กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน ทกซูรี คาดทวีความรุนแรงเป็นไต้ฝุ่น เคลื่อนตัวไปทางไต้หวัน ช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น ขณะไทยยังเจอฝนต่อเนื่อง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา
วันที่ 22 กรกฎาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยภาพเส้นทางพายุโซนร้อน ทกซูรี (DOKSURI) พร้อมข้อความอัปเดตเกี่ยวกับพายุลูกดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้
"อัปเดตเส้นทางพายุโซนร้อน "ทกซูรี (DOKSURI)" เวลา 16.00น. วันนี้ (22/7/66) : เช้านี้พายุฯ ยังมีศูนย์กลางอยู่บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ และคาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ มีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ค. 66
เตือนผู้ที่จะเดินทางไปไต้หวันในช่วงเวลาดังกล่าว ต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง พายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประเทศไทย แต่จะช่วยดึงมรสุมให้มีกำลังแรงขึ้น (ข้อมูลยังมีการเปลี่ยนแปลงได้ ใช้เพื่อเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจ)"
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา
สำหรับการพยากรณ์อากาศ เกี่ยวกับฝนในประเทศไทยล่าสุด มีรายละเอียดดังนี้
- ช่วง 22 -24 กรกฎาคม 2566 ทั่วทุกภาคของไทยยังชุ่มฉ่ำ เริ่มมีฝนตกกระจายต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะภาคใต้ (ระนอง พังงา ภูเก็ต) และภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี และตราด) ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก ฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากได้
- ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม ส่วนร่องมรสุมยังคงพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง (ชายฝั่งประเทศเวียดนาม )
- คลื่นลมในทะเลทั้ง 2 ฝั่ง มีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงตลอดสัปดาห์ ชาวเรือ ชาวประมงเดินเรือ ต้องระวัง 22 - 24 กรกฎาคม 2566 เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
- ช่วง 25 - 28 กรกฎาคม 2566 ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนฝนน้อยลงบ้าง เนื่องจากมีพายุดึงเอาความชื้นไป แต่ด้านรับมรสุมยังมีฝนและคลื่นลมแรงขึ้น ต้องระวัง ส่วนพายุโซนร้อน "ทกซูรี (DOKSURI)" บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (ตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์) กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน (26 - 28 กรกฎาคม)
- พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจึงไม่มีผลกระทบโดยตรง แต่จะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น 29 - 31 กรกฎาคม 2566 หลังจากพายุสลายตัวไปแล้ว ฝนจะเริ่มกลับมาอีกครั้ง
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุตุนิยมวิทยา