ยืนยันแล้ว รอยตีนไดโนเสาร์ของจริง บนภูหินร่องกล้า คาดอายุร่วม 120 ล้านปี

          ยืนยันแล้ว รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า เป็นของจริง คาดมีอายุถึง 120 ล้านปี พบร่องรอยกระจายกว่า 10 รอย เป็นแนวทางเดิน
 รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

         วันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายโกเมศ พุทธสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายลำยอง ศรีเสวก หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก ว่ามีผู้พบเห็นร่องรอยลักษณะคล้ายรอยตีนไดโนเสาร์ บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ใกล้ลานกางเต็นท์อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งนายลำยองได้ดำเนินการประสานกับสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 เพื่อเข้ามาร่วมกันดำเนินการสำรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงแล้ว

          ต่อมา วันที่ 2 สิงหาคม นายโกเมศได้ลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ร่วมกับคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2, ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณี, น.ส.บุษยา เพ็ชร์มา ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เจ้าหน้าที่ประจำอุทยานฯ และผู้ค้นพบคนแรก ซึ่งเป็นครอบครัวนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการสำรวจธรรมชาติ

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          โดยทางผู้ค้นพบแจ้งว่า ค้นพบร่องรอยที่จุดนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2563 แต่ตอนนั้นยังไม่แน่ใจ และได้เข้ามาท่องเที่ยวเดินสำรวจบริเวณนี้อยู่หลายครั้ง จนแน่ใจว่าอาจจะเป็นรอยตีนไดโนเสาร์ จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่อุทยาน และเผยแพร่ไปทางสื่อสังคมออนไลน์ตามที่เป็นข่าว

          ผลการตรวจสอบเบื้องต้นจากกรมทรัพยากรธรณี พบว่าเป็นรอยตีนของไดโนเสาร์จริง ประทับอยู่บนลานหินทรายและหินโคลน จัดอยู่ในหมวดหินภูพาน ยุคครีเทเชียสตอนต้น อายุประมาณ 120 ล้านปีก่อน กระจายอยู่บนพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร รอยตีนไดโนเสาร์ที่พบมีจำนวนมากกว่า 10 รอย และแสดงเป็นแนวทางเดิน จำนวนอย่างน้อย 2 แนว ส่วนใหญ่เป็นรอยตีนของไดโนเสาร์กินเนื้อเดินสองขา กลุ่มเทอโรพอดขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ แสดงรอยประทับของของนิ้วตีนข้างละสามนิ้วชัดเจน

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          ทั้งนี้ คณะสำรวจจะลงพื้นที่สำรวจเพิ่มเติม และเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อศึกษาวิจัย และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ต่อไป

          อนึ่ง พื้นที่บริเวณรอยตีนไดโนเสาร์ที่ค้นพบใหม่นี้ เดิมเคยเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโบราณที่กว้างขวาง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและหากินของสัตว์ดึกดำบรรพ์หลายชนิด รวมถึงไดโนเสาร์ ซึ่งเดินเพ่นพ่านไปมาตามริมแม่น้ำที่เป็นดินโคลนอ่อนนุ่ม เกิดเป็นรอยตีนประทับไปบนพื้นตะกอนเป็นแนวทางเดิน

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

          ต่อมาตะกอนเหล่านี้เริ่มแห้งและแข็งขึ้นทำให้คงสภาพรอยตีนที่ประทับลงไปได้ จนเมื่อถึงฤดูน้ำหลากในปีถัดไปได้พัดพาเอาตะกอนชุดใหม่มาปิดทับทำให้ร่องรอยต่างที่อยู่ตะกอนชุดเก่าถูกเก็บรักษาไว้ใต้ดิน กาลเวลาผ่านกว่าร้อยล้านปีตะกอนค่อย ๆ แข็งตัวกลายเป็นหินตะกอน จำพวกหินทรายและหินโคลน ฝังอยู่ใต้ผิวโลก ต่อมากระบวนการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกทำให้ชั้นหินตะกอนเหล่านี้ถูกยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขาสูง และถูกกัดเซาะโดยฝนและทางน้ำในปัจจุบัน ทำให้ชั้นหินที่มีรอยตีนไดเสาร์ประทับอยู่โผล่ขึ้นมาบนผิวโลก จึงเป็นเหตุว่าทำไมจึงพบรอยตีนไดโนเสาร์ประทับอยู่บนหินแข็งที่อยู่บนภูเขาสูง
 

          พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า เคยมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์รอยตีนไดโนเสาร์แล้ว บริเวณลำน้ำหมันแดง ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ห่างออกไปจากจุดที่ค้นพบใหม่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 35 กิโลเมตร และเป็นไดโนเสาร์กลุ่มเทอโรพอดเช่นเดียวกัน 

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

รอยตีนไดโนเสาร์ บนภูหินร่องกล้า
ภาพจาก เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรธรณี

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, กรมทรัพยากรธรณี


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยืนยันแล้ว รอยตีนไดโนเสาร์ของจริง บนภูหินร่องกล้า คาดอายุร่วม 120 ล้านปี โพสต์เมื่อ 3 สิงหาคม 2567 เวลา 10:27:59 11,281 อ่าน
TOP
x close