เปิดตัวผู้สมัคร สว. จากภาคประชาชน ในงานเสวนา “เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน”

          ภาคประชาชนร่วมเปิดตัวผู้สมัคร สว.สายศิลปิน - สื่อมวลชน -นักเขียน "ประจักษ์" ชี้กระบวนการเลือก สว. ออกแบบโดยชนชั้นนำเพื่อให้คุมได้ แนะประชาชนต้องร่วมแก้เกมเข้าไปมีส่วนร่วมให้มากที่สุด "พนัส" อัดระเบียบ กกต. ห้ามแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญชัดเจน


สมาชิกวุฒิสภา

           วันที่ 28 เมษายน 2567  ภาคประชาชนรวมตัวร่วมจัดงาน "เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน" เปิดตัวผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปี 2567 ในกลุ่มศิลปิน นักเขียน สื่อมวลชน  พร้อมปาฐกถาพิเศษ "เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาไทย เอาอย่างไรกันต่อดี"  โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และงานเสวนาเพื่อเปิดมุมมองภาคประชาชน ที่หวังเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลง โดยผู้สนับสนุนการมี สว. ภาคประชาชนที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ประกอบด้วย ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกร Spokedark TV และ แพรวไพลิน กสิวัฒนา Miss Trans Thailand 2022

          ประจักษ์ ก้องกีรติ ฉายภาพใหญ่ให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของ สว. ในปาฐกถา "เหลียวหลัง แลหน้า วุฒิสภาไทย เอาอย่างไรกันต่อดี" ว่าถือเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการ 1) เปลี่ยนกติกาให้ตัวเองได้เปรียบ 2) คุมกรรมการและองค์กรอิสระ และ 3) การทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอ เพื่อให้ต่อให้มีการเลือกตั้ง ก็สามารถรับประกันได้ว่าจะสามารถควบคุมผลและชนะการเลือกตั้งได้

สมาชิกวุฒิสภา

          นอกจากนี้เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ สว. ไทยแล้ว จะพบข้อสังเกต 3 ข้อ คือ สว. มักมีบทบาทสำคัญในการ 1) การเป็นผู้พิทักษ์ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 2) พิทักษ์ระเบียบเศรษฐกิจการเมืองแบบคณาธิปไตยในมือชนกลุ่มน้อยและเครือข่ายอุปถัมภ์ขนาดใหญ่ และ 3) สว. ไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ตรวจสอบรัฐบาล แต่เป็นส่วนขยายของรัฐบาล

          แม้ประวัติศาสตร์ สว. ไทยจะมีทั้งจากการแต่งตั้งและการเลือกตั้ง แต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดของ คสช. ได้ออกแบบ สว. ให้พิสดารมีความพิสดารที่สุด โดยมีบทเฉพาะกาลให้ 5 ปีแรก สว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีได้โดยตรง แล้วยังเปลี่ยนการเลือกตั้งให้กลายเป็นการเลือกสรร เพื่อให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ให้เลือกกันเองเงียบ ๆ ในคนกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจสามารถดึงมาเป็นพวกได้

          "เป็นการบิดเบือนกลไกประชาธิปไตยเพื่อรักษาระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความบิดเบี้ยวเกิดขึ้นเยอะมากภายใต้การรัฐประหารของ คสช. กลไกต่าง ๆ ตามระบอบประชาธิปไตย ถูกจัดให้มีเป็นเพียงพิธีกรรม แล้วเอากระบวนการเหล่านี้มารักษาสืบทอดอำนาขของระบอบเผด็จการเสียแทน" ประจักษ์กล่าว

          ประจักษ์ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่ชนชั้นนำต้องการคือการทำให้ สว. มีที่มาจากวงของคนที่เล็กที่สุด ยิ่งเล็กเท่าไหร่ยิ่งควบคุมได้ง่ายขึ้น ครั้งนี้จะเล็กหรือใหญ่ยังบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าชวนคนไปสมัครได้มากเท่าไหร่ ถ้าได้ 7 พันคน สว. ก็จะเป็นตัวแทนของคน 7 พันคน แต่ถ้ามาจาก 2 แสนคน ก็จะเป็นตัวแทนคน 2 แสนคน แน่นอนว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้มาจากคน 50 กว่าล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ทำได้เมื่อเป็นเกมแบบนี้ ก็คือการขยายวงให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

