แต่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงดนตรีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังก็ยังคงย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า เวทีประกวด ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะการก้าวสู่การเป็นศิลปินต้องอาศัยประสบการณ์การฟังให้มาก เล่นให้เยอะ ฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้สม่ำเสมอ หรือการได้ออกมาลงสนามจริงบนพื้นที่การประกวดนั่นเอง ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังชื่นชอบการประกวดดนตรี คิง เพาเวอร์ ไทย เพาเวอร์ พลังคนไทย จึงจับมือกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีประกวดดนตรีสุดยิ่งใหญ่แห่งปี “THE POWER BAND” เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยม ผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 ผ่านการประกวดในรูปแบบ Live Streaming ในยุค New Normal COVID-19
การประกวดในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากมิวสิกกูรูแถวหน้าของเมืองไทยจากหลากหลายสาขาอาชีพ ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสิน นำโดย นักปั้นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records รวมถึงโปรดิวเซอร์มือทอง พล-คชภัค ผลธนโชติ ผู้บริหารค่ายเพลง Boxx Music อีกทั้งประสบการณ์ชั้นครูของ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล, โอ-ทฤษฎี ศรีม่วง นักแต่งเพลง โปรดิวเซอร์ มิวสิกไดเรกเตอร์ แห่งวง Jetset’er และโปรดิวเซอร์นักแต่งเพลงมือฉมัง ฟองเบียร์-ปฏิเวธ อุทัยเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท มิวซิกมูฟ จำกัด มาร่วมค้นหาสุดยอดวงดนตรีหน้าใหม่ในครั้งนี้
นักปั้นศิลปินแถวหน้าของเมืองไทย นิค-วิเชียร ฤกษ์ไพศาล ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Genie Records กล่าวว่า “ทุกการสร้างสรรค์งานดนตรีเริ่มจากการเรียนรู้จากต้นแบบ ต้องหมั่นฝึกฝน แกะเพลงให้เยอะ ๆ ใช้ระยะเวลา 10 ปี เป็นอย่างต่ำ กว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง อาทิ BodySlam, Labanoon, Clash และ KALA ล้วนผ่านเวทีประกวดมาแล้วทั้งสิ้น แต่พื้นที่แสดงความสามารถของเด็กไทยทางดนตรีในรูปแบบเวทีการประกวดในปัจจุบันกลับน้อยลงทุกวัน ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ ของคนในแวดวงดนตรีที่เวที THE POWER BAND จะมาสร้างพลังและสานต่อความฝันพร้อมสร้างความคึกคักให้วงการดนตรีอีกครั้ง เพราะเป็นเวทีประกวดที่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง เน้นวงดนตรีที่มีการสร้างสรรค์และความสามารถเชิงทฤษฎีที่ถูกต้อง”
นอกจากนี้ประสบการณ์ชั้นครูของ เช่-อัคราวิชญ์ พิริโยดม นักดนตรีวง The Richman Toy และหัวหน้าสาขาวิชาดนตรีสมัยนิยม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า “ในปัจจุบันเวทีการประกวดของต่างประเทศที่น่าสนใจอย่างการประกวดยูโรวิชั่น ซอง คอนเทสต์ ประเทศอิตาลี ที่มีมาอย่างยาวนาน มีศิลปินระดับโลกมาร่วมเล่นคอนเสิร์ตประกอบกับความร่วมสมัยของโปรดักชั่นที่ตระการตาด้วยแสง สี แสง ได้อย่างลงตัว ซึ่งตอนนี้เป็นยุคสมัยที่มีความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้และสามารถปล่อยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียได้อย่างง่ายดาย ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในปัจจุบันทำให้นักดนตรีสามารถทำเพลงเองได้จากที่บ้าน หรือเรียกว่า Home Studio ซึ่งต้องยอมรับว่าในปัจจุบันวงการดนตรีของไทย คนรุ่นใหม่มีฝีไม้ลายมือที่ฉกาจใกล้เคียงกับต่างประเทศมาก เพราะเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถหาไอเดียและรู้เทรนด์เพลงทั่วโลกได้ง่ายแค่เพียงปลายนิ้ว และนำเทคนิคมาปรับใช้ เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่อุตสาหกรรมเพลงไทยกำลังพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งในประเทศไทย เวทีการประกวด THE POWER BAND เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ส่งเสริม พัฒนาและสนับสนุน เพื่อเป็นบันไดให้เยาวชนและประชาชนคนไทยพร้อมสำหรับการก้าวสู่ระดับนานาชาติได้อย่างเต็มภาคภูมิ”
ใครจะเป็นสุดยอดคนดนตรีคนต่อไป ! มารับชมพร้อม ๆ กัน ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ
THE POWER BAND เวทีประกวดวงดนตรีสากลสมัยนิยม ผสมเครื่องเป่า ประจำปี 2564 และมินิคอนเสิร์ตสุดพิเศษ จาก อิ้งค์-วรันธร เปานิล และ Season Five ชมถ่ายทอดสดผ่าน Facebook : King Power Thai Power พลังคนไทย และ Facebook : Thailand International Wind Symphony Competition วันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป