x close

สภา กทม. แจงเหตุผล 3 ข้อ ลดงบติดแอร์ในห้องเรียน สู่โรงเรียนปลอดฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องค่าไฟ

          สภา กทม. เห็นชอบลดงบประมาณ 219 ล้านบาท โรงเรียนปลอดฝุ่น ชี้ ยังไม่จำเป็น เพราะยังมีปัญหาอื่น ๆ ให้แก้ไข และเด็กไม่ได้อยู่แอร์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงปัญหาค่าไฟ


          เมื่อวานนี้ (6 กันยายน 2566) รายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ รายงานว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยฝ่ายบริหาร สก.ทั้ง 50 เขต เข้าร่วมการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ซึ่งช่วงต้นการประชุม มีการอภิปรายเรื่องงบประมาณประเภทลงทุน ประจำปีงบประมาณ 2567 เพื่อปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น โรงเรียนชั้นอนุบาลสังกัด กทม. ว่า ไม่สอดคล้องกับพื้นที่ เนื่องจากห้องเรียน 20 ตารางเมตร ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 บีทียู ห้องละ 2 ตัว

          นายชัชชาติ ชี้แจงว่า นโยบายหมายเลข 048 จาก 216 นโยบายของเรา คือ การจัดพื้นที่ปลอดฝุ่นให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเด็กวัย 1-6 ขวบก็เป็นกลุ่มเปราะบาง เป็นช่วงที่มีการพัฒนาการของสมองรวดเร็วที่สุด มากที่สุด สามารถสร้างทรัพยากรให้มีคุณค่าในอนาคตได้ ซึ่งหลายครั้งเราละเลยเด็กกลุ่มนี้ไป กลายเป็นพัฒนาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ เด็กยังมีปัญหาเรื่องสวมหน้ากากยากเพราะเป็นเด็กเล็ก การสอนให้สวมหน้ากากก็ยาก เด็กต้องนอนกลางวันช่วงบ่าย ถ้าเด็กมีแอร์นอนกลางวันก็จะหลับได้สนิท ดังนั้น ตนจึงมีแนวคิดทำห้องเรียนปลอดฝุ่น มีเครื่องปรับอากาศ


          อย่างตนเป็นผู้ว่าฯ เวลามีฝุ่นเราก็เข้ามาในห้องแอร์ เปิดแอร์ ก็รู้สึกปลอดภัยขึ้น และงบประมาณที่ลงทุนกับเด็กก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์และคุ้มค่า ส่วนเรื่องค่าไฟก็เป็นสิ่งที่ต้องคิด อนาคตอาจจะลงทุนติดโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนมากขึ้น

          ส่วนโซลาร์เซลล์ในโรงเรียนมากขึ้นนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า ห้องอนุบาลที่จะติดแอร์ 30,000 บีทียู 2 เครื่อง คือขนาด 49 - 64 ตารางเมตร ไม่ใช่ห้องละ 20 ตารางเมตร

          ต่อมานางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี ส.ก.เขตสายไหม พรรคไทยสร้างไทย อภิปรายถึงประเด็นนี้ว่า การนำงบประมาณ 219 ล้านบาทมาทำห้องเรียนปลอดฝุ่นเป็นการสิ้นเปลือง เพราะยังมีห้องเรียนเก่าทรุดโทรมควรได้รับการปรับปรุงก่อน ควรเพิ่มสวัสดิการครู รวมถึงปัญหาซับซ้อน การติดแอร์จะเบิกค่าไฟจากใคร ปัญหาโลกร้อน ถ้าติดแอร์ ก็ต้องติดเครื่องฟอกอากาศไปด้วย รวมถึงมีการล้างแอร์ทุก 4-6 เดือน ไม่สมเหตุสมผล

          นอกจากนี้ โรงเรียนในกรุงเทพฯ ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น กล้องวงจรปิดขนาดใหญ่ ปัญหาห้องน้ำไม่เพียงพอ ไม่สะอาด ดังนั้นเราเอาเงิน 200 ล้านมาทำงบนี้ไม่ดีกว่าหรือ อีกทั้งเด็กในโรงเรียนสังกัด กทม. มีฐานะยากจน ไม่ได้อยู่แอร์ 24 ชั่วโมง

          ส่วนนโยบายที่จะเพิ่มต้นไม้ ตนเห็นด้วยเพราะเป็นสิ่งที่ดี แต่ในพื้นที่สีเขียวที่ทำได้คือเกาะกลางถนน แต่ละเขตก็นำไปปลูกติด ๆ กันจนไม่รู้จะเอาไปปลูกที่ไหน เวลาโตมาก็ไปเกาะสายไฟจนเกิดปัญหา ไม่ใช่ว่าตนไม่เห็นด้วย แต่ตนเห็นว่า ควรเพิ่มพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนแทน ก็สามารถฟอกอากาศในโรงเรียน ให้เด็กช่วยกันปลูกหรือทำแปลงเกษตร ก็เป็นการฟอกอากาศได้ดีมากยิ่งขึ้น งบประมาณต่าง ๆ ที่ทำมาต้องมีประโยชน์มากกว่านี้

          ผลสุดท้าย ที่ประชุมสภา กทม. เห็นชอบให้ลดงบโครงการการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต วงเงิน 219 ล้านบาท


สภาฯ แจงสาเหตุลดงบโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น

          เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว รายงานว่า นางสาวนฤนันมนต์ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตคลองสามวา ในฐานะโฆษกสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเหตุผลของการตัดงบโครงการดังกล่าวว่า สภาให้ความสำคัญเรื่องการศึกษามาโดยตลอด ทั้งเรื่องเพิ่มศักยภาพครู เพิ่มความปลอดภัยให้นักเรียน การปรับปรุงกายภาพห้องเรียนให้มีโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียม

          ส่วนโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต รวม 429 โรงเรียน 1,743 ห้อง รวมงบประมาณ 219,339,000 บาท ของสำนักการศึกษา มีกรรมการหลายคนขอสงวนความเห็น เนื่องจากเห็นด้วยกับโครงการ แต่ไม่เห็นด้วยในวิธีการ รวมถึงโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นเดิม นำร่อง 32 แห่ง ที่ กทม. ดำเนินการอยู่ ไม่มีการขยายผลต่อยอด รวมถึงขั้นตอนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่มีการแสดงเอกสารความชัดเจนเรื่องที่มาที่ไปของงบประมาณ กรรมการจึงขอสงวนความเห็นเพื่อให้ที่ประชุมได้วินิจฉัยให้เห็นชอบตัดหรือคงอยู่ มีเหตุผลดังนี้

          1. เอกสารโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นของทุกกลุ่มเขต มีรายละเอียดเหมือนกันหมดคือ ติดตั้งเครื่องปรับอากาศขนาด 30,000 BTU จำนวน 2 เครื่อง ในขณะที่สภาพห้องเรียนทุกแห่งมีขนาดที่แตกต่างกัน บางเขตก็มีห้องเรียนอนุบาลไม่มาก ไม่จำเป็นต้องติดแอร์ที่มี BTU สูง จึงเกิดความสิ้นเปลืองในงบประมาณ

          2. การติดตั้งเครื่องปรับอากาศ จะมีงบค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก ค่าบำรุงรักษา ค่าล้างทำความสะอาด แต่ไม่ได้มีการของบประมาณส่วนอื่นให้สอดคล้องกัน เพียงต้องการใช้งบประมาณเท่านั้น

          3. การแก้ปัญหา PM2.5 ต้องแก้ให้ถูกจุด เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เกิดการตระหนักรู้ และการติดตั้งเครื่องปรับอากาศเพิ่มอาจจะไม่สอดคล้องนโยบายลดโลกร้อนของผู้บริหาร

          สำหรับรายการโครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นที่สภา กทม. ให้ความเห็นชอบตัดออก ประกอบด้วย

          1. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง จำนวน 41 โรงเรียน 140 ห้อง จำนวน 17,646,000 บาท

          2. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก จำนวน 129 โรงเรียน 561 ห้อง จำนวน 70,584,000 บาท

          3. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ จำนวน 45 โรงเรียน 244 ห้อง จำนวน 30,748,000 บาท

          4. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ จำนวน 55 โรงเรียน 192 ห้อง จำนวน 24,202,000 บาท

          5. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ จำนวน 89 โรงเรียน 247 ห้อง จำนวน 31,033,000 บาท

          6. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล กลุ่มเขตกรุงธนใต้ จำนวน 70 โรงเรียน 359 ห้อง จำนวน 45,126,000 บาท

ขอบคุณข้อมูลจาก รายการ กรรมกรข่าว คุยนอกจอ, เฟซบุ๊ก สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภา กทม. แจงเหตุผล 3 ข้อ ลดงบติดแอร์ในห้องเรียน สู่โรงเรียนปลอดฝุ่น ไม่ใช่แค่เรื่องค่าไฟ อัปเดตล่าสุด 7 กันยายน 2566 เวลา 17:03:35 10,831 อ่าน
TOP