บอมบ์สูท ตัวละ 2 ล้าน ตัวช่วย(กู้ระเบิด) หมดอายุ !

Bombsuit

Bombsuit


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Wikipediaไทยโพสต์


          รุ่งอรุณรับศักราชใหม่ 1 มกราคม พ.ศ.2554 ณ ดินแดนแห่งความเสี่ยงภัยสูงสุดแห่งหนึ่งของไทย นายตำรวจหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด หรือหน่วย EOD (Explosive Ordnance Disposal) เสียชีวิตขณะเข้าทำการเก็บกู้ระเบิดกลางตลาดเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ท่ามกลางข้อสงสัยในชุด "บอมบ์สูท" และ "เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์" อันเป็นปราการด่านสุดท้ายในการป้องกันชีวิตเจ้าหน้าที่ แต่ยุทโธปกรณ์ทั้งสองชนิดหาได้ช่วยอะไรไม่

          แรงระเบิดทำลายล้างสูงหนัก 3 ปอนด์ ปลิดชีพ ดาบตำรวจกิตติ มิ่งสุข อายุ 50 ปี เจ้าหน้าที่เก็บกู้และทำลายระเบิดสังกัด ตชด.447 คาชุดเกราะ "บอมบ์สูท" ขณะที่ จ่าสิบตำรวจ กฤษดา ทองโอ ผบ.หมู่งานจราจร สภ.สุไหงปาดี ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตในเวลาต่อมา และมีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บอีก 9 นาย 

          จากการสอบสวนและตรวจสอบที่เกิดเหตุ พบว่า คนร้ายมุ่งหมายเอาชีวิตเจ้าหน้าที่ชุด EOD เนื่องจากหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิด ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ประมาท และทำตามขั้นตอนการเก็บกู้ทุกประการ โดยก่อนจะเกิดระเบิดขึ้น ตำรวจกับทหารได้เข้าไปสังเกตการณ์ก่อนแล้ว 2 ครั้ง แต่คนร้ายไม่กดจุดชนวน กระทั่งเจ้าหน้าที่ชุด EOD เข้าไป จึงทำการกดระเบิด และระเบิดที่คนร้ายใช้ก็ยังเป็นระเบิดแรงสูงที่หมายเอาชีวิตด้วย

          อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้คนไทยตั้งคำถามถึงเรื่องชุด "บอมบ์สูท" และ "เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์" ว่าใช้การได้ประสิทธิภาพแค่ไหน และประเด็นกังขาที่ว่า บอมบ์สูท สนนราคาตัวละ 2 ล้านบาท แต่หมดอายุจริงหรือไม่ ???

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด.ต.สว่าง มาลัย รองหัวหน้าชุดเก็บกู้วัตถุระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ชุดบอมบ์สูท หรือ Blast (ชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิด) ที่มีใช้อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากกว่า 10 ชุด โดยเป็นของที่ผลิตจากประเทศแคนนาดา ราคาประมาณ 2 ล้านบาทต่อ 1 ชุด ได้รับมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 สามารถรับแรงระเบิดที่ขนาด 1.5 ปอนด์ จึงมีความสามารถป้องกันระเบิดได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น หรือผ่อนจากหนักเป็นเบา ไม่ได้ปลอดภัยจากแรงระเบิด 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในการปฏิบัติงานพิสูจน์ทราบวัตถุต้องสงสัยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้เน้นการสวมชุดบอมบ์สูท แต่จะใช้รถยนต์หุ้มเกราะที่มีความปลอดภัยมากกว่า ส่วนการใช้ชุด บอมบ์สูท จะมีการพิจารณาเป็นครั้งคราวเท่านั้น

          ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า บอมบ์สูท ถูกออกแบบมาเพื่อทนต่อแรงระเบิดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต มีประสิทธิภาพตามอายุการใช้งานไม่เกิน 5 ปี ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันแรงอัดและสะเก็ดระเบิดแบบป้องกันทั้งตัว สามารถป้องกันแรงอัดระเบิดและสะเก็ดระเบิดทั้งแบบธรรมดา สารเคมี หรือสารชีวภาพ มีความยืดหยุ่น น้ำหนักของชุดจะอยู่ระหว่าง 15 - 30 กิโลกรัม โดยหน่วย EOD จะสวมชุดป้องกันอันตรายจากแรงระเบิดในระหว่างการลาดตระเวนเก็บกู้ระเบิด เพื่อความปลอดภัยและป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นได้ 

          บอมบ์สูท ทั่วไป ประกอบด้วย.... 

          1. กางเกงด้วยที่สามารถปรับระดับความยาวและความกว้าง 

          2. แจ๊คเก็ต (Smock) ที่มีคอและขาหนีบที่แนบมาห่อหุ้ม 

          3. แขน 

          4. รองเท้าบู๊ท 

          5. ถุงป้องกันมือ 

          6. แผ่นห่อหุ้มทรวงอกและขาหนีบ 

          7. หมวกนิรภัย 

          8. หมวกกันน็อค 

          9. กระเป๋าพกพา


ภาพเหตุการณ์คนร้ายวางระเบิดที่ จ.ยะลา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 53 : เครดิต ไทยโพสต์



          ดังนั้น หากพิจารณาชุดบอมบ์สูทที่หน่วย EOD ใช้เก็บกู้ระเบิดในปัจจุบัน จะพบว่าเป็น บอมบ์สูท "หมดอายุ" เพราะผลิตในปี พ.ศ.2547 และมีอายุการใช้งานเพียง 5 ปี แต่ถึงอย่างนั้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้โทษว่า บอมบ์สูท เป็นตัวช่วยที่ไร้ประโยชน์จนนำมาซึ่งการเสียเลือดเนื้อของ 2 นายตำรวจ หากแต่พุ่งเป้าไปที่เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ "ความสามารถต่ำ" เพราะไม่สามารถตัดสัญญาณได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

          ดาบตำรวจ แชน วรงคไพสิษฐ์ หัวหน้าชุดเก็บกู้ระเบิดตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ระบุว่สาเหตุที่ไม่สามารถตัดสัญญาณโทรศัพท์มือได้ เนื่องจาก เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ของชุดเก็บกู้ระเบิดทำงานได้ประมาณ 5-10 นาที แต่ระยะเวลาในการเก็บกู้นาน 30-50 นาที ทำให้เครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถสู้ความแรงของสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริษัทเอกชน ที่อยู่ใกล้จำนวน 3 ต้น ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 100 เมตร คนร้ายจึงสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อจุดชนวนระเบิดได้สำเร็จ 

          ขณะเดียวกัน มีรายงานด้วยว่า หุ่นยนต์เก็บกู้ระเบิด ก็มีปัญหาขัดข้องในการทำงานวันเกิดเหตุ และเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตเองภายในประเทศ ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่าหุ่นยนต์จากต่างประเทศที่บังคับด้วยคอมพิวเตอร์ในห้องทำงานหรือรถยนต์กันกระสุน ทำให้เจ้าหน้าที่มีความเสี่ยง เนื่องจากต้องบังคับในที่โล่ง และอยู่ในรัศมีที่แรงระเบิดทำงาน 

          ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิต และเป็นอีกครั้งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพราะเลือดเนื้อของตำรวจและทหารที่อยู่ใกล้เส้นแบ่งแห่งความตาย หรือพื้นที่เสี่ยงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนใต้ พวกเขาคือ "บุคคลสำคัญ" ที่ดูแลชีวิตพี่น้องประชาชน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บอมบ์สูท ตัวละ 2 ล้าน ตัวช่วย(กู้ระเบิด) หมดอายุ ! อัปเดตล่าสุด 4 มกราคม 2554 เวลา 15:41:02 32,329 อ่าน
TOP
x close