สรรพสามิต ครบรอบ 91 ปีแห่งการสถาปนา เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิตมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากลเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ชูกลยุทธ์ “EASE Excise” พร้อมต่อยอดสู่ 16 โครงการเรือธง (Flagship Project) และเปิดอาคารอเนกประสงค์ กรมสรรพสามิต ภายใต้แนวคิดที่สอดคล้องกัน ในการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมถึงมอบทุนการศึกษาให้ “โรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง” ต่อยอด ESG ลงลึกสู่ระดับการศึกษาภาคปฏิบัติของนักเรียน
สรรพสามิตเปลี่ยนบทบาท เดินหน้า ESG
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 91 ปี วันคล้ายวันสถาปนา ว่า "ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตได้มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจอย่างรอบด้าน ทั้งการจัดเก็บภาษีสินค้าและบริการบางประเภทที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ มีลักษณะเป็นของฟุ่มเฟือย ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ หรือก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งภารกิจของกรมสรรพสามิตไม่ได้มุ่งเน้นแค่การจัดเก็บภาษีเข้ารัฐเท่านั้น แต่กรมสรรพสามิตยังให้ความสำคัญในเรื่องของการดูแลความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนและสังคมโดยได้มีการดำเนินการทั้งในส่วนของการส่งเสริม สนับสนุน การทำธุรกิจ ที่ช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ทั้งในเรื่อง สุขภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงการควบคุมธุรกิจใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลเสียต่อพี่น้องประชาชนหรือประเทศโดยภาพรวม
โดยกรมสรรพสามิตให้ความสำคัญ และจะเดินหน้ายุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ด้วยกลยุทธ์ "EASE Excise" พร้อมต่อยอด 16 โครงการเรือธง (Flagship Project) อาทิ โครงการขับเคลื่อนกรมสรรพสามิตสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Culture) โครงการยกระดับการให้บริการของกรมสรรพสามิตด้วย UX & Service Journey Design โครงการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอน โครงการศึกษาและวางแผน ESG ของกรมสรรพสามิต เป็นต้น ซึ่งยุทธศาสตร์ที่วางไว้นั้น จะเป็นการยกระดับทั้งในด้านของการดำเนินงาน การให้การบริการแก่ผู้ประกอบการและพี่น้องประชาชน การบรรลุเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ และภารกิจที่ได้วางไว้ สามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจ สังคม และเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุดคือการเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืน
"จากความท้าทายต่าง ๆ กรมสรรพสามิตไม่ได้มีหน้าที่เพียงการจัดเก็บรายได้อย่างเดียว แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วย จึงได้ประกาศตัวเป็นกรม ESG สู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ (Digital Transformation) นำประสบการณ์ของผู้เสียภาษีมาสร้างมาตรฐานการให้บริการที่ดีขึ้น นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และพันธสัญญาที่ประเทศไทยสัญญาว่า จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ carbon neutrality ภายในปี 2050 และไปสู่ Net Zero ในปี 2065 ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งกรมสรรพสามิตจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยทำตามพันธสัญญาเรื่องนี้ได้" ดร.เอกนิติ กล่าว
โดยการดำเนินงานในปีนี้และปีถัดไป กรมจะเน้นขับเคลื่อนในทุกมิติ โดยเน้นไปที่แผนการจัดเก็บภาษี เพื่อความยั่งยืนแห่งอนาคต ประกอบด้วย มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และส่งเสริมไทยเป็นฮับอีวีในภูมิภาค การกำหนดอัตราภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงไอพ่นในอัตราที่เหมาะสม หลังจากที่มีการลดอัตราภาษีให้ในช่วงโควิด แต่จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบิน กรมสรรพสามิตจึงจำเป็นต้องพิจารณากำหนดอัตราภาษีน้ำมันเครื่องบินไอพ่น ที่เหมาะสม เนื่องจากการบริโภคน้ำมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับการจัดเก็บภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคการขนส่งอื่น ๆ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ที่มีความจุสูง เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค สร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนากระบวนการผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) โดยการนำเอทานอลบริสุทธิ์มาใช้ในการผลิต นอกจากนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาการจัดเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีตามหลักสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องเป้าหมายรัฐบาลในการลดการปล่อยก๊าซ CO2 รวมไปถึงการจัดเก็บภาษีคาร์บอนเพื่อรองรับมาตรการ CBAM จากสหภาพยุโรปที่จะบังคับใช้กับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบภายใน 3 ปีข้างหน้า
