คู่มือประชาชน จากสตช. ที่ประชาชนควรรู้




เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


          เป็นเรื่องจริงที่จำยอมรับ ว่าบ้านเมืองของเราในขณะนี้ต่างไปจากเมื่อครั้งอดีตอย่างมาก จิตใจของผู้คนก็เปลี่ยนไป โจรผู้ร้ายในสังคมก็เพิ่มมากขึ้น เกิดเหตุการณ์ปัญหา และความเดือดร้อนมากมาย ดังที่ได้ปรากฏเป็นข่าวอาชญากรรม ที่ออกสื่อประเภทต่าง ๆ อยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการฉกชิงวิ่งราว การขโมยทรัพย์ การล่วงละเมิด คดีความฟ้องร้อง ปล้น ฆ่า หรือแม้แต่การหลอกลวงต้มตุ๋น

           ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้จัดทำหนังสือ "คู่มือประชาชน"มาเพื่อเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป โดยมุ่งให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันอาชญากรรม คำแนะนำในการติดต่อ คำขออนุญาต และสิทธิที่ประชาชนพึงมีเมื่อตกเป็นผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายใหม่ที่ประชาชนควรรู้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนได้ทราบและถือปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเมื่อมีเหตุหรือขอติดต่อทำธุรกรรมต่าง ๆ

 

          โดยเนื้อหาภายใน  "คู่มือประชาชน" จะแบ่งออกเป็น 7 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

          1.คำแนะนำในการไปติดต่อสถานีตำรวจ

          2. การขออนุญาตต่าง ๆ

          3. การป้องกันอาชญากรรม

          4. การเตรียมตัวให้รอดปลอดภัยพิบัติ

          5. ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย

          6. ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป

          7. ระเบียบและคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง

          โดยเนื้อหาภายในเล่มนั้น ถูกรวบรวมและแบ่งเป็นหัวข้อไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายแก่การอ่านทำความเข้าใจ อีกทั้งยังง่ายแก่การนำไปปฏิบัติจริง ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องของเอกสารที่จะต้องนำติดตัวไปทุกครั้งเมื่อไปติดต่อธุระที่สถานีตำรวจ เอกสารที่จะต้องนำติดตัวไปด้วยทุกครั้ง คือ

                    1.    บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง (Passport) สำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศ 

                    2.    สำเนาทะเบียนบ้าน

                    3.    หากเป็นชาวต่างชาติ อาจใช้ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง (Passport) แทนได้

          ส่วนเอกสารอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับธุระที่ต้องการติดต่อกับเจ้าหน้าที่  เช่น

กรณีที่บัตรประชาชนหาย หรือถูกทำลาย

          1.  สำเนาทะเบียนบ้าน

          2.  หลักฐานเอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตร เช่น ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ใบสุทธิ หรือหนังสือเดินทาง (Passport)  หากไม่มีให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปให้การรับรอง

แจ้งความเอกสารสำคัญหาย

          1.  ใช้เพียงเอกสารแสดงตัว และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง


แจ้งความคนหาย

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่นๆ

          2.  บัตรประจำตัวของผู้หาย (ถ้ามี)

          3.  สำเนาทะเบียนบ้านของผู้หาย (ถ้ามี)

          4.  ภาพถ่ายคนหาย โดยต้องเป็นภาพที่ใหม่ที่สุด

          5.  ใบสำคัญทางราชการ เช่น ใบเกิด ใบสำคัญทหาร (ถ้ามี)

แจ้งความรถหรือเรือหาย

          1. โทรศัพท์แจ้ง 191

          2. บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่น

          3. ใบทะเบียนของพาหนะที่หาย เช่น ใบทะเบียนรถยนต์ ใบทะเบียนรถจักรยานยนต์ ใบทะเบียนเรือ เป็นต้น

          4. ใบเสร็จรับเงิน หรือสัญญาซื้อขายเท่าที่มี

          5. ถ้ายานพาหนะดังกล่าวเป็นของนิติบุคคล เป็นตัวแทนห้างร้าน บริษัท ผู้ไปแจ้งความควรนำเอกสารเหล่านี้ไปด้วย

                    1.หนังสือมอบอำนาจจากเจ้าของ หรือผู้จัดการของห้างร้าน บริษัทนั้น ๆ

                    2.หนังสือรับรองบริษัท

          6. หนังสือเกี่ยวกับการติดต่อ หรือเอกสารที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้ (ถ้ามี)

          7. หนังสือคู่มือประจำตัวรถ หรือพาหนะ ที่ทางบริษัทห้างร้านจ่ายให้เป็นคู่มือ ถ้าไม่มีให้จำยี่ห้อ สี แบบ หมายเลขประจำตัวเครื่องและตัวรถไปด้วย (ถ้ามี)

แจ้งความทรัพย์สินหาย

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่น

          2.  ใบเสร็จรับเงินซื้อขาย หรือหลักฐานแสดงการซื้อขายทรัพย์สินนั้น

          3.  รูปพรรณทรัพย์สินนั้น ๆ เช่น หมายเลขเครื่อง (ถ้ามี)

          4.  ตำหนิหรือลักษณะพิเศษต่าง ๆ

          5.  เอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เท่าที่มี

          6.  กรณีลักทรัพย์ในบ้านเรือนหรือสำนักงาน ให้ทิ้งร่อยรอยหลักฐานที่เกิดเหตุไว้ ไม่แตะต้องจนกว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึง

แจ้งความถูกปลอมแปลงเอกสาร

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่น

          2.  ใบสำคัญตัวจริง เช่น โฉนด หนังสือสัญญา ใบเสร็จรับเงิน

          3.  หนังสือที่ปลอมแปลง

          4.  ตัวอย่างตราที่ใช้ประทับหรือลายเซ็นในหนังสือ

แจ้งความถูกยักยอกทรัพย์

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่น

          2.  หนังสือสำคัญหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้มีการมอบหมายทรัพย์ ให้ไปจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง

          3.  ใบสำคัญแสดงการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน

          4.  สำเนาหรือคำสั่งศาล หรือพินัยกรรมในกรณีผู้กระทำเป็นผู้จัดการทรัพย์สินผู้อื่นตามคำสั่งของศาลหรือพินัยกรรม

แจ้งความถูกข่มขืนกระทำชำเรา

          1.  บัตรประจำตัวประชาชน หรือใบแทนฯ หรือ เอกสารแสดงตัวอื่น

          2.  เสื้อผ้าของผู้ที่ถูกข่มขืน ซึ่งมีคราบอสุจิหรือรอยเปื้อนอย่างอื่นอันเกิดจากการข่มขืน และสิ่งของต่าง ๆ ของผู้ต้องหา ที่ตกอยู่ในสถานที่เกิดเหตุ

          3.  บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้เสียหาย

          4.  รูปถ่าย หรือที่อยู่ของผู้ต้องสงสัย ตลอดจนหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี)

แจ้งความถูกทำร้ายร่างกาย และเหตุฆ่าคนตาย

          1.  รักษาสถานที่เกิดเหตุไว้ อย่าให้ผู้ใดเข้าไปแตะต้องหรือเคลื่อนย้ายสิ่งของต่าง ๆ ในสถานที่เกิดเหตุ จนกว่าเจ้าพนักงานตำรวจจะไปถึงสถานที่เกิดเหตุ

          2.  เมื่อพบ มีด ไม้ ปืน ของมีคม หรืออาวุธที่คนร้ายทิ้งไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ตลอดจนพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ แล้วหากทิ้งไว้จะสูญหายหรือเสียหาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือนำมามอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

          3.  รายละเอียดต่าง ๆ เท่าที่สามารถบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ทราบได้

          4.  เอกสารแสดงตัว และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้แจ้ง

 

ในกรณีการขออนุญาตต่าง ๆ

การขออนุญาตแสดงมหรสพชั่วคราว

          1.  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ผู้ขออนุญาตยื่นคำร้องต่อสถานีตำรวจท้องที่ ที่จะจัดแสดงมหรสพ

          2.  กรณีต่างจังหวัด ให้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอท้องที่ ให้นายอำเภอเป็นผู้อนุญาต ซึ่งเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ทางอำเภอจะแจ้งให้ตำรวจในท้องที่ทราบ

          3.  ต้องมีหนังสือยินยอมจากเจ้าของสถานที่ที่จัดมหรสพ

          4.  ต้องขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงด้วย (ถ้ามี)

          5.  เลิกแสดงมหรสพไม่เกินเวลา 24.00 น.

 
การขออนุญาตมีใบขับขี่รถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์

          1.  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ยื่นคำร้องต่อกรมการขนส่งทางบกของแต่ละเขต

          2.  ให้พื้นที่ต่างจังหวัดให้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานขนส่งจังหวัด


          และอีกตัวอย่างหนึ่งที่ในเรื่องที่ไม่ไกลตัวนัก สำหรับส่วนของคู่มือปฏิบัติตนเมื่อเกิดภาวะอุทกภัยหรือน้ำท่วมนั้น ก็ได้แนะนำข้อปฏิบัติที่สามารถทำได้ไม่ยาก คือ ในการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ นั้น ไม่ควรเดินหรือขับรถผ่านพื้นที่น้ำท่วม ให้อยู่ห่างจากบริเวณที่มีน้ำไหล เพราะน้ำที่ไหลเชี่ยวเพียงคืบเดียวสามารถพัดให้ท่านล้มลงได้ อีกทั้งยังควรอยู่ห่างจากบริเวณที่เสาไฟฟ้าล้ม เพื่อความปลอดภัย และห้ามโยนสิ่งของที่ได้รับความเสียหายทิ้งจนกว่าทางราชการจะมาจดบันทึกข้อมูล ในเรื่องของการอุปโภคบริโภคนั้น ในหนังสือได้แนะนำให้ ทิ้งอาหารที่สัมผัสน้ำท่วม ให้บริโภคแต่อาหารและน้ำดื่มที่สะอาดเท่านั้น ให้ทุกคนปิดถังแก๊สทุกครั้งหลังจากการใช้ รวมถึงปิดสวิตช์ไฟและถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม


          จากตัวอย่างเพียงบางส่วนนี้ก็จะเห็นได้ว่าข้อควรปฏิบัติที่ได้แนะนำในหนังสือเล่มนี้นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เป็นประโยชน์อย่างมาก และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ไม่ยากเลย สำหรับผู้ที่สนใจต้องการเก็บคู่มือประชาชนเล่มนี้ไว้เป็นหนังสือคู่มือใกล้ตัว สามารถดาวน์โหลดจาก คู่มือประชาชน จากสตช. คลิกเลย   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คู่มือประชาชน จากสตช. ที่ประชาชนควรรู้ โพสต์เมื่อ 4 ธันวาคม 2555 เวลา 18:06:05 3,703 อ่าน
TOP
x close