x close

SAF คืออะไร ? พลังงานทางเลือกใหม่ที่อยากให้ทุกคนรู้จัก

          “นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน” (Sustainable Aviation Fuel: SAF) พลังงานหมุนเวียนทางเลือกใหม่ หนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้สายการบินลดการปล่อยคาร์บอน พาประเทศไทยเข้าใกล้ Net Zero ได้ในไม่ช้า
SAF น้ำมันอากาศยาน

          เวลาเดินทางไปที่ไกล ๆ หลายคนก็อยากจะย่นระยะเวลาด้วยการนั่งเครื่องบินโดยสารกันใช่ไหมล่ะคะ ? แล้วรู้หรือไม่ว่า จากความนิยมที่มากขึ้นเรื่อย ๆ นี้ รวมไปถึงการขนส่งทางอากาศรูปแบบต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจสายการบินมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศสูงขึ้นตามไปด้วย แต่จะดีสักแค่ไหนถ้าอุตสาหกรรมการบินเปลี่ยนมาใช้ “นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน” (Sustainable Aviation Fuel: SAF) แทนน้ำมันเจ็ต เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตขึ้นมาจากชีวมวล ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ถึง 80% ลองไปทำความรู้จักกับน้ำมันชนิดนี้กันให้มากขึ้นดีไหมคะ
จากวิกฤตการปล่อย CO2 ของสายการบิน นำมาสู่ CORSIA
SAF น้ำมันอากาศยาน

เพราะอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกใช้น้ำมันเจ็ตเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อน และถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาสู่ชั้นบรรยากาศ ถึง 2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งโลก ทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้มีมาตรการที่เรียกกันว่า "CORSIA" (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) เป็นโครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับการปล่อยมลพิษจากการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ โดยให้แต่ละสายการบินของประเทศสมาชิกตรวจสอบและรายงานการปล่อยมลพิษในกิจการการบิน โดยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ไม่ให้เกินกว่าระดับปริมาณสุทธิของปี 2019 ผ่านการใช้กลไกการชดเชย และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การซื้อหน่วยลดการปล่อยมลพิษที่สร้างขึ้นโดยโครงการในภาคส่วนอื่น ๆ การใช้พลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงการใช้เครื่องบินเทคโนโลยีแบบใหม่ เป็นต้น

ซึ่งมาตรการ CORSIA บวกกับแรงกดดันจากภาคประชาชนที่ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับผลกระทบ เพราะต้องเตรียมความพร้อมในการจัดการกับการปล่อยคาร์บอน และอาจจะมีค่าใช้จ่ายชดเชยที่เพิ่มขึ้นมาด้วย รวมไปถึงทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ "Net Zero Emissions" ภายในปี 2050 หรือการที่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความสมดุลเท่ากับก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดซับออกจากชั้นบรรยากาศ ดังนั้น การหันไปใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) จึงกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ของธุรกิจการบินในปัจจุบัน แต่ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าน้ำมันเจ็ตแบบเดิมหลายเท่าตัว

SAF น้ำมันอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน
ทางเลือกใหม่สู่ทางรอดของสายการบิน
SAF น้ำมันอากาศยาน

         นํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) เรียกสั้น ๆ ว่า “SAF” เป็นนํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากวัตถุดิบชีวมวล เช่น พืชผลที่เพาะปลูกทั่วไปในประเทศ วัสดุเหลือใช้จากภาคเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์อย่างไขมันสัตว์ รวมถึงของเสียประเภทนํ้ามันพืชที่ผ่านการใช้งานแล้วจากอุตสาหกรรมอาหาร ตัวอย่างวัตถุดิบชีวมวล เช่น อ้อย ข้าวโพด ซังข้าวโพด มันสำปะหลัง กากมันสำปะหลัง กาบและกะลามะพร้าว เมล็ดปาล์ม ไม้ เศษหญ้า ฟางข้าว ฯลฯ โดยวัตถุดิบชีวมวลตั้งต้นจะถูกแปรสภาพผ่านปฏิกิริยาเคมีให้กลายเป็นสารตั้งต้นชนิดใดชนิดหนึ่ง ก่อนที่จะถูกนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอากาศยานอีกทีหนึ่ง

         ปัจจุบันเทคโนโลยีการผลิต SAF สามารถผสม SAF เข้ากับนํ้ามันเจ็ตแบบเดิม เพื่อใช้ในเครื่องบินได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนหรือปรับปรุงเครื่องยนต์ เป็นหลักการคล้ายกับการผสมเอทานอลเข้าไปในนํ้ามันเบนซิน หรือการผสมไบโอดีเซลเข้ากับนํ้ามันดีเซลนั่นเอง ซึ่งคุณสมบัติทางเคมีของ SAF คล้ายคลึงกับนํ้ามันเจ็ตที่ผลิตจากฟอสซิล จัดว่าเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึง 80% เทียบกับน้ำมันเจ็ตแบบเดิม

เทรนด์น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน
ขับเคลื่อนอากาศยานด้วยพลังงานสะอาดจากทั่วโลก

SAF น้ำมันอากาศยาน

น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน เป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์เท่านั้น ในระดับสากลทั่วโลกก็มีการขับเคลื่อนกันอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ญี่ปุ่น ฯลฯ ที่รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ให้การสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับ SAF ด้วยการสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริมการวิจัยและผลิต และสนับสนุนการใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน

ในฝรั่งเศส ก็ได้มีมาตรการบังคับให้ทุกเที่ยวบินขาออกต้องมีสัดส่วนใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนอย่างตํ่า 1% ของปริมาณการใช้เชื้อเพลิงในเครื่องบินตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2%, 5% และ 50% ภายในปี 2025, 2030 และ 2050 ตามลำดับ ส่งผลให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างองค์กรยักษ์ใหญ่ ได้แก่ Air France-KLM, Total, Groupe ADP และ Airbus ในการพัฒนาและสนับสนุนการผลิต Sustainable Aviation Fuel (SAF) เพื่อยืนหยัดสร้างความเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนนวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การค้นคว้าพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการทดสอบน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนเพื่อให้สามารถผลิตมาให้ใช้ได้เพียงพอตามข้อบังคับของรัฐบาล

SAF กับประเทศไทยเพื่อเป้าหมายสู่ Net Zero 2065
SAF น้ำมันอากาศยาน

ประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมโครงการ CORSIA เป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ตั้งแต่ปี 2021 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิไม่ให้เกินกว่าของปี 2019 ผ่านการใช้กลไกการชดเชย และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และได้มีการออกข้อบังคับให้สายการบินตรวจวัดและการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำรายงานข้อมูลปริมาณนํ้ามันเชื้อเพลิงที่ใช้ ตลอดจนสถิติการจราจรทางอากาศในรอบปี เพื่อรายงานต่อสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยด้วย

ซึ่ง กลุ่ม ปตท. บริษัทพลังงานแห่งชาติของไทย มีเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายใน ปี 2060 (Net Zero 2060) และด้วยประสบการณ์ ผนวกกับความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการผลิตเชื้อเพลิงทางเลือก จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มาตรฐานระดับโลก ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิต HydroprocessedEsters and Fatty Acids (HEFA) และ Alcohol to Jet (ATJ) เพื่อส่งเสริมพลังงานสะอาด และยังเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการบินให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ตามมาตรการ CORSIA

          ถึงแม้การใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน จะช่วยให้สายการบินลดการปล่อยคาร์บอนลงได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้นทุนสูงกว่าน้ำมันเจ็ตหลายเท่าตัว ไม่แน่ว่า วันหนึ่งวันใด หากประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืนได้ นอกจากจะเข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero 2065 แล้วยังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนตํ่าได้ในไม่ช้า
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
SAF คืออะไร ? พลังงานทางเลือกใหม่ที่อยากให้ทุกคนรู้จัก อัปเดตล่าสุด 17 กรกฎาคม 2566 เวลา 09:05:19 5,072 อ่าน
TOP