CCS เทคโนโลยีดักจับ CO2 จากมลพิษในอากาศ สู่การกักเก็บในชั้นดิน

นับจากนี้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน จะค่อย ๆ หมดไปด้วย CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเราจะพาไปทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2

เพื่อก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและร่วมมือกัน ตอนนี้หลายประเทศเลยนำ CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ รวมถึงในประเทศไทย คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ตามไปดูกันเลย

เทคโนโลยี CCS คืออะไร

CCS ย่อมาจาก Carbon Capture and Storage เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงไฟฟ้า มาปรับความดันให้เหมาะสม แล้วขนส่งไปกักเก็บไว้ในชั้นหินทางธรณี ซึ่งมีทั้งแหล่งกักเก็บบนฝั่ง (Onshore) และนอกชายฝั่ง (Offshore) อย่างปลอดภัยและถาวร ไม่เกิดการปล่อยออกสู่บรรยากาศอีก

ประเภทแหล่งกักเก็บ CO2

CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2 กระบวนการ

แหล่งกักเก็บมี 3 ประเภท คือ ชั้นหินอุ้มน้ำเค็มใต้ดิน (Saline Aquifers), ชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียมที่ผลิตไปแล้ว (Depleted Reservoirs) และเพิ่มอัตราการผลิตด้วยการอัดกลับของ CO2 (CO2 for EOR)

นอกจากนี้แหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังผ่านการสำรวจแล้วว่าปลอดภัย โดยหลุมมีความลึกอย่างน้อย 800 เมตร ส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000-3,000 เมตร ซึ่งเป็นระดับที่ห่างไกลจากผู้คน ชั้นหินหนาปิดผนึกแน่นทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่สามารถซึมผ่านได้ เมื่อเวลาผ่านไปก๊าซก็จะเปลี่ยนสภาพเป็นของแข็งที่เสถียรและปลอดภัย นอกจากนี้ในระหว่างการดำเนินโครงการยังมีการติดตามตรวจสอบการรั่วไหล 3 ระดับ คือ ในแหล่งกักเก็บชั้นใต้พื้นดิน ชั้นใกล้ผิวดิน และชั้นบรรยากาศ ผ่าน MMV Program (Monitoring, Measurement and Verification)

  • ตรวจวัดคุณสมบัติของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก่อนการอัด
  • ออกแบบหลุม Injection และหลุม Monitoring
  • ตรวจสอบและบำรุงรักษาสภาพหลุม
  • ตรวจวัดความดันขณะอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ติดตามการกระจายตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • ตรวจสอบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บริเวณพื้นที่กักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ประโยชน์ของเทคโนโลยี CCS

เทคโนโลยี CCS นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเกิดภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มการลดผลกระทบจาก CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน) อีกทั้งยังช่วยให้ GDP สูงขึ้น เพราะจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนคาร์บอนต่ำ ตามมาด้วยการสร้างงานที่เพิ่มขึ้น

การนำเทคโนโลยี CCS ไปใช้ในประเทศต่าง ๆ

CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บ CO2 ประโยชน์

ปัจจุบันมีการทำโครงการ CCS ที่ดำเนินการอยู่ใน 41 แห่ง หลายประเทศทั่วโลก อาทิ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เพราะได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้จัดการบริหาร CO2 ในปริมาณมากได้ เหมาะกับอุตสาหกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ยาก และช่วยให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้

สำหรับในประเทศไทย นำโดย กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้นำร่องศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCS ภายใต้โครงการ Eastern Thailand CCS Hub บริเวณพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. ใน EEC จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โครงการในระยะแรกจะเน้นที่การบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ กลุ่ม ปตท. ได้แก่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้า และขยายขอบเขตไปยังกลุ่มโรงงานนอกกลุ่ม ปตท.

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาด้านเทคนิควิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์

เรียกได้ว่าตอนนี้ CCS เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะสามารถดักจับและกักเก็บ CO2 ที่มีปริมาณมากได้ อีกทั้งยังมีประโยชน์มากมายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
CCS เทคโนโลยีดักจับ CO2 จากมลพิษในอากาศ สู่การกักเก็บในชั้นดิน อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2567 เวลา 10:25:26 9,082 อ่าน
TOP