นิรโทษกรรม คืออะไร...รู้ไหม? ไทยเคยใช้แล้ว 23 ฉบับ



พรบ นิรโทษกรรม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


          นิรโทษกรรม คืออะไร ทำไมถึงมีคนจำนวนมากออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย มารู้จักว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คืออะไร แบบเต็ม ๆ

           
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่สุดในชั่วโมงนี้ เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย ที่แปรญัตติให้เป็นการละเว้นโทษให้กับผู้กระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556

            แน่นอนว่า หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาฯ ในวาระ 3 ก็ได้ปลุกให้คนจำนวนมากออกมาแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วย และนัดชุมนุมกันตามจุดต่าง ๆ เพื่อเดินหน้าต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ถึงที่สุด เพราะมองว่า กฎหมายฉบับนี้มีการสอดไส้เพื่อล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะคดีตากใบ เมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นคดีที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหารปี 2549 แต่จะได้รับการล้างผิดไปด้วย

          ...พูดถึงคำว่า "นิรโทษกรรม" แล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า คำว่า "นิรโทษกรรม" มีความหมายครอบคลุมแค่ไหน?

          ในทางกฎหมายจะแบ่งความหมายของ "นิรโทษกรรม" (Amnesty) ไว้ 2 แบบ คือ

           นิรโทษกรรม (ตามกฎหมายแพ่ง) หมายถึง การกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่า ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เช่น การกระทำการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย การกระทำตามคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย

             นิรโทษกรรม (ตามกฎหมายอาญา) หมายถึง การลบล้างการกระทําความผิดอาญาที่บุคคลได้กระทํามาแล้ว โดยมีกฎหมายที่ออกภายหลังการกระทำผิดกำหนดให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทําการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด

          หากถอดความหมายจากตัวอักษรดู ก็จะเข้าใจได้ว่า "นิรโทษกรรม" คือ การออกกฎหมายยกเลิกความผิดนั้นให้กับผู้ที่กระทำผิด ทำให้ผู้ที่กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เพราะถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิด ส่วนผู้ที่รับโทษไปแล้วก็ให้พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิด นอกจากนี้ ทางการจะไม่สามารถรื้อคดีต่าง ๆ ที่ได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้วกลับมาสืบสวนหาความจริงได้อีกเลย เพราะกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาจะทำให้การกระทำนั้น ๆ ไม่เป็นความผิดโดยสมบูรณ์

          เท่ากับว่า "นิรโทษกรรม" คือการลบล้างความผิดทุกอย่าง และเป็นยิ่งกว่า "การอภัยโทษ" เพราะการอภัยโทษนั้น ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นโทษให้ทั้งหมด หรือบางส่วน แต่ก็ยังถือว่าผู้นั้นเคยกระทำผิด และเคยต้องคำพิพากษามาก่อน ขณะที่ "นิรโทษกรรม" จะให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยกระทำผิดมาก่อนเลย


พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

นอกจากนี้ กฎหมายนิรโทษกรรม ยังแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

          1. การนิรโทษกรรมเป็นการทั่วไป หรือการนิรโทษกรรมโดยเฉพาะเจาะจง เช่น การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดทางการเมือง (Political  Offence) ทุกประเภท หรือ ให้เฉพาะแก่ผู้กระทำความผิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษโดยกำหนดไว้ชัดเจน

          2. การนิรโทษกรรมโดยมีเงื่อนไข หรือโดยไม่มีเงื่อนไข หมายถึงว่า การนิรโทษกรรมนั้นเป็นการนิรโทษกรรมที่เด็ดขาดหรือไม่ หากเป็นการนิรโทษกรรมเด็ดขาด ไม่มีเงื่อนไข ก็จะทำให้บุคคลนั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิดไปโดยปริยาย แต่หากเป็นการนิรโทษกรรมที่มีเงื่อนไข ผู้ที่กระทำผิดจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียบร้อยก่อน จึงจะได้รับการนิรโทษกรรม

          ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายนิรโทษกรรม คือ "รัฐสภา" เพราะถือว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง เพื่อให้คุณแก่ผู้กระทำความผิด และต้องตราขึ้นเป็น "พระราชบัญญัติ" เท่านั้น เว้นแต่กรณีเร่งด่วน รัฐบาลสามารถตราเป็นพระราชกำหนดนิรโทษกรรมขึ้นบังคับได้ โดยต้องผ่านความเห็นชอบของฝ่ายนิติบัญญัติในภายหลัง

          ...เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม น่าจะมีข้อดี หรือข้อเสียอย่างไรบ้าง ?

