กรมอุตุฯ พยากรณ์ดัชนีความร้อนในไทย เข้าขั้นอันตราย ! เสี่ยงเกิดฮีตสโตรก

 
          กรมอุตุนิยมวิทยา เผยข้อมูลพยากรณ์ดัชนีความร้อนในไทย เริ่มต้นเดือนเมษายน เผยพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าขั้นอันตราย หากสัมผัสความร้อนนาน เสี่ยงเกิดภาวะฮีตสโตรก

อากาศร้อน

          วันที่ 1 เมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยแพร่ข้อมูล พยากรณ์ดัชนีความร้อน วันที่ 1-3 เมษายน 2566 ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่าพื้นที่ประเทศไทยส่วนใหญ่ มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุดเป็นสีเหลือง ไปจนถึงสีส้มและสีส้มเข้ม ซึ่งเป็นค่าดัชนีความร้อนระดับเตือนภัย ถึงระดับอันตราย

          โดยค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) คือ อุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น ว่าอากาศร้อนเป็นอย่างไร หรืออุณหภูมิที่ปรากฏในขณะนั้นเป็นเช่นไร โดยค่าดัชนีความร้อนนั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากความร้อนได้

          ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อนระดับเตือนภัย มีดัชนีความร้อนที่ 32-41 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพคือ เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน


          ส่วนค่าดัชนีความร้อนระดับอันตราย (41-54 องศาเซลเซียส) มีผลกระทบต่อสุขภาพคือ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

          อนึ่งก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกับกรมอนามัย ได้ติดตาม เฝ้าระวัง พยากรณ์อุณหภูมิและดัชนีความร้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัด คาดว่าในเดือนเมษายนปีนี้มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเซียส และดัชนีความร้อนหรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้จะสูงอยู่ในเกณฑ์อันตรายถึงอันตรายมาก แนะกลุ่มเสี่ยงป้องกันผลกระทบจากฮีตสโตรก ไม่ควรอยู่กลางแจ้งต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. และควรจิบน้ำบ่อย ๆ โดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำซึ่งจะสามารถป้องกันภาวะขาดน้ำได้

อากาศร้อน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมอุตุฯ พยากรณ์ดัชนีความร้อนในไทย เข้าขั้นอันตราย ! เสี่ยงเกิดฮีตสโตรก อัปเดตล่าสุด 2 เมษายน 2566 เวลา 22:02:59 9,368 อ่าน
TOP
x close