ย้อนรอย สึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่ากลัว



สึนามิ
สึนามิ



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก noaa.gov


          จากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติที่ถาโถมเข้าใส่นานาประเทศตั้งแต่ต้นปี 2554  ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 22 กุภาพันธ์ 2554 ณ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่คร่าชีวิตของประชากรถึง 200 ราย หรือแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศจีน เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ที่เขย่าพื้นที่มณฑลยูนนาน จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 19 ศพ และบาดเจ็บอีก 174 คน และล่าสุดกรณีธรณีพิโรธที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีความรุนแรงถึง 8.9 ริกเตอร์   และเกิดคลื่นสึนามิความสูง 10 เมตร เข้ากระหน่ำพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทางเหนือของประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดความสูญเสียและเป็นหายนะครั้งใหญ่ของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้  

          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ธรณีพิโรธ และคลื่นสึนามิที่ถูกซัดเข้าฝั่งของประเทศญี่ปุ่นมิได้พึ่งจะเคยเกิดขึ้น แต่เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง เพียงแต่เหตุการณ์เกิดสึนามิแต่ละครั้ง ระดับความรุนแรง และการสูญเสียจะแตกต่างกันออกไป ว่าแล้ววันนี้ เราจะมาย้อนดูกันว่า สึนามิ เกิดขึ้นได้อย่างไร และเหตุใดจึงมีอำนาจทำลายล้างมหาศาลยิ่งนัก

สึนามิคร่าคนอินโด อเมริกา ดับ 2 ศพ


          สึนามิ หรือ คลื่นสึนามิ (tsunami) คือ เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่มีลักษณะเป็นระลอกคลื่น ที่เกิดขึ้นจากการที่น้ำในทะเลสาบหรือในท้องมหาสมุทรจำนวนมหาศาล เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทจากบริเวณหนึ่งสู่อีกบริเวณหนึ่งอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากการเกิดแผ่นดินไหว แผ่นดินเคลื่อนตัว ภูเขาไฟระเบิด หรือจากวัตถุนอกโลก เช่น ดาวหาง หรืออุกกาบาต ตกสู่พื้นทะเลหรือมหาสมุทรบนผิวโลก คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นนี้จะถาโถมเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลด้วยความรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่อาจประเมินได้ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนที่อยู่อาศัยที่ต้องพังพินาศไป พร้อม ๆ กับมนุษย์จำนวนมากมายที่อาจได้รับบาดเจ็บและล้มตายไปด้วยฤทธิ์ของมหาพิบัติภัยที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

          โดยก่อนที่จะเกิดคลื่นสึนามินั้น มักจะมีการส่งสัญญาณเตือนจากธรรมชาติมาสู่มนุษย์ ด้วยการเกิดแผ่นดินไหว หรือจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดินใต้ทะเล ที่เกิดการเปลี่ยนรูปร่างอย่างกะทันหัน จนทำให้น้ำทะเลเกิดการเคลื่อนตัวตาม เพื่อปรับระดับให้เข้าสู่จุดสมดุลและจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิ ซึ่งการเปลี่ยนรูปร่างของพื้นทะเล มักเกิดขึ้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เนื่องจากการขยับตัวของเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดบริเวณที่ขอบของเปลือกโลกหลายแผ่นเชื่อมต่อกันที่เรียกว่า รอยเลื่อน (fault) เช่น บริเวณขอบของมหาสมุทรแปซิฟิก นอกจากแผ่นดินไหวแล้ว ดินถล่มใต้น้ำที่มักเกิดร่วมกับแผ่นดินไหวสามารถทำให้เกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน นอกจากการกระทบกระเทือนที่เกิดใต้น้ำแล้ว การที่พื้นดินขนาดใหญ่ถล่มลงทะเล หรือการตกกระทบพื้นน้ำของเทหวัตถุ ก็สามารถทำให้เกิดคลื่นได้ คลื่นสึนามิที่เกิดในรูปแบบนี้จะลดขนาดลงอย่างรวดเร็วและไม่มีผลกระทบต่อชายฝั่งที่อยู่ห่างไกลมากนัก



          และแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อยมากที่จะเกิดสึนามินั้น ก็ยังได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์โลกนี้ โดยเมื่อ  26 ธันวาคม 2547 ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศไทย  เมื่อเกิดคลื่นสึนามิครั้งที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถาโถมเข้าใส่ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเลอันดามัน  คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล โดยเฉพาะที่จังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต มีการสูญเสียมากที่สุด เป็นพิบัติภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยไม่มีผู้ใดคาดคิดมาก่อน จึงไม่ได้มีการระมัดระวังและป้องกันไว้ล่วงหน้า ทำให้มีประชาชนถูกคร่าชีวิตไปกว่า 220,000 คน

          และล่าสุด ได้เกิดคลื่นสึนามิ สูงถึง 10 เมตร ซึ่งพัดเข้าถล่มญี่ปุ่นกินพื้นที่ถึง 10 กิโลเมตร ส่งผลบ้านเรือนประชาชน รถยนต์และรถบรรทุกจำนวนมากให้พื้นที่ จังหวัดมิยะงิ จังหวัดฟุกุชิมะ และเมืองเซ็นได ทำเอาบ้านเรือนประชาชน รถยนต์และรถบรรทุกจำนวนมากถูกคลื่นสึนามิพัดลงสู่ทะเล และสาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นประสบภัยธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะแผ่นดินไหว และสึนามินั้น เกิดจากญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า วงแหวนแห่งไฟซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูเขาไฟ


วงแหวนแห่งไฟ


          อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว และการเกิดสึนามิในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ประกาศเตือนภัย ทั้งเตรียมมาตรการรับมือผลกระทบจากการเกิดสึนามิ 2554 ดังนี้

          ไต้หวัน : เกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็ก สูง 10 เซนติเมตร จึงไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก

          ฟิลิปปินส์ : เกิดสึนามิขนาดเล็ก สูง 10 เซนติเมตร ซัดเข้าชายฝั่ง และไม่มีรายงานความเสียหาย

          อินโดนีเซีย : เกิดสึนามิขนาดเล็ก สูง 10 เซนติเมตร ที่บริเวณทางเหนือของเกาะสุลาเวสี และโมลุกกะ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย

          ออสเตรเลีย : แถบชายฝั่งไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ

          นิวซีแลนด์ : แถบชายฝั่งไม่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ

          โซนอเมริกา ทางการสหรัฐ ได้สั่งเฝ้าระวังการเกิดสึนามิ 3 สถานที่ด้วยกันคือ            
          เกาะฮาวาย : โดยเกิดสึนามิขึ้นที่เมืองโออาฮู ของฮาวาย ต่อเนื่อง 4 ครั้ง แต่ไม่รุนแรง 
          เมืองเครสเซนท์ : ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนียด้วย 2 ครั้ง สูงราว 3.7 ฟุต หรือ 1 เมตร
          เม็กซิโก : เกิดสึนามิ สูงประมาณ  2.3 ฟุต ที่เมืองเอ็นเซ็นนาด้า

          โซนประเทศอเมริกากลาง เป็นที่ถูกจับตาว่าจะเกิดสึนามิ ผู้นำประเทศต่าง ๆ สั่งเตรียมพร้อมรับมือสึนามิอย่างเต็มที่ ผู้นำของเอกกวาดอร์ ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ และอพยพประชาชนขึ้นไปอยุ่บนที่สูง โดยเฉพาะที่เกาะกลาปากอส แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่รายงานความเสียหาย

          เปรู : คาดกันว่าจะมีสึนามิลูกแรกพัดถล่มถล่มทางเหนือ ตอนกลาง และทางตอนใต้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่รายงานความเสียหาย และได้อพยพคนเข้าไปในแผ่นดิน

          ชิลี : ได้เพิ่มระดับการเตือนภัยสึนามิ และคาดว่าจะเกิดคลื่นขนาดใหญ่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่รายงานความเสียหาย          

          แม้ในครั้งนี้ จะมีประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวที่ต้องเจอพิษร้ายของสึนามิ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ในครั้งต่อ ๆ ไปจะไม่มีประเทศใดที่ต้องเจอภัยธรรมชาตินี้อีก เพราะสึนามิเป็นภัยธรรมชาติที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ โดยที่เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า "สึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่ากลัว"  นี้ จะเกิดขึ้นอีก ณ เวลาใด  ดังนั้น หากไม่เตรียมพร้อมรับมือไว้ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจไม่สามารถตีค่าได้เลย
 


