เปิดยิ่งใหญ่ ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย หนุนจีนตั้งฐานเทคโนโลยีชั้นสูง ขยายประตูการค้า

           เปิดยิ่งใหญ่ ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส ออพโพทูนิตีส์ แมทช์เมกิง (จีน-ไทย) ครั้งที่ 1 ระดมนักธุรกิจชั้นนำไทย-จีน 500 คน เจรจาจับคู่ธุรกิจ ใช้สิทธิขยายการค้า-ลงทุนร่วมกัน ด้าน ภูมิธรรม หนุนจีนใช้ไทยตั้งฐานผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง เปิดประตูการค้าสู่อาเซียน เอเชียใต้-กลาง
ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

          เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดการประชุม อาร์เซป บิสซิเนส ออพโพทูนิตีส์ แมทช์เมกิง (จีน-ไทย) ครั้งที่ 1 โดยมีนายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย เข้าร่วม พร้อมด้วยคณะนักธุรกิจจีนใน 10 สาขาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูง ดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ กว่า 150 บริษัท นักธุรกิจชั้นนำไทย 300 บริษัท สภาหอการค้าไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพบปะพูดคุยจับคู่ทางธุรกิจ การค้า การลงทุนร่วมกัน พร้อมกันนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (ไทย-จีน) เพื่อร่วมกันสนับสนุนการใช้สิทธิประโยชน์กรอบอาร์เซป ซึ่งเป็นเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดในโลก 15 ประเทศขยายการเติบโตทางการค้าการลงทุนร่วมกัน

          นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม RCEP Business Opportunities Matchmaking (จีน-ไทย) เพื่อเชิญชวนนักธุรกิจที่มีศักยภาพจีนกว่า 140 ราย ใน 10 สาขาเศรษฐกิจ จาก 60 สมาคม มาลงทุนในไทย ใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี RCEP (ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ GDP ประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนและอำนวยความสะดวกภาคเอกชน
ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

          นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไทยกับจีนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในปีหน้า (2568) จะครบรอบ 50 ปี หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมา การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าสูงถึง 105,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากความตกลง FTA โดยเฉพาะ RCEP ซึ่งจีนเป็นหัวหอกขับเคลื่อนที่สำคัญ และ RCEP เป็น FTA ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไทย-จีนยังเป็นสมาชิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่อยู่ระหว่างการยกระดับให้ทันสมัย

          ตนคาดหวังว่าไทย-จีนจะขยายโอกาสทางการค้าทั้งสินค้า บริการ และการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความตกลง RCEP อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการมีวัตถุดิบที่หลากหลาย ส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ขยายเครือข่ายภาคการผลิต และกระจายสินค้าในภูมิภาค เชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกผ่านการใช้สิทธิพิเศษผ่านข้อตกลงดังกล่าว  

          ตนประสานงานกับ BOI และรับผิดชอบ EEC และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลพร้อมสนับสนุนภาคเอกชนจีนใช้ประโยชน์จากข้อตกลง RCEP ซึ่งจะนำไปสู่การขยายมูลค่าการค้าและ GDP ของภูมิภาค RCEP ให้เติบโตขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตในไทยในสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-Curve ที่เป็นเป้าหมายในการต่อยอดอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต

ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

          ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์สร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างเอกชนสองฝ่าย โดยทำงานลงลึกในพื้นที่เป็นรายภูมิภาค/มณฑล ที่ผ่านมาได้ MOU กับรัฐบาลท้องถิ่นจีนแล้ว 4 ฉบับ ได้แก่ มณฑลไห่หนาน มณฑลกานซู มณฑลเซินเจิ้น และมณฑลยูนนาน และมีแผนที่จะจัดทำเพิ่มอีก 8 ฉบับ ได้แก่ ฝูเจี้ยน เฮยหลงเจียง ซานซี เจ้อเจียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง เหอเป่ย ซานตง และจี๋หลิน จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะ SME เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งไทยสามารถเป็นประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง กระจายสินค้าได้ทั่วโลก มีความพร้อมทั้งโลจิสติกส์ แรงงาน บริการ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุน ท่านนายกฯ สั่งการให้รัฐมนตรีทุกคนแก้ไขปรับกฎระเบียบส่งเสริมเอกชน และทุกหน่วยงานพร้อมเอื้อการลงทุนให้สะดวกและได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI  EEC รวมทั้งฟรีวีซ่า และด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน

          “ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก และเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ระเบียบการค้าโลกใหม่ต้องปรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง เน้นเศรษฐกิจสีเขียวที่ทุกภาคอุตสาหกรรมต้องปรับเปลี่ยน ขอสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานการผลิตในไทยและอาเซียน รวมทั้งกลุ่มธุรกิจบริการต่าง ๆ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยไม่เพียงแต่จะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรที่มีคุณภาพ ต้นทุนทางธุรกิจที่เหมาะสม ประเทศไทยยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการอยู่อาศัยและใช้ชีวิตสำหรับกลุ่มคนทำงานด้วยเช่น ความพร้อมด้านสิ่งอำนวยความสะดวกระบบรักษาพยาบาลโรงเรียน แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น” นายภูมิธรรม กล่าว

