ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา LNG ของโลก ทำไมไทยกำหนดเองไม่ได้

ตามไปดูปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทานจากทั่วโลกที่ส่งผลกระทบต่อราคา LNG แล้วจะหายข้องใจว่าทำไมเราถึงกำหนดราคาพลังงานเองไม่ได้

หลายครั้งที่เกิดคำถามว่าทำไมประเทศไทยไม่สามารถกำหนดราคา LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว ได้เอง ในเมื่อไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและอีกส่วนหนึ่งเรานำเข้าจากต่างประเทศ วันนี้เราไปหาคำตอบมาฝากแล้ว

LNG สินค้าโภคภัณฑ์ที่ซื้อ-ขายกันทั่วโลก

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภท Commodity ที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติ ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งมีการซื้อ-ขายในตลาดโลก โดยประเทศไทยเป็นเพียงผู้นำเข้ารายหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาได้

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา LNG ของโลก

LNG

ตลาดซื้อ-ขาย LNG ของโลกมี 3 แห่งหลัก ๆ คือ ตลาดภูมิภาคยุโรป ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ และตลาดภูมิภาคเอเชีย แม้แต่ละภูมิภาคจะมีราคาที่แตกต่างกัน แต่มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคาทั้งจากด้านอุปสงค์ (Demand) และอุปทาน (Supply) ดังนี้  

ปัจจัยด้านอุปสงค์

ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ LNG ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ สาเหตุที่ทำให้ราคา LNG เพิ่มขึ้น ได้แก่ 

  • สภาวะอากาศที่แปรปรวน เช่น ฤดูหนาวที่รุนแรงในช่วงปี ค.ศ. 2017-2018 ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ หรือฤดูร้อนที่ร้อนจัดในช่วงปี ค.ศ. 2022-2023 ในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศมากขึ้น
  •  การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ทำให้มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากการกลับมาขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน
  • ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ยุโรปต้องการ LNG เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติทางท่อจากรัสเซีย

ในทางกลับกันหากความต้องการ LNG น้อยลง อย่างช่วงภาวะเศรษฐกิจหยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงปี ค.ศ. 2020-2021 ก็ส่งผลให้ราคา LNG ลดลงเช่นกัน

ปัจจัยด้านอุปทาน

เกิดสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและส่งออก LNG ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น

  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การเกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ที่ทำให้มีการส่งออก LNG น้อยลง
  • ผลกระทบในช่วงโควิด-19 ทำให้โครงการ LNG Liquefaction ใหม่ ๆ ที่กำลังจะมีการลงทุนในอนาคตเกิดความล่าช้า ส่งผลให้ไม่สามารถเพิ่มอัตราการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ

แต่ในทางกลับกันเมื่อมีการพัฒนาโครงการใหม่ เช่น แหล่งก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาน (Shale Gas) ที่อเมริกาเหนือ ในช่วงปี ค.ศ. 2015 ก็ทำให้ราคา LNG ลดลงได้เหมือนกัน

นอกจากนี้หากไม่มีวิกฤตเพิ่มเติม และสถานการณ์ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครนสิ้นสุดลง ปัจจัยด้านอุปทานเริ่มคลี่คลาย การลงทุนโครงการ LNG Liquefaction สามารถกลับมาดำเนินการต่อได้ ราคา LNG ก็อาจจะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ราคา LNG อาจจะกลับเข้าสู่เสถียรภาพในปี ค.ศ. 2028 

การซื้อ ขาย LNG

ปัจจัยราคา LNG ในไทย

สำหรับในประเทศไทย ขณะนี้ยังต้องรับความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาที่อาจจะเกิดขึ้นจากทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างฝั่งสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก กับฝั่งจีนและรัสเซีย รวมถึงความเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

LNG หรือก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่จำเป็นต้องอ้างอิงราคาจากตลาดโลก ซึ่งมีหลายปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทานเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่สามารถกำหนดราคา LNG เองได้ อีกทั้งในช่วงที่มีความต้องการใช้มากขึ้นก็ยังมีการจัดหาพลังงานจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ

ขอบคุณข้อมูลจาก : Eppo Thailand, settrade.com และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคา LNG ของโลก ทำไมไทยกำหนดเองไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 11 พฤศจิกายน 2567 เวลา 00:09:13 2,585 อ่าน
TOP
x close