เปิดประวัติ เสธ.แดง จากวันวาน ก่อนก้าวสู่ เสื้อแดง

เสธ.แดง

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง



เสธ.แดง ถูกยิง อาการสาหัส รายงานข่าวจาก cnn




คลิป เสธแดง ให้สัมภาษณ์ก่อนถูกยิง



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

         เชื่อว่า นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ที่มีลักษณะท่าทางแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า "ฮาร์ดคอร์" ทั้งการบุคลิก การกระทำ และคำพูด จนโดนใจคนเสื้อแดงหลาย ๆ คน ขณะที่ใครหลาย ๆ คนไม่ชอบหน้า เสธ.แดง ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เสธ.แดง ยังมีชื่อในข่ายบุคคลที่ต้องสงสัยว่า เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดป่วนเมืองที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ครั้งอีกด้วย ... แต่แล้วเมื่อคืนวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา เสธ.แดง กลับถูกมือมืดลอบยิงที่ศีรษะด้วยปืน ขณะให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จนการ์ดต้องเร่งหามส่งโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์ก็ออกมาแถลงว่า เสธ.แดง มีอาการสาหัส เสี่ยงเสียชีวิตสูงมาก เพราะกระสุนเข้าที่เนื้อสมอง สามารถอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น

         และกว่าที่ เสธ.แดง จะก้าวขึ้นมายืนถึงจุดนี้ ชีวิตของ เสธ.แดง ผ่านเหตุการณ์อะไรมาบ้างนั้น วันนี้กระปุกจะพาไปย้อนเส้นทางชีวิตของ เสธ.แดง กันค่ะ




เสธ.แดง




 ประวัติและชีวิตส่วนตัวของ เสธ.แดง


         สำหรับ เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2494 ปัจจุบันอายุ 59 ปี เสธ.แดง เป็นลูกชายคนสุดท้องของ ร.อ.สนิท สวัสดิผล และนางสอิ้ง สวัสดิผล โดย เสธ.แดง มีพี่สาวอีก 3 คน ส่วนชีวิตสมรส เสธ.แดง แต่งงานกับ น.อ.จันทรา สวัสดิผล แต่ได้เสียชีวิตไปด้วยโรคมะเร็ง เมื่อปี พ.ศ.2547 ทั้งคู่มีลูกสาวด้วยกัน 1 คน คือ น้องเดียร์ - น.ส.ขัตติยา  สวัสดิผล 

 ประวัติด้านการศึกษา ของ เสธ.แดง

         เสธ.แดง เริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนโพธาราม ก่อนจะไปจบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนศรีวิกรม์ และได้เข้าศึกษาวิชาด้านการทหารจนจบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63 

         เมื่อเรียนจบด้านการทหารแล้ว เสธ.แดง ยังได้เข้าศึกษาหาความรู้ต่อในระดับปริญญาอีกหลายสาขา จนคว้าปริญญาตรี ครุศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.2528 คว้าปริญญาโท คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อปี พ.ศ.2539 ได้รับปริญญาตรี นิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม เมื่อปี พ.ศ.2545 ปริญญาตรี เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี พ.ศ.2547 และสุดท้ายเพิ่งจบปริญญาเอกสาขาบริหารรัฐกิจ UNIVERSITY OF NORTHERN PHILIPPINES เมื่อปี พ.ศ.2551 

         นอกจากนี้ เสธ.แดง ยังเคยเข้าอบรมหลักสูตรต่าง ๆ คือ หลักสูตรสงครามนอกแบบ, หลักสูตรข่าวลับ, หลักสูตรคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรภาษาอังกฤษ

 ประวัติด้านการรับราชการของ เสธ.แดง

         เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในยศร้อยตรี และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าช่วงปี พ.ศ.2529 ก่อนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2536

         จากนั้น เสธ.แดง ได้มาเป็นทหารติดตามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และได้มาเป็นนายทหารคนสนิทของ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อปี พ.ศ.2541 และได้เป็นผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด และกลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกในปีถัดมา ก่อนที่ เสธ.แดง จะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายทหารพิเศษ ประจำกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์ เมื่อปี พ.ศ.2543 