          มาตรการป้องกันภัยจากคลื่นสึนามิ

                     

          1.เมื่อรู้สึกว่ามีการสั่นไหวเกิดขึ้น ขณะที่อยู่ในทะเลหรือบริเวณชายฝั่ง ให้รีบออกจากบริเวณชายฝั่ง ไปยังบริเวณที่สูงหรือที่ดอนทันที โดยไม่ต้องรอประกาศจากทางการ เนื่องจากคลื่นสึนามิเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง

          2.เมื่อได้รับฟังประกาศจากทางการเกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณทะเลอันดามัน ให้เตรียมรับสถานะการณ์ที่อาจจะเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้โดยด่วน

          3.สังเกตปรากฏการณ์ของชายฝั่งหากทะเลมีการลดระดับของน้ำลงมาก หลังการเกิดแผ่นดินไหว ให้สันนิษฐานว่าอาจเกิดคลื่นสึนามิตามมาได้ ให้อพยพคนในครอบครัว สัตว์เลี้ยงให้อยู่ห่างจากฝั่งมาก ๆ และอยู่ในที่ดอนหรือที่น้ำท่วมไม่ถึง

          4.ถ้าอยู่ในเรือซึ่งจอดอยู่ในท่าเรือหรืออ่าว ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เมื่อทราบว่าจะเกิดคลื่น สึนามิพัดเข้าหา เพราะคลื่นสึนามิที่อยู่ไกลชายฝั่งมาก ๆ จะมีขนาดเล็ก

          5.คลื่นสึนามิอาจเกิดขึ้นได้หลายระลอกจากการเกิดแผ่นดินไหวครั้งเดียว เนื่องจากมีการแกว่งไปมาของน้ำทะเล ดังนั้นควรรอซักระยะเวลาหนึ่งจึงสามารถลงไปชายหาดได้

          6.ติดตามการเสนอข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

          7.หากที่พักอาศัยอยู่ใกล้ชายหาด ควรจัดทำเขื่อน กำแพง ปลูกต้นไม้ วางวัสดุ ลดแรงปะทะของน้ำทะเล และก่อสร้างที่พักอาศัยให้มั่นคงแข็งแรงในบริเวณย่านที่มีความเสี่ยงภัยในเรื่องคลื่นสึนามิ

          8.หลีกเลี่ยงการก่อสร้างใกล้ชายฝั่งในย่านที่มีความเสี่ยงภัยสูง

          9.วางแผนในการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นสึนามิ เช่นกำหนดสถานที่ในการอพยพ แหล่งสะสมน้ำสะอาด เป็นต้น

          10.จัดวางผังเมืองให้เหมาะสม บริเวณแหล่งที่อาศัยควรมีระยะห่างจากชายฝั่ง

          11.ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการป้องกันและบรรเทาภัยจากคลื่นสึนามิและแผ่นดินไหว

          12.วางแผนล่วงหน้าหากเกิดสถานะการณ์ขึ้นจริง ในเรื่องการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขั้นตอนในด้านการช่วยเหลือบรรเทาภัย ด้านสาธารณะสุข การรื้อถอนและฟื้นฟูสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น

          13.อย่าลงไปในชายหาดเพื่อดูคลื่นสึนามิ เพราะเมื่อเห็นคลื่นแล้วก็ใกล้เกินกว่าจะหลบหนีได้ทัน

          14.คลื่นสึนามิในบริเวณหนึ่ง อาจมีขนาดเล็ก แต่อีกบริเวณหนึ่งอาจมีขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อได้ยินข่าวการเกิดคลื่นสึนามิขนาดเล็กในสถานที่หนึ่ง จงอย่าประมาทให้เตรียมพร้อมรับสถานะการณ์


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรมอุตุนิยมวิทยา ,  ,


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ย้อนรอย สึนามิ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่น่ากลัว อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2554 เวลา 18:19:54 97,729 อ่าน
TOP
x close