กรมสรรพสามิตยังคงให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชน จึงได้ให้ความสำคัญ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นสำคัญ ซึ่งการจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มนั้น ได้คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนตามแนวทางป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อขององค์การอนามัยโลก (WHO) และยังเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคม ให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้ กรมฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อพิจารณากำหนดพิกัดอัตราภาษีใหม่ ๆ สำหรับสินค้าสุราและเครื่องดื่มที่มีอัตลักษณ์หรือเครื่องดื่มนวัตกรรมในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น เครื่องดื่มที่มีลักษณะเทียมสุรา โดยยังคงมีหลักการจัดเก็บภาษีที่สะท้อนทั้งด้านสุขภาพและด้านความฟุ่มเฟือย ในด้านบทบาทของการปราบปราม กรมฯ ได้มีการเปิดศูนย์ปราบปรามออนไลน์ และยกระดับการดำเนินการด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการทำงาน เชื่อมต่อข้อมูลกับองค์กรภายนอก เพื่อยกระดับการปราบปรามสินค้าออนไลน์ทุกชนิด ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจจ่ายภาษีสุจริตให้ได้รับความเป็นธรรม พร้อมดูแลผู้บริโภคให้ได้สินค้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ยกกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนชาวไทยให้มีสุขภาพที่ดี เพื่อสร้างความมั่นคง สร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างธรรมาภิบาล อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าว
พร้อมกันนี้ ในโอกาสครบรอบการสถาปนาในครั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีเปิดอาคารอเนกประสงค์กรมสรรพสามิต โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคมวัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร ทำการเจิมป้ายและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งอาคารอเนกประสงค์แห่งนี้ มาจากแนวคิดที่คำนึงถึงการประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดจนก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีต่อผู้ใช้งานอาคาร ได้นำเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability; TREES) จากสถาบันอาคารเขียวไทย (Thai Green Building Institute; TGBI) มาใช้ในการออกแบบและก่อสร้างโครงการ เพื่อให้เป็นอาคารสำนักงานอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
1. ลดการใช้พลังงาน 28% โดยใช้ระบบปรับอากาศแบบ VRF
2. ประหยัดพลังงาน 54% โดยใช้หลอดประหยัดไฟแบบ LED
3. ลดการใช้น้ำ 45% ด้วยการเลือกใช้สุขภัณฑ์และก๊อกน้ำที่ประหยัดน้ำ
4. ใช้วัสดุจากการรีไซเคิล 30% รวมไปถึงเลือกใช้วัสดุที่มีสารพิษต่าง ๆ
5. ใช้วัสดุผลิตในประเทศไทย 30% ลดการใช้น้ำมันในการขนส่ง และส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศ
รวมไปถึงกรมสรรพสามิตได้มอบทุนการศึกษาให้กับโรงเรียนเทศบาลสรรพสามิตบำรุง ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1–3 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1–3 ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สร้างบนพื้นที่โรงงานสุราเดิม ซึ่งนำพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้แล้ว มาใช้เป็นพื้นที่ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ และทางกรมสรรพสามิตได้ให้การสนับสนุนด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทางโรงเรียนได้มีการดำเนินการปลูกฝังให้ความรู้เด็กนักเรียนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมด้วยกิจกรรมการ คัดแยกขยะ เพื่อจำหน่าย และนำเงินไปต่อยอดสู่โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็ก รวมถึงการนำไปซื้อเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อปลูกประกอบอาหารกลางวัน และจำหน่ายให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ชุมชน รวมถึงการจัดทำโรงเรือนปลูก ซึ่งจะทำให้เกิดการปลูกฝังเรื่อง ESG ได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมสรรพสามิตในการมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน