ดราม่าตำราเรียนวิชาภาษาไทย โรแมนติกความจน ไข่ครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลาก็มีความสุขน เจอหมอซัดเจ็บ ตำรา ไม่ใช่นิยาย แบบนี้เรียกขาดแคลนไม่ใช่พอเพียง ยังไงต้องยึดความจริง
จากกรณีที่ เฟซบุ๊ก มาดามแคชเมียร์ เอาหนังสือเรียนภาษาไทยชั้น ป.5 ที่เขียนเล่าเรื่องราวตัวละครข้าวปุ้นกับใยบัว ที่มีฐานะยากจน ใยบัวไปกินอาหารที่บ้านของข้าวปุ้น และได้ลอง "ไข่ต้มครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลา" โดยในตอนแรก ตัวละครใยบัวไม่พอใจที่มีข้าวกินแค่นี้ แต่ตัวละครข้าวปุ้นแนะนำให้ช้อนบี้ไข่ แล้วคลุกข้าว แล้วเหยาะน้ำปลา จนใยบัวรู้สึกถึงความอร่อย จากนั้นใยบัวก็ขอเติมข้าว และราดข้าวด้วยน้ำจากผัดผักบุ้ง ตบท้ายด้วยการกินวุ้นกะทิ
ทั้งนี้ ในหนังสือได้ให้ข้อคิดว่า แม้บ้านของข้าวปุ้นจะไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ แต่ ความสุขอยู่ที่ใจ ไม่ใช่วัตถุ คนอ่านจะไม่รู้สึกสุขด้วย เมื่อคิดดี ทำดี ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม คนอื่นก็สุขตาม
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ได้ก่อให้เกิดความคิดเห็นที่หลากหลายตามมา มองว่าการสอนเด็กแบบนี้ คือการเอาความจนมาทำเป็นความโรแมนติก อีกทั้งในชีวิตจริง โปรตีนจากไข่ต้มหนึ่งซีก มีเพียง 1.75 กรัม ส่วนข้าวคลุกน้ำปลาก็มีโซเดียมหนัก ๆ ซึ่งถือว่าขัดต่อการเติบโตของเด็กวัย 7-14 ปี ที่ต้องการโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ผิดหลักสุขอนามัย และเป็นการปลูกฝังแนวคิดแบบผิด ๆ ไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
ครูชี้ ถ้าคนยังอดอยาก อย่าไปยัดเยียดเรื่องความพอเพียงให้ จนแยกไม่ออก พอเพียง หรือ ไม่พอกิน
ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ได้ออกมาเผยโพสต์หนึ่งของครูว่า เวลาที่ครูเจอแบบนี้ก็อึ้งเหมือนกัน แบบนี้ก็โรแมนติกเกิน จนแยกไม่ออกระหว่างพอเพียงกับไม่พอกิน
แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ความสุขนั้นอยู่ที่ใจ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกเรื่อง ในเรื่องคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ใครก็อยากมีอาหารดี ๆ กิน มีเครื่องอำนวยความสะดวก มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนดิ้นรนจะเข้าถึง
"คนที่สามารถบอกว่าพอเพียงได้เต็มปาก คือคนพร้อมและไม่ขาด แต่ถ้าเขายังอดอยาก อย่ายัดเยียดคำว่าพอเพียงแล้วชี้หน้าบอกว่า เป็นเพราะไม่รู้จักพอ ไม่รู้การบริหารจัดการ ไม่ขยันขี้เกียจทำงาน บลา ๆ คือถ้าไม่อยู่ในจุดที่เขาอยู่ อย่าตัดสินแทนคนอื่น"
หมอฟาด ตำราเรียนต้องอิงความจริง ถ้าไม่ใช่ความจริง มันก็คือนิยาย
ล่าสุด วันที่ 22 เมษายน 2566 เฟซบุ๊ก Jiraruj Praise ของ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ มีการโพสต์ถึงดราม่าดังกล่าวว่า ไข่ครึ่งซีกกับข้าวคลุกน้ำปลาอร่อยที่สุดในโลก โภชนาการของเด็กในวัยเรียน เราทำแบบนี้ได้จริงหรือ ?
สิ่งสำคัญที่สุดในอาหารเด็กที่ควรได้ ไม่ใช่เรื่องพลังงานหรืออิ่มท้องอย่างเดียว แต่ต้องมีโปรตีนที่ส่งผลต่อการเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ ระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ยังมีเรื่องของวิตามิน แร่ธาตุสำคัญที่ไม่ควรขาดในเด็กอีกด้วย ฉะนั้น อาหารจึงไม่ใช่เรื่องอิ่มท้องหรืออร่อยปาก
อาหารที่เหมาะสม จะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโต พัฒนาการทางสมอง ระบบภูมิคุ้มกัน ถ้าวิสัยทัศน์มีเพียงอิ่มท้องก็สุขใจ แต่ไม่มองถึงสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็ก นี่คือ เรื่องที่น่ากังวลมาก ๆ ของอนาคตของชาติ ภายใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจากคนบางคนที่ยังล้าหลัง
หลังจากนั้น นพ.จิรรุจน์ โพสต์เพิ่มเติมอีกว่า หนังสือแบบเรียนก็คือแบบเรียน ถือเป็นเอกสารวิชาการชนิดหนึ่ง ถ้าการเขียนไม่ได้ตั้งบนพื้นฐานความถูกต้อง ความเหมาะสมที่ควรจะเป็น แต่ไปเน้นความโรแมนติก ก็ควรเรียกสิ่งนั้นว่า "นิยาย" มากกว่า