รู้จัก งานพิเศษสายดาร์ก สู่คดีปล้นจี้-ความรุนแรงในญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องขณะนี้

          รู้จัก งานพิเศษสายดาร์ก สู่คดีปล้นจี้ ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นทั่วญี่ปุ่น ภัยร้ายที่ตำรวจพยายามสกัด จนมีกระแสเตือนให้ระวังตัว

รู้จัก งานพิเศษสายดาร์ก
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารในประเทศญี่ปุ่น ก็อาจจะพอได้ทราบเรื่องเกี่ยวกับ "งานพิเศษสายดาร์ก" กันมาบ้าง ซึ่งหลายคนก็คงสงสัยว่างานพิเศษสายดาร์กนี้คืออะไร เหตุใดจึงกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในระยะนี้ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องนั้นมีความรุนแรงแค่ไหน จนต้องมีคนออกมาเตือนให้ระมัดระวังตัว


รู้จัก งานพิเศษสายดาร์ก
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

งานพิเศษสายดาร์ก ว่าจ้างคนมาก่อคดี


          สำหรับงาน งานพิเศษสายดาร์ก หรืองานพาร์ตไทม์ผิดกฎหมาย (闇バイト) คือการว่าจ้างคนในมาก่อเหตุอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่การฉ้อโกง ปล้นจี้ ปล้นบ้านผู้สูงอายุ ซึ่งในบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นมีการฆาตกรรมเหยื่อ

          โดยจากข้อมูลของสำนักข่าว NHK เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2567 พบว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับงานพิเศษสายดาร์กนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเขตมหานครโตเกียว จนมีการจับกุมผู้ต้องหาไปแล้วว่า 30 ราย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ก่อเหตุ คนดูต้นทาง รวมถึงคนเก็บเงิน

          นอกจากนี้ Yahoo Japan ยังมีรายงานเหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปฆ่าคนแก่วัย 75 ปี ในบ้านหลังหนึ่งในเมืองโยโกฮาม่า พร้อมขโมยเงินสดไป 200,000 เยน (ราว 44,000 บาท) ซึ่งต่อมาสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้คือ นายทาคาดะ มาซูกิ ชายวัย 22 ปี จากจังหวัดชิบะ โดยพบว่าคดีนี้เป็นหนึ่งในคดีที่เชื่อมโยงกับคดีปล้นทรัพย์อื่น ๆ ซึ่งถูกเตรียมการและบงการโดยกลุ่มคนที่รับสมัครหาคนมาทำงานพิเศษผิดกฎหมาย

          ที่น่าสนใจคือผู้ต้องสงสัยในคดีนี้ เป็นคนเงียบ ๆ ที่คล้ายจะไม่มีพิษภัยอะไร โดยข้อมูลจากปู่ที่อาศัยอยู่ด้วยกันและเพื่อนสนิทของเขา ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า นายทาคาดะ เป็นคนเก็บตัวที่เงียบขรึมกว่าคนทั่วไป ก่อนที่จะเกิดเหตุยังไปเที่ยวเล่นที่งานเทศกาลกับเพื่อนและกินอาหารด้วยกัน โดยไม่ได้พูดถึงเรื่องงานพิเศษที่น่าสงสัย รวมถึงไม่เคยพูดถึงปัญหาการเงินใด ๆ ข่าวการจับกุมนี้ทำให้คนรอบข้างเขาต่างก็ตกใจ

          โดยเพื่อนสนิทเชื่อว่านายทาคาดะน่าจะตกหลุมพราง คิดว่าตัวเองแค่มาทำงานพิเศษทั่ว ๆ ไป และเพิ่งรู้ว่าจะต้องก่ออาชญากรรมตอนที่ถูกสั่งให้ทำ นายทาคาดะยังอ้างกับตำรวจตอนถูกสอบปากคำด้วยว่า ตนเองปฏิเสธไม่ได้เพราะถูกเจ้านายข่มขู่ ว่าครอบครัวจะมีอันตรายหากไม่ทำตามคำสั่ง

จากปากคนที่เคยรับจ๊อบ เข้าไปทำได้ยังไง


          นักข่าวของ NHK ยังได้พูดคุยกับผู้กระทำความผิดรายอื่น ๆ ที่ถูกจับกุมเนื่องจากก่อคดีอาญา หลังเข้าไปพัวพันกับงานพิเศษสายดาร์ก ทำให้พอเห็นภาพรวมของลักษณะในการประกาศหาคน ตลอดจนวิธีการที่ใช้ขู่บังคับผู้ที่หลงเชื่อให้เข้ามาก่อเหตุ ซึ่งจุดจบที่รอคนเหล่านี้อยู่ก็คือโทษจำคุก

          นายเอ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังวัย 20 ปี ที่ถูกจำคุกจากการมีส่วนร่วมในการปล้น ภายใต้คำสั่งของผู้นำที่เรียกตัวเองว่า ลูฟี่ เปิดใจกับนักข่าวว่า การเข้าไปทำงานพิเศษที่ผิดกฎหมายนี้ คือจุดเริ่มต้นของตอนอวสาน สิ่งที่รออยู่ในท้ายที่สุดก็คือโทษจำคุก

          นายเอ เล่าว่า เหตุผลที่เขาสมัครทำงานพิเศษนี้เพราะตัวเองมีหนี้สินกว่า 2 ล้านเยน (ราว 440,000 บาท) เขาพบโพสต์บนโซเชียลซึ่งมีเนื้อหาประมาณว่า "ค่าแรงวันละ 100,000 เยน" (ราว 22,000 บาท) และ "งานพาร์ตไทม์รายได้สูง" เลยติดต่อไป จากนั้นก็ได้รับคำสั่งให้สื่อสารกับอีกฝ่ายผ่านแอปฯ ที่มีการรักษาความลับระดับสูง โดยข้อความใด ๆ ที่ถูกส่งมา จะหายไปเองเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง

          ในขั้นตอนการสมัครงานนั้น อีกฝั่งได้ขอให้เขาส่งรูปใบขับขี่กับที่อยู่ครอบครัวไปให้ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ โดยอ้างว่าเป็นการขอข้อมูลเหมือนการสมัครงานทั่วไป เขาคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย แถมอีกฝ่ายก็พูดจาสุภาพมาก จึงหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนตัวไป นับจากนั้นเขาก็ไม่สามารถถอนตัวได้  

          เอถูกแนะนำให้รู้จักคนที่ทำงานเกี่ยวกับการฉ้อโกง แต่ตอนนั้นอีกฝ่ายบอกเขาว่า จะมีงานปล้น ซึ่งมีรางวัลครั้งละ 1 ล้านเยน (ราว 220,000 บาท) แม้เอกลัวว่าจะถูกตำรวจจับ แต่เพราะจำนวนเงินที่ล่อใจ เขาจึงเข้าร่วมการปล้นครั้งแรกและได้ค่าตอบแทนมา 1 ล้านเยน

          ต่อมา ลูฟี่ ขอให้เขาร่วมการปล้นครั้งที่ 2 เอคิดที่จะปฏิเสธ แต่กลับถูกข่มขู่ว่า "เรามีข้อมูลส่วนตัวของนาย" และ "เราจะตามล่าครอบครัวนาย" ทำให้เขาไม่มีทางเลือก เขาหวาดกลัวจนคิดจะปรึกษาตำรวจ แต่ก็กลัวว่าจะถูกจับจากการปล้นที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ทำให้เขาไม่ได้บอกตำรวจ จนสุดท้ายก็เข้าร่วมการปล้นครั้งที่ 2 และถูกจับ ก่อนจะถูกตัดสินโทษจำคุก 9 ปี

          ทางด้าน บี (นามสมมติ) ชายวัย 30 กว่าปี ซึ่งถูกตัดสินโทษจำคุกเพราะมีส่วนในคดีฉ้อโกง จากการทำงานพิเศษสายดาร์ก ยอมรับว่าที่ตัวเองสมัครงานพิเศษนี้เพราะมีหนี้พนัน เขาพยายามหางานผ่านโซเชียล ที่เสนอค่าจ้างสูง ๆ ภายในระยะเวลาทำงานสั้น ๆ ก่อนจะติดต่องานนี้ไป จากนั้นก็ถูกขอให้ดาวน์โหลดแอปฯ ที่มีการรักษาความลับสูงเพื่อสื่อสารกัน

          เขายอมรับว่าได้ส่งภาพใบขับขี่ บัญชีธนาคาร และที่อยู่ของพ่อแม่ให้นายจ้างไป และถูกขู่ว่าหากหนีไปกลางคัน จะมีบางอย่างเกิดขึ้นกับบ้านพ่อแม่เขา

ตำรวจเตือน ย้ำถ้าหลวมตัวแล้ว หนีไม่ได้


          ทั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ยังได้เผยแพร่ข้อมูลเตือนภัย หากพบเห็นประกาศรับสมัครงานตามโซเชียลหรือบนโลกออนไลน์ ซึ่งบอกว่าเป็นงานรายได้สูง จ่ายค่าจ้างทันที หรือเป็นแค่งานรับเอกสาร โดยไม่ได้ให้รายละเอียดของงานที่ชัดเจน แท้จริงแล้วนั่นอาจเป็นงานพิเศษสายดาร์ก ขออย่าเอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานลักษณะดังกล่าว ยิ่งหากมีการขอให้ติดต่อกันผ่านแอปฯ ที่ไม่รู้จัก เน้นการเก็บความลับ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกี่ยวข้องกับเหตุอาชญากรรม

          ข้อมูลจากทางตำรวจ ย้ำว่า เมื่อเข้าไปเกี่ยวข้องแล้ว แม้อยากจะออกหรือเลิกทำ ก็จะถูกข่มขู่ว่า "จะไปที่บ้านคุณ" หรือ "จะทำร้ายคนรอบตัวคุณ" โดยใช้ข้อมูลส่วนตัวและคนในครอบครัวที่ให้ไปตอนสมัครงาน จากนั้นจะไม่สามารถหนีไปไหนได้จนกว่าจะถูกจับ โดยหลังจากใช้งานคนที่จ้างมาแล้ว ทางกลุ่มที่อยู่เบื้องหลังก็จะมองคนเหล่านี้เป็นเหมือนเบี้ยที่ใช้แล้วทิ้ง

          "ไม่มีดีลดี ๆ แบบนั้นบนโลก ถ้าไม่มั่นใจและคิดว่าน่าสงสัย อย่าตัดสินใจเอาเองหรือคิดว่าจะทำไปจนกว่าจะเก็บเงินได้ หรือคิดว่าจะทำแค่ครั้งเดียวแล้วไม่เป็นไร ขอให้ปรึกษาคนในครอบครัวและคนรอบตัว หรือปรึกษาตำรวจทันที" สำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น ระบุ

ขอบคุณข้อมูลจาก Yahoo Japan, NHK, National Police Agency







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก งานพิเศษสายดาร์ก สู่คดีปล้นจี้-ความรุนแรงในญี่ปุ่น ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องขณะนี้ อัปเดตล่าสุด 25 ตุลาคม 2567 เวลา 16:48:37 6,829 อ่าน
TOP
x close