สรุปเหตุการณ์เรือ Ever Given ปิดคลองสุเอซ ความเสียหายสุดคณานับ กับ 7 วิธีช่วยโลกพ้นภัย


          สรุปเหตุการณ์เรือ Ever Given ของบริษัท Evergreen Line จากไต้หวัน ปิดคลองสุเอซ ทำการขนส่งเส้นทางหลักของโลกล้วนเป็นอัมพาต ความเสียหายสุดคณานับ พร้อมนำเสนอ 7 วิธีที่ทำให้โลกพ้นวิกฤตครั้งนี้

เรือปิดคลองสุเอซ

         เรียกได้ว่าข่าวที่ชาวโลกให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องเรือ Ever Given ของบริษัท Evergreen Line จากไต้หวัน เกิดอุบัติเหตุติดจุดตื้นในคลองสุเอซ ประเทศอียิปต์ จนเรือไม่สามารถแล่นต่อไปได้ แล้วขวางการเดินเรือทั้งหมด การขนส่งล้วนหยุดชะงัก ซึ่งในวันนี้ (27 มีนาคม 2564) กระปุกดอทคอม ขอนำข้อมูลจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก Seksit Pratoomsri อดีตกัปตันเรือ Container ที่ได้โพสต์ถึงเรื่องราวดังกล่าวพร้อมเสนอถึงวิธีการแก้ไขวิกฤตครั้งนี้ไว้ มาสรุปให้ได้ติดตามกันค่ะ

ที่มาของคลองสุเอซ และความสำคัญ

         คลองสุเอซ เป็นคลองที่มีความสำคัญระดับต้น ๆ ของโลก เพราะเป็นคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอเรเนียนและทะเลแดง ส่งผลให้กลายเป็นทางลัดในการขนส่งทางเรือระหว่างยุโรปและโลกทางตะวันออก ไม่ต้องแล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา สามารถประหยัดระยะเวลาการเดินทางได้ 9 วันทีเดียว

         สำหรับคลองสุเอซ ใช้เวลาสร้าง 10 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1859-1869 (พ.ศ. 2402-2412) มีความยาว 193 กิโลเมตร ความกว้าง 300-350 เมตร ความลึก 19.5-20.1 เมตร ใน 1 ปีมีเรือผ่านคลอง 2.5 หมื่นลำ นับปริมาณการขนส่งสินค้าสูงถึง 665 ล้านตัน หรือร้อยละ 14 จากปริมาณการค้าทั้งหมดของโลก โดยเฉพาะสินค้าอย่างน้ำมันของผู้ผลิตจากตะวันออกกลาง กล่าวโดยสรุปคือ เป็นคลองที่มีการขนส่งสินค้ามากที่สุดในโลกอีกด้วย

         ส่วนวิธีการเดินเรือของคลองสุเอซ จะเป็นการเดินเรือทางเดียว มี 3 ขบวน แบ่งเวลาเป็น การเดินทางขึ้นเหนือ 1 ขบวน 11 ชั่วโมง การเดินเรือลงใต้ 2 ขบวน ประมาณ 16 ชั่วโมง

เรือปิดคลองสุเอซ

สาเหตุที่เรือขวาง และผลกระทบสำคัญกับคนทั้งโลก

         ปัญหาของเรือ Ever Given หลัก ๆ คือ เป็นเรือขนาดใหญ่และหนัก โดยเรือนี้มีความกว้าง 59 เมตร และยาว 400 เมตร บรรทุกสินค้าหนัก 2.19 แสนตัน ส่วนจุดที่เกิดเหตุนั้น มีความกว้างเพียง 250 เมตร เรียกได้ว่า ระยะทางกราบเรือถึงฝั่ง จะกว้างข้างละ 90 เมตร ฉะนั้น เมื่อเรือเสียอาการ หัวเรือไปติดตื้น ด้วยความยาวเรือ 400 เมตร หัวท้ายเรือจึงสามารถปิดคลองอย่างสนิท การสัญจรทั้งหมดล้วนเป็นอัมพาตทันที

         ส่วนสาเหตุที่ทำให้เรือเสียอาการ ไม่มีการยืนยันชัดเจน แต่หลายกระแสระบุว่า เป็นเพราะลมแรง ทำให้เรือที่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์อย่างเต็มพิกัด ก็รับลมเต็ม ๆ จนเสียอาการนั่นเอง

         ในเรื่องของผลกระทบ เมื่อเกิดเหตุการณ์เรือขวางเช่นนี้ เรือที่แล่นตามหลังมา หากมีขนาดเล็กก็ยังสามารถกลับตัวอ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮป ใต้ทวีปแอฟริกาได้ แต่ถ้าเป็นเรือขนาดใหญ่ ก็คงต้องรอให้แก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จเพียงอย่างเดียว เพราะกลับตัวไม่ได้ สร้างผลกระทบในแบบที่ประเมินค่าไม่ได้เลย

เรือปิดคลองสุเอซ
ภาพจาก SATELLITE IMAGE ©2021 MAXAR TECHNOLOGIES / AFP

วิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีทั้งหมด 7 วิธี ดังนี้

         1. ขุดทรายที่หัวเรือออก ประเมินตัวเลขคือ 2 หมื่นคิวบิกเมตร และลึก 16 เมตร ถึงจะทำให้เรือหลุดได้

         2. ใช้เรือ Tug ช่วยดึงให้พ้นที่ตื้น แต่วิธีนี้ไม่น่าได้ผล เพราะเรือมีน้ำหนักเยอะ และเรือที่ใช้ดึงก็ไม่น่ามีแรงมากพอ

         3. ใช้เรือดูดทรายใต้ท้องเรือออก วิธีนี้น่าจะทำได้ แต่ดูแล้วต้องเอาทรายไปทิ้งไกลๆ มิเช่นนั้นอาจเจอเหตุการณ์ติดตื้นซ้ำสอง

         4. ปั๊มน้ำกับน้ำมันออกเพื่อลดน้ำหนัก แต่ก็ต้องคำนวณความเสถียรของเรือดี ๆ เพราะว่าน้ำกับน้ำมันอยู่ด้านล่าง ถ้าทำไม่ดีเรืออาจจะเสียสมดุลจนคว่ำได้เลย

         5. เอาสินค้าออกจากเรือเพื่อทำให้เรือเบาขึ้น แต่จากสภาพแวดล้อม น่าจะเอาขึ้นบกได้ยาก เพราะมีแต่ทราย ทางที่ดีที่สุดคือ ถ่ายสินค้าลงเรือลำอื่นแทน ซึ่งน่าจะใช้เวลาหลายวัน

         6. วิธีนี้เป็นวิธีที่เจ้าของโพสต์คิดขึ้นมาเอง ก็คือการใช้ tug ดึงและดันท้ายเรือ เพื่อให้เรือขนานกับอีกฝั่งด้านหนึ่ง เปิดการจราจรให้เรือเล็กแล่นผ่านไปได้ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาสถานการณ์ หรือไม่ก็เอาถุงลมใหญ่ ๆ ลอดใต้ท้องเรือแล้วปั๊มลมเข้าไป เพิ่มแรงพยุงให้เรือลอย แต่เราจะสามารถหาถุงลมนั้นได้ที่ไหน

         7. วิธีนี้เคยใช้ตอนเรือติดตื้นที่ท่าเรือสงขลา คือ บนเสด็จเตี่ยด้วยประทัด 500 ดอก ขอให้หลุดจากที่ตื้น ซึ่งวิธีนี้น่าขนลุก ได้ผลจริง แต่คนทางนั้นคงไม่รู้จักเสด็จเตี่ยของเราแน่นอน

เรือปิดคลองสุเอซ
ภาพจาก AFP PHOTO / HO / Suez Cana

คนที่อาจจะเสียหายที่สุดจากกรณีนี้

         ด้วยความที่มีผลกระทบกันเป็นวงกว้าง หลังจากนี้อาจจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจาก Evergreen Line แล้วถ้าคนฟ้องชนะขึ้นมา ประกันภัยทางทะเลในเรื่องของ P&I ที่ดูแลบุคคลที่ 3 อาจจะต้องจ่ายหนัก เพราะน่าจะเกินความรับผิดชอบของเจ้าของเรือในส่วน Ower Liability แน่ ๆ

         ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของเหตุการณ์เรือปิดคลองสุเอซ ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านไปหลายวันแล้ว ยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเคลื่อนย้ายเรือออกมาได้ แต่ยิ่งผ่านไปนานวัน ความเสียหายยิ่งมากขึ้นแน่นอน

**หมายเหตุ อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลา 19.49 น. วันที่ 27 มีนาคม 2564

ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Seksit Pratoomsri

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สรุปเหตุการณ์เรือ Ever Given ปิดคลองสุเอซ ความเสียหายสุดคณานับ กับ 7 วิธีช่วยโลกพ้นภัย อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2564 เวลา 13:49:01 38,954 อ่าน
TOP
x close