          ผู้สื่อข่าวระบุว่า ภายในงานมีนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ นายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย Mr.Xu Ningning, Chairman of RCEP Industry Cooperation Committee (RICC) นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและจีน นักธุรกิจจากทั่วประเทศจีนมากกว่า 140 คน ใน 10 สาขาเศรษฐกิจ จาก 60 สมาคม และนักธุรกิจไทยกว่า 300 คน ร่วมด้วย ซึ่งการค้ารวมของไทยกับกลุ่มประเทศ RCEP ในปี 2023 มีมูลค่ารวมถึง 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 54.41 ของการค้ารวมของไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ RCEP มูลค่ากว่า 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจุบันไทยมีความตกลง FTA แล้ว 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ ซึ่งรวมความตกลง RCEP โดยอยู่ระหว่างการพิจารณากระบวนการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งขณะนี้มีประเทศ/เขตศุลกากรอิสระ แสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลงฯ ได้แก่ ฮ่องกงและศรีลังกา และอยู่ระหว่างจัดตั้งหน่วยงานความตกลง RCEP(RCEP Supporting Unit : RSU)

ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

          ด้านนายสวี่ หนิงหนิง ประธานคณะกรรมการความร่วมมือธุรกิจอุตสาหกรรมอาร์เซป กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะช่วยเติมพลังความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าให้ทั้งสองประเทศ หลังจากตลอด 11 ปี ไทยมีการค้ากับจีนสูงเป็นอันดับ 1 มาตลอด และครั้งนี้จะช่วยแสวงหาโอกาสทางการค้าใหม่ และพัฒนาความร่วมมือทางการไทย-จีนร่วมกันต่อไป

          นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ได้เกิดสงครามการค้าขึ้น ซึ่งไทยโชคดีที่ได้จีนเป็นคู่ค้า ทำให้การส่งออกสามารถเติบโตได้ และใน 4 เดือนแรก ไทยส่งออก 9.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และยังขาดดุลกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ โดยเฉพาะกับจีน แต่ก็ไม่ได้น่าเสียใจ เพราะส่วนใหญ่เป็นขาดดุลสินค้าทุนเพื่อนำไปผลิตสินค้าต่อ อีกทั้งข้อดียังช่วยสินค้าเกษตรราคาดี ข้าว ทุเรียน โดยการจัดงานครั้งนี้จะช่วยแสดงจุดแข็งของไทยที่มีมากมายที่ช่วยดึงดูดการค้าได้ แต่การลงทุนของจีนก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยใกล้ชิด และตนขอสนับสนุนการค้ากับจีน ตลอดจนขอต่อต้านการที่ไต้หวันขอแยกตัวออกจากจีน
ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

          ปัจจุบันในปี 2566 การค้ารวมของไทยกับกลุ่มอาร์เซป มีมูลค่ารวมถึง 3.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 54.41% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังอาร์เซป 1.45 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

          นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย เปิดเผยระหว่างการประชุมจับคู่โอกาสทางธุรกิจ RCEP Business Opportunities Matchmaking (ไทย-จีน) ครั้งที่ 1 ที่มีคณะนักธุรกิจชาวจีนและนักธุรกิจไทยกว่า 500 คน เข้าร่วมงานอย่างคับคั่งว่า หอการค้าไทยฯ พร้อมให้ความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรภาคธุรกิจไทย-จีน ทั้งหอการค้าไทย หอการค้าไทย-จีน ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ ซึ่งเวทีนี้ถือเป็นเวทีสำคัญที่ยกระดับความร่วมมือไทย-จีนไปอีกขั้น ช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะบทบาทศักยภาพทางด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นไป ซึ่งครั้งนี้ภาคเอกชนไทยและจีนจะร่วมกันเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ อันเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เชื่อมั่นว่าด้วยสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานและความเข้าใจอันดีระหว่างทั้งสองประเทศ จะอำนวยประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไทยและจีน ดั่งเป็นครอบครัวเดียวกันสืบต่อไป

ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

           นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า ไทยอยู่ในตำแหน่งศูนย์กลาง มีข้อตกลงความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีความเข้มแข็ง มีสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีจุดแข็งต่าง ๆ เช่น มีพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ มีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญไทยพร้อมให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกการลงทุนจากนักลงทุนจีนอย่างต่อเนื่อง
ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

           “จีน ถือเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ปีก่อนมีการลงทุนมากที่สุด มีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.59 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว คิดเป็น 24% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด โดยมูลค่าเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากโครงการขนาดใหญ่ เงินลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์สำหรับระบบที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และวัตถุดิบสำหรับเซลล์แสงอาทิตย์ กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าแทบทุกยี่ห้อ ของจีน ซึ่งไทยพร้อมรับการลงทุนจากไทยอย่างเนื่อง เชื่อว่าจากเวทีการประชุมครั้งนี้จะได้เห็นการลงทุนต่อไป"
ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก : dailynews.co.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดยิ่งใหญ่ ประชุม อาร์เซป บิสซิเนส จีน-ไทย หนุนจีนตั้งฐานเทคโนโลยีชั้นสูง ขยายประตูการค้า อัปเดตล่าสุด 5 มิถุนายน 2567 เวลา 15:00:17 2,220 อ่าน
TOP