ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์เดลิเมลของอังกฤษ เปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับการซึมซับพฤติกรรมหลังการอ่านหนังสือ พบว่า คนเราอ่านหนังสือประเภทใด ก็มีแนวโน้มที่จะมีนิสัยบางอย่างคล้ายกับตัวละครในนิยาย หรือมีความคิดคล้ายกับผู้เขียนหนังสือประเภทนั้น
โดยงานวิจัยชิ้นนี้ จัดทำโดยคณะจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท ของสหรัฐอเมริกา นำโดยศาสตราจารย์จีออฟ คาฟแมน ที่ได้ดำเนินการวิจัยกับกลุ่มหนอนหนังสืออาสาสมัครจำนวน 500 คน เกี่ยวกับการซึมซับพฤติกรรม นิสัย หรือมุมมองบางอย่างหลังจากการอ่านหนังสือ พบว่า นักอ่านที่อ่านหนังสือประเภทเล่าประสบการณ์หรือแสดงทัศนะของผู้เขียนนั้น จะมีทัศนคติ และการมองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะคล้ายกับทัศนคติของผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น ขณะที่นักอ่านที่ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับเกย์นั้น พบว่ามีทัศนคติที่ดีต่อชายรักร่วมเพศมากขึ้น และเมื่อเปรียบเทียบกับนักอ่านที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับทั้งชายและเกย์ พบว่า นักอ่านที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับเกย์อย่างเดียวนั้น มีทัศนคติที่ดีต่อชายรักร่วมเพศมากกว่านักอ่านที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับทั้งชายและเกย์เสียอีก
นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า ถ้าหากผู้อ่านชอบอ่านหนังสือประเภทนิยาย ก็มีแนวโน้มว่าจะซึมซับพฤติกรรมและนิสัยของตัวละครที่ตัวเองชื่นชอบมาปรับใช้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์จีออฟยังเปิดเผยว่า ถ้าหากเปรียบเทียบระหว่างการดูหนังและอ่านหนังสือแล้ว การดูหนังนั้นไม่ได้ทำให้ผู้ชมเอาตัวเองเข้าไปอินกับตัวละครในหนัง หรือจินตนาการว่าตัวเองเป็นเหมือนตัวละครที่ชอบ แต่การอ่านหนังสือจะทำให้ผู้อ่านหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของจินตนาการได้มากกว่า และอาจเผลอเอาตัวเองไปเปรียบเทียบและอินกับตัวละคร จนนำบุคลิกและนิสัยบางอย่างจากตัวละครที่ตัวเองได้อ่านผ่านตัวอักษรมาใช้กับตัวเองโดยไม่รู้ตัว