x close

สิ้นบรมครูเพลง พยงค์ มุกดา


พยงค์ มุกดา
ครูพยงค์ มุกดา

ครูพยงค์ มุกดา
ครูพยงค์ มุกดา


ครูเพลงดัง"พยงค์ มุกดา"เสียชีวิตแล้ว (คมชัดลึก)

          ศิลปินแห่งชาติและครูเพลงชื่อดัง"พยงค์ มุกดา" เสียชีวิตแล้ว ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

          เมื่อวันที่ 12 ก.พ. นายวินัย พันธุรักษ์ ลูกศิษย์ ครูพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล) ปี 2534 เปิดเผยว่า ครูพยงค์ มุกดา ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และไตวาย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ในเวลา 10.00 น. ของวันเดียวกันนี้ รวมอายุได้ 83 ปี โดยทางญาติและเหล่าลูกศิษย์ จะเคลื่อนศพของครูพยงค์ ไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 ก.พ. และจะมีพิธีรดน้ำศพ เวลา 16.00 น. โดยกำหนดการสวดพระอภิธรรมศพ ตั้งแต่วันที่ 13-19 ก.พ. รวม 7 วัน

          "ก่อนที่ครูพยงค์ จะเสียชีวิต ไม่ได้ฝากอะไรไว้เป็นพิเศษ ส่วนตัวผมจะรับหน้าที่ดูแลเรื่องของลิขสิทธิ์เพลงให้ครูพยงค์ ซึ่งจะทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด เพราะครูพยงค์ได้แต่งเพลงที่มีคุณค่าไว้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เหล่าลูกศิษย์ของครูต่างเสียใจกับการจากไปครั้งนี้ และนับว่าเราได้สูญเสียครูเพลงที่สำคัญไปอีกท่านหนึ่ง" นายวินัย กล่าว

          ด้านนายสมชาย เสียงหลาย เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ได้รับทราบว่า ครูพยงค์ ได้เสียชีวิตลงแล้ว ก็รู้สึกเสียใจที่ประเทศไทยได้สูญเสียศิลปินที่มีความสามารถ สูญเสียปูชนียบุคคลที่สำคัญด้านวงการเพลงไปอีกหนึ่งท่าน อย่างไรก็ตาม สวช. จะเป็นผู้ดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพ ช่วยเหลือเงินเมื่อเสียชีวิต เพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 15,000 บาท และช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตอีก 120,000 บาท

ประวัติ ครูพยงค์ มุกดา 

          สำหรับ ครูพยงค์ มุกดา เกิดวันที่ 4 พค.2469 เป็นชาวราชบุรีเป็นบุตรนายแก้ว และนางบุญ มุกดา เกิดบนเรือกลางแม่น้ำแม่กลองบริเวณต.ท่าเสา จ.ราชบุรี จบชั้น ป.4 จากโรงเรียนเทศบาล วัดราชนัดดาราม เข้าสู่วงการจากการเป็นนักร้อง วงดุริยางค์กองทัพบก โดยการสนับสนุนของครูจำปา เล้มสำราญต่อมาจึงก่อตั้งวงดนตรีเป็นของตัวเองชื่อ วงพยงค์ มุกดา ซึ่งได้รับพระราชทานชื่อว่า "วงมุกดาพันธ์"

          ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานออกมาจำนวนมาก เคยเป็นนักร้อง นักแสดง นักจัดรายการวิทยุ เคยแสดงภาพยนตร์ เช่นเรื่อง เสน่ห์บางกอก, ไซอิ๋ว เคยอยู่ วงดุริยางค์กองทัพเรือ เป็นผู้ประพันธ์เพลงมาร์ช เช่น "สหมาร์ชราชนาวี", "มาร์ชสามัคคีสี่เหล่า", นาวีบลู

          ในฐานะนักแต่งเพลง ครูพยงค์ มุกดา มีผลงานทั้งเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง และเพลงมาร์ช ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง"นกขมิ้น" (ขับร้องโดย ธานินทร์ อินทรเทพ) "ช่อทิพย์รวงทอง" (ขับร้องโดยสมยศ ทัศนพันธ์)"นางรอง" และ "รักใครไม่เท่าน้อง" (ขับร้องโดย ทูล ทองใจ) "ลูกนอกกฎหมาย" (ขับร้องโดยศรีสอางค์ ตรีเนตร)"รอพี่กลับเมืองเหนือ"(ขับร้องโดยพรทิพย์ภา บูรณกิจบำรุง) "เด็ดดอกรัก" (ขับร้องโดย ชรินทร์ นันทนาคร) และ "ฝั่งหัวใจ" ขับร้องโดย บุษยา รังสี

          ในปี พ.ศ. 2532 ครูพยงค์ ได้รับรางวัลพระราชทานในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย 2 รางวัล จากเพลง"สาวสวนแตง" (ขับร้องโดยสุรพล สมบัติเจริญ) และ "ล่องใต้" (ขับร้องโดยชัยชนะ บุญนะโชติ) และในปี พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 3 รางวัล จากเพลง "ยอยศพระลอ" (ขับร้องโดย ชินกร ไกรลาศ) "น้ำตาสาวตก" (ขับร้องโดย ศรีสอางค์ ตรีเนตร) และ "ลูกทุ่งเสียงทอง" (ขับร้องโดย เพชร พนมรุ้ง)

          ในปี พ.ศ. 2534 พยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลงไทยสากล-เพลงลูกทุ่ง) นอกจากนี้ ลูกศิษย์ของท่านถึง 2 คน ก็ได้รับเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ เช่นกัน คือ ชัยชนะ บุญนะโชติ(พ.ศ. 2541) และ ชินกร ไกรลาศ(พ.ศ. 2542)

          ในปี พ.ศ. 2551 ครูพยงค์ มุกดา ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินอาวุโส รางวัลนราธิปประจำปี พ.ศ. 2550

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก snr.ac.th, คมชัดลึก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สิ้นบรมครูเพลง พยงค์ มุกดา อัปเดตล่าสุด 12 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 15:43:56 20,360 อ่าน
TOP