แชร์ว่อน คลิปแนะกินด่างทับทิม - อ.เจษฎา เตือนอันตราย ! ไม่ได้ใช้ทำน้ำยาอุทัย

 
             แชร์ว่อน คลิปบอก ด่างทับทิมกินได้ ชี้ช่วยเลือดลดความเป็นกรด ด้าน  อ.เจษฎา ยันเป็นอันตรายกินไม่ได้ ชี้ไม่มีในส่วนผสมน้ำยาอุทัย

กินด่างทับทิม อันตราย !

             กำลังเป็นคลิปที่โลกออนไลน์ให้ความสนใจ กรณีคลิป TikTok ช่องหนึ่งที่มักจะให้ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ ลงคลิปหัวข้อ "กินด่างทับทิมเป็นอันตรายไหม" พร้อมอธิบายบางช่วงว่า "มันอยู่ที่ปริมาณ ดื่มเป็นขวด ๆ ไม่ได้ แต่กินน้ำด่าง หรือ น้ำยาอุทัยสมัยก่อนได้ ที่ตอนโรงเรียนสมัยก่อน เขาจะใส่ด่างทับทิมลงไปผสมน้ำเป็นสีชมพูนิด ๆ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เพราะร่างกายคนเรามันมีค่าพีเอช ค่ากรด-เบส เซลล์มะเร็งชอบความเป็นกรด ถ้ากินน้ำตาลเยอะ ๆ เลือดจะเป็นกรด มะเร็งจะเติบโต เขาจึงให้กินน้ำด่าง ใช้เครื่องทำน้ำด่าง ให้เลือดลดความเป็นกรด ให้พีเอชสูงขึ้น"  


             เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 30 มกราคม 2567 เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการโพสต์อธิบายเกี่ยวกับข้อมูลในคลิปดังกล่าวว่า "ด่างทับทิม กินไม่ได้ เป็นอันตรายครับ (และน้ำยาอุทัย ไม่ได้ทำจากด่างทับทิมด้วย)"

             อ.เจษฎา ระบุว่า คลิปป๋าให้ความรู้แบบผิด ๆ คลิปที่เท่าไหร่แล้วเนี่ย คราวนี้มากับคำถามที่ว่า "กินด่างทับทิม อันตรายไหม ?" พร้อมอธิบายว่า น้ำยาอุทัยทิพย์ ที่เอามาผสมน้ำดื่ม ไม่ได้ทำจากด่างทับทิม แต่เป็นยาแผนโบราณ ที่มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งมีสรรพคุณไปทางด้านการลดอาการร้อนใน โดยมี "ฝาง" เป็นส่วนประกอบหลักของน้ำยาอุทัย และทำให้น้ำยาอุทัยเป็นสีแดง ฝางช่วยบำรุงโลหิต ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ นอกจากนั้นก็มี ดอกพิกุล, ดอกมะลิ, หญ้าฝรั่น, ดอกสารภี, ดอกบุนนาค, ดอกคำฝอย, ดอกเก็กฮวย, เกสรบัวหลวง, อบเชย, กฤษณา, จันทน์แดง, โกศหัวบัว, โกศเขมา, โกศสอ, โกศเชียง .... ไม่ปรากฏว่ามีการใส่ "ด่างทับทิม" เข้าไปแต่ประการใด

กินด่างทับทิม อันตราย !

             ส่วนด่างทับทิม หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate – สูตรทางเคมี : KMnO4) เป็นสารเคมีประเภทอนินทรีย์ มีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ดสีม่วง สามารถละลายน้ำได้ดี ได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ จริง และเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างจริง แต่ก็มีอันตราย เนื่องจากมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิเดชัน (oxidation) อย่างรุนแรง ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่นำมาบริโภค รับประทาน

             - ห้ามดื่ม ชิม จิบ หรือกิน ด่างทับทิม ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ๆ เพราะอาจเกิดอาการระคายเคือง หรือแพ้ได้ 

             - หากด่างทับทิมเข้าปาก ต้องรีบบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง และห้ามทำให้อาเจียนเด็ดขาด

             - ถ้าน้ำด่างทับทิมกระเด็นเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุตา ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง

             - แม้แต่ด่างทับทิมที่ละลายน้ำแล้ว แต่ในปริมาณมาก จนเข้มข้นมากเกินไป ก็อาจทำให้ผิวหนังไหม้ได้ จึงไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยเด็ดขาด เพราะอาจระคายเคืองกับเนื้อเยื่อ และทำลายเซลล์ผิวหนัง จนมีอาการแสบ คัน เกิดรอยด่าง หรือผิวแห้งเป็นขุยได้

             ส่วนประโยชน์ของด่างทับทิม ที่นิยมนำมาใช้ในครัวเรือนได้ คือเอามาทำเป็นยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ในผักผลไม้ โดยนำมาผสมกับน้ำเพียงเล็กน้อย (ใช้ประมาณ 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร) แล้วแช่ผักผลไม้  แต่ต้องล้างออกให้สะอาด ไม่นำน้ำนั้นไปใช้ในการดื่มกิน

             ดังนั้น สรุปอีกทีว่า อย่าเอาด่างทับทิมไปละลายน้ำเพื่อดื่มกิน ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำยาอุทัยทิพย์ อันตรายต่อร่างกาย

             ป.ล. แถมด้วยว่า เรื่องการกินน้ำด่าง อาหารด่าง ให้เลือดของเรากลายเป็นด่างเนี่ย ก็เป็นความเชื่อผิด ๆ ตาม ๆ กันมานานแล้ว ความจริงแล้ว ค่าพีเอช กรดด่าง ของเลือดคนเรา ค่อนข้างคงที่ เป็นด่างอ่อน ๆ ตลอดเวลาอยู่แล้ว และจะถูกควบคุมด้วยระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ผ่านการหายใจเข้าออก ไม่ใช่จากการกินอาหารดื่มน้ำ แล้วไปเปลี่ยนค่าพีเอชครับ พวกผลไม้ต่าง ๆ ก็มีค่าพีเอช เป็นกรดอ่อน ด้วยครับ ไม่ใช่เป็นด่าง อย่างที่กลุ่มคนกินอาหารด่างเชื่อกัน

กินด่างทับทิม อันตราย !



ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แชร์ว่อน คลิปแนะกินด่างทับทิม - อ.เจษฎา เตือนอันตราย ! ไม่ได้ใช้ทำน้ำยาอุทัย อัปเดตล่าสุด 30 มกราคม 2567 เวลา 17:46:30 24,094 อ่าน
TOP
x close