้วย หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา แล้วแต่ว่าจะไหว้มากหรือน้อย หากไหว้ 3 อย่างเรียกว่า ชุดซาแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ส่วนการไหว้ 5 อย่างเรียกว่า ชุดโหงวแซ ซึ่งมี หมู เป็ด ไก่ ตับ ปลา

          กับข้าว นิยมจัด 8 อย่าง หรือ 10 อย่าง โดยให้มีของน้ำ 1 อย่าง

          ข้าว ข้าวสวยใส่ชามพร้อมตะเกียบ จำนวนชุดตามจำนวนบรรพบุรุษ นิยมนับถึงแค่รุ่นปู่ย่า

          ขนมไหว้ ประกอบไปด้วย ฮวกก้วยหรือขนมถ้วยฟู, คักท้อก้วยหรือขนมกุยช่าย (เป็นไส้ชนิดใดก็ได้), ขนมจันอับ, ซาลาเปา ซึ่งขนมไหว้นี้ต้องมีสีชมพูหรือมีแต้มจุดแดง

          ขนมไหว้พิเศษ ขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องมียืนเป็นหลัก

          ผลไม้ ส้ม, กล้วยทั้งหวีเลือกเขียว ๆ , องุ่น, แอ๊ปเปิ้ล, ชมพู่, ลูกพลับ

          เครื่องดื่ม น้ำชา 5 ที่ หากมีไหว้ของคาวจะไหว้เหล้าด้วยก็ได้ จัด 5 ที่เช่นกัน

          กระดาษเงิน กระดาษทอง ต้องมี "อ่วงแซจิ่ว" สำหรับใบเบิกทางให้บรรพบุรุษลง มารับของไหว้ ทองแท่งสำเร็จรูป แบงก์กงเต็ก ค้อซี ฯลฯ จะมากหรือน้อยแล้วแต่เรา

          จำนวนธูปไหว้ คนละ 3 ดอก



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, wattanasatitschool.com
 







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประเพณีตรุษจีนในประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 4 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 18:10:48 77,151 อ่าน
TOP
x close