รำเหย่ย การละเล่นพื้นบ้านที่ลูกหลานควรอนุรักษ์



รำเหย่ย การละเล่นพื้นบ้านที่ลูกหลานควรอนุรักษ์

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก ปันสุข 

          เพราะคนไทยเป็นคนที่มีอุปนิสัยยิ้มง่าย ต่างก็มีมิตรจิตมิตรใจที่ดีต่อกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย อีกทั้งยังรักความสนุกสนาน และรักความเป็นหมู่คณะ ดังนั้น การละเล่นพื้นบ้าน การแสดงพื้นบ้าน ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่คนรุ่นก่อนสรรค์สร้างขึ้น จึงได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และบอกความเป็นตัวตนของคนไทยสมัยก่อนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งประเพณีที่ดีงามหลาย ๆ อย่างก็ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน แต่บางอย่างก็เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลาที่หาคนรุ่นหลังสืบทอดต่อได้ยากเต็มที 

          อย่างเช่น "รำเหย่ย" การละเล่นพื้นบ้านโบราณที่เชื่อว่า คนรุ่นใหม่อาจจะไม่คุ้นหูนัก แต่หากมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมงานเทศกาล หรืองานรื่นเริง ที่จัดในหมู่บ้านนอกตัวจังหวัดแถบจังหวัดกาญจนบุรี ก็อาจจะได้พบการละเล่นที่ชื่อ "รำเหย่ย" นี้อยู่บ้าง เพราะเป็นการละเล่นพื้นเมืองที่คนไทยชนบทยังคงสืบสานต่อมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน  

          เอ...แล้ว "รำเหย่ย" เขามีวิธีเล่นอย่างไรนะ ใครที่อยากทำความรู้จัก "รำเหย่ย" ให้มากขึ้น กระปุกดอทคอม มีบทความดี ๆ จาก เว็บไซต์ปันสุข ที่เขียนเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านแสนสนุกมาบอกต่อกัน และก็ไม่ใช่เพียงแค่ "รำเหย่ย" เท่านั้น แต่ยังมีการละเล่นแบบไทย และประเพณีโบราณอีกหลายอย่างที่คนรุ่นใหม่ก็ควรจะศึกษาไว้ เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้เอกลักษณ์เหล่านี้สิ้นสูญไปอย่างน่าเสียดาย


รำเหย่ย และการละเล่นพื้นบ้าน by ปันสุข


          ในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า โอกาสที่จะได้ชมการละเล่นโบราณที่สะท้อนวัฒนธรรมพื้นถิ่นนั้นหาดูได้ยากเต็มที แต่การมาเยือนตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ครั้งนี้ เราได้พบกับการละเล่นโบราณ ที่ได้ยินชื่อแล้วไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไร นั่นคือ "รำเหย่ย"

          รำเหย่ย เป็นประเพณีดั้งเดิมของคนตำบลหนองโรง โดยนิยมละเล่นในช่วงเทศกาล หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เพื่อผ่อนคลาย สร้างความสนุกสนาน หนุ่มสาวมีโอกาสได้ร้องเกี้ยวกัน การละเล่นรำเหย่ยได้รับความนิยม เนื่องจากไม่ค่อยมีการละเล่นที่เล่นในเวลากลางคืน ประกอบกับเป็นการละเล่นที่ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีที่ยุ่งยาก อาจใช้เพียงแค่กลองยาวเพื่อเพิ่มความครึกครื้น สนุกสนาน หรือใช้เครื่องกำกับจังหวะเพียงชิ้นเดียว หรืออาจใช้วิธีปรบมือแทนก็ได้

          สมัยก่อนจะเป็นการเล่นสด (ด้นกลอนสด) ปัจจุบันมักต้องเตรียมบทไว้ก่อน ทั้งนี้ ชาวตำบลหนองโรงให้ความสำคัญกับการละเล่นรำเหย่ยโดยสนับสนุนให้มีการถ่ายทอดสู่กลุ่มเด็ก และเยาวชน รวมถึงให้มีการฝึกซ้อมเพื่อเล่นในเทศกาลต่าง ๆ ตลอดจนส่งเข้าประกวด จนได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

          การเล่นรำเหย่ยนี้สามารถร้องเล่นด้วยกันได้ไม่จำกัดเพศและวัย อย่างคืนนี้ ก็มีเด็กสาวร้องเล่นกับคุณตา ดูท่าทางสนุกสนาน ดูไปยิ้มไปขำไป เพลินดี

          สาเหตุที่รำเหย่ยยังคงอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ ก็ด้วยการอนุรักษ์ และสนับสนุนจากสภาวัฒนธรรม ตำบลหนองโรง ซึ่งมีนายเสริม ไคลมี เป็นประธานสภา

          สภาวัฒนธรรมฯ จะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการฟื้นฟู รักษาประเพณีวัฒนธรรมอันดีของตำบลหนองโรง โดยจะมีการประชุมต่อเนื่อง และรับผิดชอบการจัดกิจกรรมฟื้นฟูประเพณี และการละเล่นต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโรง และวัฒนธรรมจังหวัด

          ยังมีวัฒนธรรมท้องถิ่นอีกหลายรายการที่สภาวัฒนธรรมตำบลได้อนุรักษ์ไว้ดังนี้

ประเพณีร่อยพรรษา


          เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ เพื่อเป็นการเชิญชวน และกระตุ้นให้คนในตำบลมาร่วมกันทำบุญ โดยจะมีการรวมตัวกันเดินไปบอกบุญตามบ้าน และมีการร้องเพลงเพื่อเชิญชวนให้คนทำบุญไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือสิ่งของ โดยไม่ใช้เครื่องดนตรี แต่จะใช้การปรบมือเพื่อให้จังหวะ ทั้งนี้ประเพณีร่อยพรรษาจะเริ่มตั้งแต่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเมื่อถึงวันออกพรรษาก็จะนำเงิน และสิ่งของทั้งหมดที่ได้ไปทำบุญที่วัด

การทำขวัญข้าว ขวัญยุ้ง ขวัญลาน


          เป็นประเพณีสำคัญของชาวนาที่สืบทอดมาแต่โบราณซึ่งจะกระทำกันในช่วงที่ข้าวตั้งท้อง เพื่อเป็นการขอบคุณแม่โพสพที่ให้ความอุดมสมบูรณ์แก่ผืนนา มีความเชื่อว่า ถ้าได้มีการทำขวัญข้าว จะไม่ทำให้เมล็ดข้าวล้ม ไม่มีหนอน และสัตว์ต่าง ๆ มากัดกินต้นข้าว ทำให้ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์ เมื่อข้าวสุกดีแล้วก็นำไปไว้ที่ลาน เพื่อรอการนวด ซึ่งก็จะมีการขวัญลาน และเมื่อนวดข้าวเสร็จแล้ว ก็จะกำหนดวันนำข้าวขึ้นยุ้งซึ่งชาวบ้านก็จะมาร่วมทำขวัญข้าว ร้องเพลงทำขวัญแม่โพสพเรียกว่า "ขวัญยุ้ง"

การรำกลองยาว


          เป็นประเพณีที่นิยมเล่นกันเนื่องจากจังหวะสนุกสนาน เล่นง่าย นิยมนำไปแสดงในงานรื่นเริง เช่น ขบวนแห่นาค แห่ผ้าป่า กฐิน งานฉลองขบวนขันหมาก มีเครื่องดนตรี ประกอบด้วยกลองยาวหลายขนาด ซึ่งจะให้เสียงต่างกันออกไป มีเครื่องประกอบจังหวะอื่น ๆ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง และปี่ชวา การโห่ร้อง การรำกลองยาวก่อนจะเริ่มบรรเลงจะมีการโห่สามลา โดยผู้นำวงจะโห่ยาว และลูกคู่จะต้องรับด้วยคำว่า "ฮิ้ว"

เพลงเต้นกำรำเคียว


          เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าแก่ของชาวบ้าน ซึ่งมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และด้วยนิสัยรักสนุก กับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียว ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวแล้ว และจะเล่นกันในฤดูเกี่ยวข้าว จะมีผู้เล่นประมาณ 5 คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชาย เรียกว่า "พ่อเพลง" ฝ่ายหญิงเรียกว่า "แม่เพลง"

เพลงพวงมาลัย


          มีการสืบทอดหลายชั่วอายุคน โดยเป็นเพลงพื้นบ้านชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่ามาจากความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอนของคนไทย ซึ่งนิยมพูดให้คล้องจองกัน มักนิยมเล่นงานประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งบรรดาหนุ่มสาวผู้ใหญ่และเด็ก ต่างมาร่วมสนุก เพลงพวงมาลัยยังนิยมขับร้องกันในนาข้าว ไม่ว่าจะเป็นตอนเริ่มหว่านไถ จนถึงการเก็บเกี่ยว โดยนิยมขับร้องเพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงาน


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รำเหย่ย การละเล่นพื้นบ้านที่ลูกหลานควรอนุรักษ์ อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2567 เวลา 17:26:03 10,921 อ่าน
TOP
x close