สมาชิกวุฒิสภา
 
          "เดิมพันสำคัญในการเลือก สว. ครั้งนี้ คือการแก้เกมของชนชั้นนำที่ไม่ชอบประชาธิปไตยวางเอาไว้ ทุกคนจะเป็นมนุษย์ประวัติศาสตร์ ถ้าสามารถแคมเปญให้มี สว. ภาคประชาชน มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เป็นจุดเริ่มต้นในการรื้อฟื้นประชาธิปไตย" ประจักษ์กล่าว

          ในช่วงหนึ่งของวงเสวนา พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหนึ่งในผู้เปิดตัวเป็นผู้สมัคร สว. ได้กล่าวให้ความเห็นต่อระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. ที่มีข้อห้ามต่าง ๆ เช่น การห้ามไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนและแนะนำตัวผ่านโซเชียลมีเดีย โดยระบุว่าเป็นแนวคิดที่ผิดหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะ สว. โดยหลักการต้องถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับ สว. การออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวแบบนี้ จึงเป็นระเบียบที่ชัดเจนว่าขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กกต. ไม่มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการแนะนำตัวแบบนี้ได้

สมาชิกวุฒิสภา

          จากนั้น เวทีจึงได้เข้าสู่วงเสวนาโดยผู้สนับสนุนการมี สว. ภาคประชาชนที่มีแนวคิดประชาธิปไตย ประกอบด้วย ภาวิณี ชุมศรี ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกร Spokedark TV และ แพรวไพลิน กสิวัฒนา Miss Trans Thailand 2022 ซึ่งได้ร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับความสำคัญที่ประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมา ควรให้ความสำคัญกับการเลือก สว. ในครั้งนี้ ทั้งในมุมของการกอบกู้สถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ตกต่ำ การมีองค์กรตรวจสอบที่ยืนอยู่บนหลักการ และการทำให้ สว. เป็นกลไกตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริงในการผลักดันประเด็นของภาคส่วนต่าง ๆ

สมาชิกวุฒิสภา

          หลังช่วงวงเสวนา ยังได้มีการเปิดตัวบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่าง ๆ ที่ส่งคลิปวีดีโอมาร่วมสนทนาให้การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือก สว. ประกอบด้วย เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ครูทอม- จักรกฤต โยมพยอม เจ้าของสำนักพิมพ์ Avocado Books และ ป๋าเต็ด - ยุทธนา บุญอ้อม พิธีกรชื่อดัง

โดยผู้สมัคร สว. ภาคประชาชนในกลุ่มศิลปิน สื่อมวลชน และนักเขียน ประกอบด้วยรายชื่อดังนี้


          1. ปิงปอง - ศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์ (ศิลปิน)
          2. พิเชษฐ กลั่นชื่น (ศิลปินรางวัลศิลปาธร)
          3. ต๊ะ-นารากร ติยายน (สื่อมวลชน)
          4. ซะการีย์ยา อมตยา (กวีรางวัลซีไรต์)
          5. ดุจดาว วัฒนปกรณ์ (ศิลปิน)
          6. ธีระวัฒน์ รุจินธรรม (ผู้กำกับภาพยนตร์)
          7. ประกิต กอบกิจวัฒนา (ศิลปิน)
          8. ถนัด ธรรมแก้ว หรือ ภู กระดาษ (นักเขียน)
          9. หทัยรัตน์ พหลทัพ (สื่อมวลชน)
          10. ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ (นักโบราณคดี)
          11. ชลณัฎฐ์ โกยกุล (สื่อมวลชน)
          12. จีรนุช เปรมชัยพร (สื่อมวลชน)
          13. ธีระวัฒน์ มุลวิไล (ศิลปิน)  
          14. จารุนันท์ พันธชาติ (ศิลปิน)
          15. ภาวินี ฟอฟิ (ศิลปิน)
          16. ประทีป คงสิบ (สื่อมวลชน)

สมาชิกวุฒิสภา

สมาชิกวุฒิสภา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 085 578 1444

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดตัวผู้สมัคร สว. จากภาคประชาชน ในงานเสวนา “เปลี่ยน สว. ได้ ประเทศไทยเปลี่ยน” โพสต์เมื่อ 29 เมษายน 2567 เวลา 17:35:53 7,128 อ่าน
TOP
x close