          หากมองในแง่ดี การนิรโทษกรรม ก็คือการให้อภัยซึ่งกันและกัน เป็นการเปิดทางเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้บ้านเมือง อย่างเช่นหลังสิ้นสุดสงคราม ทางการอาจประกาศนิรโทษกรรมให้พลเมืองที่ร่วมกันก่อกบฏ เพื่อให้คนที่ยังหลบหนีปรากฏตัว และเป็นการกระตุ้นให้เกิดความปรองดองกันระหว่างผู้ละเมิดกับสังคม ซึ่งผู้ที่พ้นความผิดไปแล้วอาจเรียกสิทธิบางอย่างที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิที่จะเข้ารับราชการ

          แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การออกกฎหมายนิรโทษกรรม อาจเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้แก่สังคม เพราะอาจทำให้คนที่มีอำนาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากทำอะไรผิดกฎหมายไป ก็สามารถมาออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กลุ่มของตัวเองภายหลังได้ นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีคนออกมาคัดค้านการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะเกรงว่าผู้ที่เสียหายจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองจะไม่ได้รับความเป็นธรรม


เสื้อแดง


          อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปในอดีต จะเห็นว่าประเทศไทยเคยออกกฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้วถึง 23 ครั้ง นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยใน 23 ครั้งนี้ ออกเป็นพระราชบัญญัติ 19 ฉบับ และพระราชกำหนด 4 ฉบับ ซึ่งมีทั้งการนิรโทษกรรมในความผิดทางก่อกบฏ ก่อรัฐประหาร การชุมนุมทางการเมือง ดังนี้

          1. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 ประกาศโดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้การกระทำทั้งหลายของคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ให้เป็นการละเมิดบทกฎหมาย

          2. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออก เพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ออกโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา หลังทำการรัฐประหารรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

          3. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อยกโทษให้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล 
 
          4. พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. 2488 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อปลดปล่อยนักโทษทางการเมืองให้เป็นอิสระ

          5. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการต่อต้านการดำเนินการสงครามของญี่ปุ่น พ.ศ 2489 ออกโดย นายปรีดี พนมยงค์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่ต่อต้านญี่ปุ่น ในช่วงที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทย สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

          6. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ออกโดย นายควง อภัยวงศ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

          7. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ พ.ศ. 2494 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง

          8. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ออกโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อยกโทษความผิดฐานกบฏจลาจล เนื่องในโอกาสที่พระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาครบ 25 ศตวรรษ

          9. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พ.ศ. 2500 ออกโดย นายพจน์ สารสิน เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่รัฐประหารรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยระบุด้วยว่า สาเหตุของการทำรัฐประหาร เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการใช้อำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและหวาดกลัว

          10. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจ โดยระบุว่า เป็นการรัฐประหารเพื่อกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ที่อาจเข้ามายึดครองประเทศไทย

          11. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2502 ออกโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499

          12. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พ.ศ. 2515 ออกโดย จอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ร่วมทำการปฏิวัติ โดยครั้งนี้เป็นการปฏิวัติตัวเอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายต่อชาติ และกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมเสียใหม่

          13. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พ.ศ. 2616 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้นิสิตนักศึกษาที่เดินขบวนเรียกร้องในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

          14. พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ 36/2515 ลงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2517 ออกโดย นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ

          15. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519 ออกโดย นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ทำการรัฐประหารในครั้งนั้น ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

          16. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 25 และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อยกโทษให้ผู้ที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร แต่ไม่สำเร็จ

          17. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2520 ออกโดย พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้การรัฐประหารตัวเอง

          18. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พ.ศ. 2521 ออกโดย พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

          19. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2524 ออกโดย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่มยังเติร์กที่พยายามก่อรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม แต่ไม่สำเร็จ

          20. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ระหว่างวันที่ 8 และวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528 พ.ศ. 2531 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้กลุ่ม "กบฏ 9 กันยา" ที่พยายามรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย

          21. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2532 ออกโดย พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เพื่อนิรโทษกรรมให้ผู้ที่ได้กระทำความผิดตามกฎหมายปราบปรามคอมมิวนิสต์

          22. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 พ.ศ. 2534 ออกโดย นายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อยกโทษให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่กระทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

          23. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 พ.ศ. 2535 ออกโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร เพื่อยกโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมพฤษภาทมิฬทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ทหารที่ปราบปรามประชาชน รวมทั้งผู้ชุมนุม

          สำหรับในปี พ.ศ. 2556 นี้ จะมีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อล้างความผิดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมือง ระหว่างปี 2547-2556 หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไป


ติดตามข่าวนิรโทษกรรม แบบอัพเดททั้งหมดคลิกเลย



 


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
- คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
- kodmhai.com
- ilaw.or.th



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิรโทษกรรม คืออะไร...รู้ไหม? ไทยเคยใช้แล้ว 23 ฉบับ อัปเดตล่าสุด 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 11:31:58 438,486 อ่าน
TOP
x close