 บทบาททางการเมืองของ เสธ.แดง

         แม้ เสธ.แดง จะรับราชการมานาน และติดตามบุคคลทางการเมืองหลาย ๆ คน แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ เสธ.แดง เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็มาจากคดีความรื้อบาร์เบียร์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อ เสธ.แดง ได้กล่าวหาว่า พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ใช้อำนาจโดยมิชอบ และทุจริตการจัดซื้อ-จัดจ้าง การทำสำนวนคดีรื้อถอนบาร์เบียร์เพื่อช่วยเหลือนายชูวิทย์ ทำให้ พล.ต.อ.สันต์ ออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย จนเป็นเรื่องเป็นราวอยู่พักหนึ่ง

         จากนั้น ชื่อของ เสธ.แดง ก็เป็นที่โจษจันอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2548 เสธ.แดง ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายการฆ่าตัดตอนในการทำสงครามกวาดล้างยาเสพติดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างเผ็ดร้อน เพราะเห็นว่านโยบายดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงยิ่งขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

         ต่อมาในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เมื่อปี พ.ศ.2551 เสธ.แดง ได้ไปปรากฎในที่ชุมนุมด้วย โดยบอกว่า มาสังเกตการณ์ แต่แล้วไม่นานนัก เสธ.แดง ก็ได้โต้ตอบกลับกลุ่มพันธมิตร ที่หยิบยกประเด็นเรื่องปราสาทเขาพระวิหาร มาพัวพันกับทางการเมืองและกล่าวโจมตี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก จากกรณีนี้ เสธ.แดง ได้ออกมาปกป้องกองทัพ ทั้งเรื่องประเด็นทุจริตรถเกาะยูเครน 8 ล้อ และเรื่องท่าทีของ พล.อ.อนุพงษ์ ต่อกรณีเขาพระวิหาร ซึ่งครั้งนั้น เสธ.แดง ได้ถูกกรรมการสอบวินัย หลังวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.อนุพงษ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาว่า "หน่อมแน้ม" แต่ครั้งนั้น เสธ.แดง เพียงแค่ถูกติงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เท่านั้น ไม่ได้มีบทลงโทษแต่อย่างใด

         แต่แล้ว เสธ.แดง ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.อนุพงษ์ อีกหลายครั้ง ทั้งกรณีที่ไม่นำกำลังออกมาช่วยเหลือรัฐบาลตามคำสั่งของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กรณีกลุ่มพันธมิตรที่ไปยึดสนามบิน รวมทั้งการนำผู้นำเหล่าทัพไปออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ เพื่อขอให้นายสมชาย ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.อนุพงษ์ หลาย ๆ ครั้งทำให้ เสธ.แดง ถูกสั่งพักราชการ แต่ เสธ.แดง กลับไม่ยอมรับ โดยอ้างว่า กองทัพไม่มีอำนาจสั่งพักราชการทหารระดับนายพล ตั้งแต่นั้นมา เสธ.แดง ก็ยืนเป็นปรปักษ์กับ พล.อ.อนุพงษ์ มาโดยตลอด และหันไปเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. พร้อมกับคำพูดติดปากที่ว่า "แต๋วแตก กลัวตาย" ทำให้กองทัพออกมาวิจารณ์ว่า การกระทำของ เสธ.แดง ไม่เหมาะสม จนหน่วยงานทหารหลายหน่วยได้ออกมาปกป้องศักดิ์ศรีของกองทัพ 

         ทั้งนี้ เสธ.แดง ได้เคยออกมาพูดเป็นนัยถึงเหตุการณ์ระเบิดป่วนเมืองหลาย ๆ ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิดใส่กลุ่มพันธมิตร หรือสถานที่ราชการต่าง ๆ ชวนให้คนเกิดความสงสัยถึงผู้บงการก่อเหตุ จนกระทั่งต่อมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจค้านบ้านพักของ เสธ.แดง และพบอาวุธปืน อาวุธสงคราม รวมทั้งยังได้เข้าค้นบ้านพักของ เคทอง หรือ นายพรวัฒน์ ทองสมบูรณ์ คนสนิทของ เสธ.แดง พร้อมยึดอาวุธปืน ระเบิดได้เป็นจำนวนมาก

