ไขกฎหมาย PDPA ถ่ายรูปติดหน้าคนอื่น ต้องเบลอก่อนลงไหม หรือยูทูบเบอร์จะตกงาน ?


            เปิดความหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ยันการเซลฟี่ติดคนอื่นในร้านอาหาร ยังทำได้ ชี้ดูที่เจตนา รวมถึงการรีวิวต่าง ๆ ยัน 1 ปีแรกยังไม่ถึงขั้นลงโทษ จะเน้นไกล่เกลี่ยก่อน

กฎหมาย PDPA

            เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่จะบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ว่าการกระทำใดจะเข้าข่ายความผิด สามารถถ่ายรูปติดหน้าคนอื่นได้ไหม หรือนำไปโพสต์ลงโซเชียลเหมือนก่อน ๆ ได้หรือไม่

            เมื่อวานนี้ (30 พฤษภาคม 2565) รายการข่าวค่ำ Thai PBS รายงานบทสัมภาษณ์ นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษา กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว เปิดเผยถึงเรื่องนี้ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การปราบปราม แต่เพื่อต้องการเอาผิดคนที่ละเมิดเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปทำให้เกิดความเสียหาย

กฎหมาย PDPA

การเซลฟี่ติดคนอื่น - รีวิวสถานที่ - ติดวงจรปิด - แอบถ่ายพนักงานเพื่อร้องเรียน ทำได้หรือไม่ ?

 


            - การถ่ายรูปเซลฟี่ เช่น ถ่ายที่ร้านอาหารแล้วติดใบหน้าคนอื่นโดยไม่ตั้งใจ สามารถทำได้ และสามารถโพสต์ลงโซเชียลได้เช่นกัน เพราะเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นการถ่ายเพื่อเน้นตัวเองและเพื่อนเป็นหลัก เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย แต่คนอื่นที่ติดมาในรูปก็มีสิทธิ์ขอให้ลบรูปได้เช่นกัน

            วิธีป้องกัน คือ ก่อนลงโซเชียลควรเบลอบุคคลอื่น หรือหาสติ๊กเกอร์มาปิดบังใบหน้าบุคคลอื่น เพื่อป้องกันการถูกทักท้วงให้ลบรูปภายหลังได้

            - ยูทูบเบอร์ หรือการรีวิวที่พัก และร้านอาหาร ก็สามารถถ่ายคลิปหรือรูปได้เหมือนเดิม ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นมีการถ่ายเจาะหรือซูมไปที่บุคคลอื่นในลักษณะที่มีเจตนาไม่ดีอย่างชัดเจน เช่น ซูมเห็นหน้าบุคคลอื่น หรือซูมเข้าไปที่ส่วนเว้าส่วนโค้งของร่างกาย รวมถึงถ่ายติดแล้วเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ แบบนี้ถึงจะมีความผิด

กฎหมาย PDPA

            - กล้องวงจรปิดติดในบ้าน, หน้าบ้าน และกล้องหน้ารถ สามารถติดตั้งได้โดยไม่ต้องมีการติดป้ายบอก เพราะถือเป็นการติดตั้งเพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัยของเจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัย ยกเว้นมีการซูมให้เห็นคนอื่นแล้วนำไปใช้ประโยชน์อื่น แบบนั้นถึงจะมีความผิด

            - กล้องวงจรปิดตามอาคาร สำนักงาน ก็สามารถติดตั้งได้เช่นกัน แต่จากนี้จะต้องติดป้ายแจ้งเตือนว่าบริเวณนี้มีกล้องวรจรปิด เพราะถือว่าเป็นสถานที่สาธารณะ ที่คนที่เป็นเจ้าของข้อมูล หรือคนที่มาใช้อาคารมีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าตัวเองกำลังถูกถ่ายวิดีโอหรือภาพอยู่

กฎหมาย PDPA

            - การถ่ายรูปเจ้าหน้าที่ หรือบุคคล เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี สามารถทำได้ หากมีความสงสัยในตัวบุคคลนั้น ๆ เพราะถือว่าเป็นการถ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะ

            - การถ่ายรูปหรือคลิปพนักงาน เพื่อหวังจะเอาไปใช้ร้องเรียนต่าง ๆ ก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องแจ้งให้บุคคลนั้น ๆ รับทราบก่อน เพื่อป้องกันการถ่ายลักษณะเอาไปใช้คุกคาม หรือข่มขู่


ยืนยันช่วงปีแรกจะเน้นไกล่เกลี่ย ไม่ถึงขั้นดำเนินคดี


            ทั้งนี้ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่า หน่วยงานหรืออาคารต่าง ๆ ควรยกเลิกการแลกบัตรประจำตัวประชาชน เพราะในบัตรมีข้อมูลส่วนตัว การแจ้งชื่อ - นามสกุล เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เลขบัตรประชาชน หรือที่อยู่ เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล ซึ่งกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว นี้ คาดว่าจะเป็นการแก้ปัญหาเรื่องของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้

            อย่างไรก็ตาม ในปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนตัว จะยึดหลักการไกล่เกลี่ยก่อน ส่วนการดำเนินการหรือการลงโทษจะเป็นมาตรการขั้นสุดท้าย

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการข่าวค่ำ Thai PBS



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขกฎหมาย PDPA ถ่ายรูปติดหน้าคนอื่น ต้องเบลอก่อนลงไหม หรือยูทูบเบอร์จะตกงาน ? อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2565 เวลา 17:30:46 22,972 อ่าน
TOP
x close