ไม้พะยูง.. ไม้มงคลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง


ไม้พะยูง
 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, nanagarden.com

            ในระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ ไม้พะยูง เป็นไม้มงคลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในตลาด จึงทำให้เกิดความต้องการมาก ปัญหาที่ตามมา คือ เกิดการลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้น และการลักลอบนำไม้พะยูงออกไปในลักษณะของการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา มีการจับกุมดำเนินคดีผู้ลักลอบตัดไม้พะยูงมากขึ้นทุก ๆ ปี นอกจากนี้ ได้มีพระราชดำรัส พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องแนวทางในการปฏิบัติงานเรื่องการปลูกป่า ซึ่งแนะให้ปลูกไม้พะยูงกันมากขึ้น วันนี้กระปุกดอทคอม จึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับไม้พะยูงมาฝากกัน


ชื่อต่าง ๆ ของต้นพะยูง

            ชื่อสามัญ : Siamese Rosewood

            ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia cochinchinensis Pierre วงศ์ LEGUMINOSAE

            ชื่ออื่น : กระยง กระยูง (เขมร-สุรินทร์)
                       ขะยูง (อุบลราชธานี)
                       แดงจีน (ปราจีนบุรี)
                       ประดู่ตม (จันทบุรี)
                       ประดู่ลาย (ชลบุรี)
                       ประดู่เสน (ตราด)
                       พะยูงไหม (สระบุรี)
                       หัวลีเมาะ (จีน)


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์


            เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15-20 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ลักษณะคล้ายใบประดู่ ดอกขนาดเล็ก กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสีขาวหรือเหลืองอ่อนตามง่ามใบและตามปลายกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแบบบางตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข้ม

ไม้พะยูง

            พะยูงเป็นไม้ทนแล้ง มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้น กระจายพันธุ์ในป่าภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 100-250 เมตร นอกจากนี้ ยังมีพบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม


ประโยชน์ใช้สอย

            เนื่องจากเนื้อไม้พะยูงเป็นไม้เนื้อแข็งเช่นเดียวกับไม้สัก ไม้ตะเคียน ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อน แก่นสีแดงอมม่วงถึงสีเลือดหมูแก่ มีริ้วสีดำ เป็นเสี้ยนสน เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน และชักเงาได้ดี มีน้ำมันในตัว จึงนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก หวี ไม้เท้า ด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด ทำเครื่องประดับ เช่น กำไล ทั้งยังใช้เป็นยาสมุนไพร เปลือกต้มเอาน้ำอมรักษาปากเปื่อย ปากแตกระแหง รากใช้กินรักษาแก้ไข้พิษ เซื่องซึม ยางสดใช้ทาปากรักษาโรคปากเปื่อย

            โดยทั่วไป ชาวบ้านที่ลักลอบตัดจะได้ค่าจ้างท่อนละ 200-300 บาท บางรายนายทุนดาวน์รถกระบะให้และให้ชาวบ้านผ่อนคืนเป็นไม้พะยูงเมื่อมาถึงในเมือง ทั้งนี้ การขายเบื้องต้นในอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 800 บาท คิวละ 2 แสนบาท แต่เมื่อส่งออกราคาจะแพงขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว


ไม้พะยูง

การปลูกไม้พะยูง

            วิธีขยายพันธุ์โดยเมล็ด เริ่มจากเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดแช่น้ำเย็น 24 ชั่วโมง เพาะในกระบะเพาะโดยหว่านให้กระจายทั้งกระบะ แล้วโรยทรายกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ ย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้


คติความเชื่อ

            คติไทยยกพะยูงเป็นไม้มงคล ตามชื่อที่พ้องกับพยุง ซึ่งแปลว่าประคองให้อยู่ในสภาพปกติ ช่วยให้ทรงตัวไว้ เชื่อว่าบ้านใดปลูก จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ ฐานะดีขึ้น ช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ ทั้งนี้ ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร หรือก่อฐานประดิษฐ์ถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น พิธีก่อกฤษ์ หรือว่างศิลาฤกษ์ การปลูกควรปลูกในวันเสาร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คนไทยจัด ลำดับ "พะยูง" ให้อยู่ใน 9 ชนิดไม้มงคลที่ปลูกไว้ในบ้าน ประกอบด้วย ชัยพฤกษ์, ราชพฤกษ์, ทองหลวง, ไผ่สีสุก, กันเกรา, ทรงบาดาล, สัก, พะยูง, ขนุน

            ในทางวิชาการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดพะยูงเป็น 1 ใน 9 ของไม้มงคลของไทยที่ประกอบด้วย...

            ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
            ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน
            ชัยพฤกษ์ หมายถึง มีโชคชัย ชัยชนะ
            ทองหลาง หมายถึง มีเงินมีทอง
            ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุข
            ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้มั่นคงแข็งแรง
            สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ
            กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง
            พะยูง เชื่อว่ามงคลคือพยุงฐานะให้ดีขึ้น

            ด้วยความเป็นไม้มงคล ทั้งลวดลายไม้สวยงาม เนื้อแข็งแรง ทนทาน พะยูงเป็นที่ต้องการจำนวนมากของตลาดนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง นำสู่ปัญหาใหญ่ของประเทศคือการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออก ทั้งนี้ เคยมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาการลักลอบตัดและขาย ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นไม้หวงห้าม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

, กรมป่าไม้, thaicontractors.com



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไม้พะยูง.. ไม้มงคลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง โพสต์เมื่อ 8 มีนาคม 2556 เวลา 07:51:05 41,837 อ่าน
TOP
x close