         ขณะที่อีกด้าน เสธ.แดง ก็ได้มีปัญหาขัดแย้งกับนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กรณีตั้งกองทัพประชาชน โดยไม่ได้มีการประสานการทำงานกับกลุ่มเสื้อแดง พร้อมกับประกาศไม่เกี่ยวข้องกับ เสธ.แดง แต่ เสธ.แดง ก็ออกมาตอบโต้ว่า ไม่ได้ต้องการแย่งตำแหน่งแกนนำ แต่จะเข้าคุมกองทัพประชาชนเท่านั้น 

         อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งของแกนนำเสื้อแดง และ เสธ.แดง เริ่มเด่นชัดขึ้น เมื่อครั้งที่แกนนำ นปช. มีมติให้การ์ดเสื้อแดงรื้อบังเกอร์บริเวณใกล้กับโรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อเปิดทางให้เข้าออกได้ แต่ เสธ.แดง กลับเข้ามาต่อต้านการรื้อบังเกอร์ เพราะกลัวว่าจะเป็นช่องทางให้รัฐบาลเข้ามาสลายการชุมนุม ถึงขนาดกระทบกระทั่งผลักอกหัวหน้าการ์ด นปช.

         จากนั้นไม่นาน เสธ.แดง ก็มีความเห็นขัดกับแกนนำ นปช. อีกครั้ง เมื่อไม่เห็นด้วยกับโรดแมปปรองดองที่รัฐบาลเสนอมา เพื่อขอให้เสื้อแดงยุติการชุมนุม เนื่องจากต้องการให้รัฐบาลยุบสภาเท่านั้น พร้อมปูดข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์มาสั่งการให้ปลดแกนนำเสื้อแดงรุ่นเก่าที่ไปประนีประนอม หรือฮั้วกับรัฐบาล และให้มาตั้งแกนนำเสื้อแดงชุด 2 ที่มีลักษณะฮาร์ดคอร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง, นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ , นายขวัญชัย ไพรพณา และ พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์ จนทำให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงกับออกปากกลางรายการเชื่อมั่นประเทศไทยฯ ว่า เสธ.แดง และอดีตนายกฯ ทักษิณ คือบุคคลที่ไม่ต้องการให้เกิดความปรองดองขึ้นตามแผนโรดแมปที่ได้เสนอ

 

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล
พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล  หรือ เสธ.แดง ถูกยิง




         อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม เสธ.แดง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เสธ.แดง ไม่กลัวตาย เพราะชีวิตนี้เคยผ่านสมรภูมิรบมาเยอะแล้ว และชีวิตคนเราก็ต้องตายทุกคน จะรวยจะจนก็ต้องตาย อยู่ที่ว่าเราจะตายอย่างมีเกียรติแค่ไหน ... พร้อมกันนี้ เสธ.แดง ยังให้สัมภาษณ์อีกว่า ชีวิตนี้ เสธ.แดง ไม่มีวันทรยศ พ.ต.ท.ทักษิณ เด็ดขาด ใครจะทิ้งก็ทิ้งไป แต่ เสธ.แดง จะขอสู้ต่อ รอดูว่าใครจะอึดกว่าใคร

         แต่แล้วหลังสิ้นเสียงให้สัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมง ในคืนวันที่ 13 พฤษภาคม ขณะที่ เสธ.แดง กำลังเตรียมการป้องกันการบุกกดดันของรัฐบาลในสถานที่ชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง พร้อมกับออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไทยและต่างประเทศ นอกบังเกอร์ ก็ได้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมีคนร้ายลอบใช้ปืนยิงศีรษะ เสธ.แดง ล้มลงต่อหน้าต่อหน้าผู้สื่อข่าว และกล้องโทรทัศน์จำนวนมากที่บันทึกภาพไว้ได้ จนการ์ดต้องรีบนำตัว เสธ.แดง ส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วน ซึ่งทางโรงพยาบาลวชิรพยาบาลก็ได้ออกมาแถลงข่าวว่า อาการของ เสธ.แดง สาหัส และเสี่ยงเสียชีวิตได้ทุกเมื่อ ซึ่งขณะนี้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจยื้อชีวิตไว้

         และจากเหตุการณ์นี้ คงทำให้ "เสธ.แดง" กลายเป็นบุคคลหนึ่งที่มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากคนหนึ่ง



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ เสธ.แดง จากวันวาน ก่อนก้าวสู่ เสื้อแดง อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2553 เวลา 21:31:05 233,024 อ่าน
TOP
x close