ทีมนักธรณีวิทยา เผยความคืบหน้าการขุดพบซากฟอสซิลวาฬ ที่สมุทรสาคร พบชิ้นส่วนเพิ่มเป็นกะโหลก-ขากรรไกร คาดอายุราว 1,000-6,000 ปี
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ThaiWhales
ความคืบหน้ากรณีขุดพบกระดูกวาฬ ใต้ดินลึกประมาณ 6 เมตร ในพื้นที่ ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร แต่ยังไม่ทราบสายพันธุ์ ซึ่งชิ้นส่วนกระดูกที่พบเป็นส่วนกระดูกสันหลัง (Vertebrate) 5 ชิ้น มีขนาดใหญ่ ทำให้เกิดข้อสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน ตามที่มีรายงานไปแล้วนั้น
อ่านข่าว : ฮือฮา ! พบกระดูกวาฬ ฝังลึกใต้ดิน 6 เมตร ที่สมุทรสาคร ทั้งที่ห่างทะเล 20 กม.
ล่าสุด (25 พฤศจิกายน 2563) ไทยพีบีเอส รายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ThaiWhales เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมล่าสุดว่า ทีมนักธรณีวิทยา ขุดพบชิ้นส่วนที่สำคัญของซากฟอสซิลแล้ว เป็นกะโหลกและขากรรไกรบน (บางส่วน) หลังจากขุดค้นมาเกือบ 20 วัน ตอนนี้เจอชิ้นส่วนของวาฬเกือบครบทั้งตัว จึงเป็นการยืนยันเบื้องต้นว่าสายพันธุ์ของฟอสซิลวาฬตัวนี้คล้ายกับวาฬบรูด้า แต่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะอายุราว 1,000-6,000 ปี
โดยทีมนักธรณีวิทยา เผยว่า ค่อนข้างตื่นเต้นเพราะเป็นงานขุดค้นแรก ๆ เกี่ยวกับฟอสซิลวาฬ ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่สุด ซึ่งบางส่วนได้เคลื่อนย้ายนำมาเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี แล้ว เพื่อเตรียมวิจัยต่อเรื่องสายพันธุ์
ทั้งนี้ ซากฟอสซิลวาฬ ที่เจอบนแผ่นดินในพื้นที่ ต.อำแพง ตัวนี้ จะตอบโจทย์เรื่องธรณีสัณฐาน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและขอบทะเลโบราณ แสดงว่าวาฬตัวนี้อาศัยอยู่ในทะเลแถบนี้มาก่อน และจุดที่เจอเคยมีระดับน้ำทะเลท่วมถึง 12 กิโลเมตร ซึ่งจุดใกล้ ๆ กันนี้ยังมีการขุดเจอซากเรืออาหรับเปอร์เซียแถวนี้ ซึ่งข้อมูลที่พบในพื้นที่แถบนี้เมื่อนำมาประกอบกันจะทำให้รู้ได้ว่าแถวนี้มีสภาพแวดล้อมอย่างไร และเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน
วาฬตัวนี้ทีมนักธรณีเรียกชื่อว่า "อำแพง" เพราะอยู่ใน ต.อำแพง จุดนี้เคยเป็นทะเลมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นบก วาฬจะไขปริศนาหลักฐานสำคัญ ทำให้ต้องอาศัยทีมจาก ทช. และผู้เชี่ยวชาญหลายส่วนมาขุดค้น และศึกษาวิวัฒนาการของซากวาฬตัวนี้เทียบกับวาฬสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ยังมีชีวิตบนโลกนี้
สำหรับซากฟอสซิลวาฬ ที่ขุดพบนั้นประกอบด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น, กระดูกซี่โครง ข้างละ 5 ชิ้น, สะบักไหล่, แขน (ครีบ) ด้านซ้าย, กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ, กระดูกซี่โครง, กะโหลก และขากรรไกรสภาพสมบูรณ์
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยพีบีเอส