ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ รวมถึงเรือนจำทหาร เนื่องในวันวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564
วันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศ พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เนื่องในวันวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564
เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ระบุว่า ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ มาตรา 4 ระบุว่า ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ ใช้บังคับติดต่อกันไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อย หรือลดโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
มาตรา 14 ภายใต้บังคับมาตรา 10, 12 และ 13 นักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปีในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นพิเศษอีก 1 ปี
มาตรา 15 นักโทษเด็ดขาดซึ่งต้องโทษประหารชีวิต ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษลงเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต
มาตรา 16 นักโทษเด็ดขาดซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวและนักโทษเด็ดขาดซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษ และจะพ้นโทษในคราวเดียวกันตามพระราชกฤษฎีกานี้ จะต้องผ่านหรือเคยผ่านการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตามที่กรมราชทัณฑ์หรือกระทรวงกลาโหมกำหนด เว้นแต่โดยสภาพร่างกายหรือจิตใจไม่เป็นปกติ จนไม่อาจรับการอบรมได้
มาตรา 19 ในส่วนที่เกี่ยวกับนักโทษตามกฎหมายว่าด้วยเรือนจำทหาร ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร มีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษและส่งรายชื่อต่อศาลทหารกรุงเทพหรือศาลมณฑลทหาร แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ เพื่อความสะดวกแก่ศาลทหารดังกล่าวพิจารณาออกหมายสั่งปล่อย หรือลดโทษ หรือออกคำสั่งยกเลิกการทางานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แล้วแต่กรณี
สำหรับจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังในปัจุบันของกรมราชทัณฑ์ (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 307,007 ราย แยกเป็นผู้ต้องขังชายจำนวน 270,599 ราย และผู้ต้องขังหญิง 36,408 ราย )
ทั้งนี้รายละเอียดทั้งหมดสามารถอ่านได้ ที่นี่