ก๊าซธรรมชาติ กับการก้าวสู่ ASEAN Regional LNG Hub

พาย้อนไปดูวิวัฒนาการพลังงานของประเทศไทย จากผู้นำเข้าน้ำมันสู่การพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ พลังงานสะอาดที่ใช้กันทั่วโลก พร้อมก้าวสู่การเป็น ASEAN Regional LNG Hub

ASEAN Regional LNG Hub

“พลังงาน” เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย อีกทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญทุกภาคการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงนำมาใช้ในบ้านเรือนทั่วไป ซึ่งนอกจาก “น้ำมัน” ที่หลายคนคุ้นเคยกันดีแล้ว ตอนนี้ยังมี “ก๊าซธรรมชาติ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจ แถมยังสอดคล้องกับเทรนด์พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย ดังนั้น ในวันนี้เราจึงอยากจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเรื่องของก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมอัปเดตสถานะของประเทศไทยที่กำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการค้าก๊าซธรรมชาติแห่งภูมิภาคอาเซียน

วิวัฒนาการพลังงานของไทยมาไกลแค่ไหน ?

ASEAN Regional LNG Hub

ช่วงปี พ.ศ. 2431 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยได้นำเข้าน้ำมันก๊าดครั้งแรก เพื่อใช้จุดตะเกียง ก่อนจะนำไปสู่การนำเข้าน้ำมันประเภทต่าง ๆ รวมทั้งถ่านหิน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ ผลิตไฟฟ้า ก่อนขยายไปสู่การใช้ในบ้านเรือน 

กระทั่งในปี พ.ศ. 2524 หลังจากการขุดค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณอ่าวไทย กับที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โดยในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ราคาพลังงานในตลาดโลกเริ่มมีความผันผวนสูง เพื่อเป็นการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ไทยจึงได้นำก๊าซธรรมชาติที่ขุดค้นพบ มาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ถ่านหินกับน้ำมันเตา ที่ต้องนำเข้าและใช้ต้นทุนสูง 

ในส่วนของ NGV (Natural Gas for Vehicles) หรือก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ มีการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2403 โดย ฌ็อง-โฌแซ็ฟ เอเตียน เลอนัวร์ (Jean-Joseph-Étienne Lenoir) วิศวกรชาวเบลเยียม-ฝรั่งเศส แม้ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2516 หลายประเทศทั่วโลกก็เริ่มให้ความสนใจพร้อมกับหันมาใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้แทนน้ำมันกันมากขึ้น ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป จนมาถึงเอเชีย รวมถึงในประเทศไทยที่ใช้กันมานานกว่า 80 ปี 

ก๊าซธรรมชาติ พลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ASEAN Regional LNG Hub

ก๊าซธรรมชาติ นอกจากจะมีราคาถูกแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยเมื่อเทียบกับพลังงานชนิดอื่น ๆ อย่าง น้ำมัน จึงทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์ ไม่เกิดเขม่าหรือควันดำ จึงจัดเป็นพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะก่อนที่จะนำไปใช้งานก็ต้องผ่านกระบวนการแยกก๊าซรวมถึงสิ่งปลอมปน และนำไปจัดเก็บในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งทำให้มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ดังนี้ 

  • LNG (Liquefied Natural Gas) : ก๊าซธรรมชาติเหลว ที่มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก 80-90% และถูกนำไปแปรสภาพจากก๊าซเป็นของเหลว โดยการลดอุณหภูมิให้ต่ำกว่า -160 °C เพื่อให้สามารถขนส่งทางเรือได้สะดวกขึ้น
  • NGV (Natural Gas for Vehicles) : ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ มีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลัก และเป็นก๊าซที่ถูกอัดจนมีความดัน 3,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว พร้อมจัดเก็บไว้ในถังที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษ 
  • LPG (Liquefied Petroleum Gas) : ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม ผลิตจากโรงกลั่นน้ำมัน เป็นของเหลว ไร้สี ไร้กลิ่น โดยนำไปบรรจุไว้ในถังภายใต้ความดันสูง นิยมใช้ทั้งในบ้าน ร้านค้า รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรม
ก๊าซธรรมชาติและโครงสร้างราคา มาจากไหน ?
ASEAN Regional LNG Hub

เนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น นอกจากจะผลิตเองในประเทศจากแหล่งต่าง ๆ อาทิ แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย กับพื้นที่พัฒนาร่วมระหว่างไทย-มาเลเซียแล้ว จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศควบคู่ไปด้วย เช่น เมียนมากับตะวันออกกลาง เพื่อให้เพียงพอต่อการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง และในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งในตอนนี้ กลุ่ม ปตท. เอง ก็มีขยายพื้นที่สำรวจออกไป เพื่อจัดหาเชื้อเพลิงให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศ

ส่วนที่เห็นว่า ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนสูง เช่น NGV ก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน หลัก ๆ ก็มาจากราคาเนื้อก๊าซที่เป็นต้นทุนหลัก นอกจากนี้ก็ยังมีค่าผ่านท่อส่งก๊าซ ค่าบริการจัดหา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสถานีบริการต่าง ๆ และภาษีอีก 7% นั่นเอง

ความคืบหน้าการก้าวสู่ศูนย์กลาง
การค้าก๊าซธรรมชาติแห่งอาเซียนของไทย

ASEAN Regional LNG Hub

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน “ก๊าซธรรมชาติ” ก็ยังคงเป็นพลังงานที่มีความสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้ตั้งเป้าหมายในการนำเข้า LNG 9 ล้านตัน ในปี พ.ศ. 2573 พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย (ASEAN Regional LNG Hub) ซึ่งนำโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาและนำเข้ารายใหญ่ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อก่อสร้างคลังจัดเก็บและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ประกอบด้วย

  • LNG Receiving Terminal 1 มาบตาพุด จ.ระยอง
  • LNG Receiving Terminal 2 หนองแฟบ จ.ระยอง

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเพิ่มขีดความสามารถด้วยการขยายการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งดำเนินการไปแล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการ LNG Reloading Cargo ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออก LNG ทางรถยนต์ไปประเทศกัมพูชา และการส่งออก LNG ทางเรือไปยังประเทศจีนในรูปแบบ ISO Tank Container 

มาถึงตรงนี้เราจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีการนำเข้าน้ำมัน สู่การค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและสามารถผลิตใช้เองได้ แถมยังเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า การขนส่ง รวมถึงในบ้านเรือน แถมยังมีการต่อยอดในหลายโครงการเพื่อก้าวสู่ศูนย์กลางการค้าก๊าซธรรมชาติแห่งภูมิภาคเอเชีย (ASEAN Regional LNG Hub) อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ, ienergyguru.com, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน (1) (2) (3), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (1) (2) และ เฟซบุ๊ก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (1) (2) (3)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ก๊าซธรรมชาติ กับการก้าวสู่ ASEAN Regional LNG Hub อัปเดตล่าสุด 25 กันยายน 2565 เวลา 22:38:30 2,331 อ่าน
TOP