หยุดเข้าใจผิด.. จิ๋วระทวย - จุดอิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่ศัพท์ราชบัณฑิตฯ ละมุนพรรณ ก็ไม่ใช่ !!


          ราชบัณฑิตสถาน แจงคำศัพท์คอมพิวเตอร์ จิ๋วระทวย ไม่ได้แปลจากราชบัณฑิต ยันทุกคำต้องไม่ใช้คำกำกวม หรือหยาบคาย ชี้คำว่าละมุนพรรณ และกระด้างพรรณ ก็ไม่ใช่ พร้อมเผยคำศัพท์ใหม่ที่เพิ่งบัญญัติล่าสุด


          เมื่อวานนี้ (11 ธันวาคม 2564) เพจเฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นางกาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต และนายกสมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงคำแปลศัพท์คอมพิวเตอร์ หลังพบว่าในอินเตอร์เน็ตมีการอ้างคำศัพท์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นคำที่บัญญัติจากราชบัณฑิตสถาน ซึ่งไม่เป็นความจริง และสร้างความเข้าใจผิดแก่คนจำนวนมาก เพราะคำแปลจากราชบัณฑิตสถาน จะเน้นว่าต้องไม่ใช้ภาษากำกวม หยาบคาย หรือสองแง่สองง่าม

โดยยืนยันว่าคำศัพท์เหล่านี้ ไม่ใช่คำบัญญัติจากราชบัณฑิตสถาน อาทิ…


          - ละมุนพรรณ ที่หมายถึง ซอฟต์แวร์ (Software)

          - กระด้างพรรณ
ที่หมายถึง ฮาร์ดแวร์ (Hardware)

          - จิ๋วระทวย
ที่แปลมาจากคำว่า ไมโครซอฟต์ (Microsoft) โดย Micro แปลว่า เล็ก จิ๋ว และ soft แปลว่า อ่อนนุ่ม

          - จุดอิทธิฤทธิ์
ที่แปลมาจากคำว่า พาวเวอร์พอยท์ (Power Point)

          - ปฐมพิศ
แปลจาก วิชวลเบสิก (Visual Basic)

          - พหุภาระ
ที่แปลมาจากคำว่า มัลติทาสก์กิ้ง (Multitasking)

          - แท่งภาระ
ที่แปลมาจากคำว่า ทาสก์บาร์ (Taskbar)

          - ยืนเอกา
ที่แปลมาจากคำว่า สแตนอโลน (Standalone)


          ทั้งนี้ ตามหลักการจะมีบางคำศัพท์ที่ต้องบัญญัติขึ้นใหม่ แต่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเรียกทับศัพท์ จึงอยากเตือนผู้ที่โพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าวให้เลิกทำ ซึ่งตนจะเสนอให้ราชบัณฑิตออกประกาศทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้ภาษาไทยของประชาชน

          สำหรับคำศัพท์ล่าสุดที่คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา บัญญัติคือ คำว่า metaverse จักรวาลนฤมิต หรือ เมตาเวิร์ส ซึ่งมาจากคำว่า meta กับคำว่า universe เป็นการอธิบายการเรียกสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้น ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการนำเอาบางส่วนของสื่อสังคมเกมออนไลน์ ภาพที่เกิดจากความเป็นจริงเสมือน (virtual reality-VR) ภาพที่เกิดจากความเป็นจริงเสริม (augmented reality-AR) มาบรรจบกับโลกแห่งความเป็นจริงแบบไร้รอยต่อ ด้วยอุปกรณ์ที่กระตุ้นประสาทสัมผัสให้มองเห็นเป็นภาพสามมิติ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ได้สัมผัส ตอบโต้ และรับรู้ได้ ผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างความรู้สึกของการมีอยู่เสมือนจริง จักรวาลนฤมิตจึงเป็นการนำโลกแห่งความเป็นจริงมาใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน ผสานความเป็นจริงเสริม ผ่านอินเตอร์เน็ต ที่กำลังจะกลายเป็นการดำเนินชีวิตใหม่ของมนุษย์ในอนาคต



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หยุดเข้าใจผิด.. จิ๋วระทวย - จุดอิทธิฤทธิ์ ไม่ใช่ศัพท์ราชบัณฑิตฯ ละมุนพรรณ ก็ไม่ใช่ !! โพสต์เมื่อ 12 ธันวาคม 2564 เวลา 10:06:17 20,033 อ่าน
TOP
x close