ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน


ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน

 
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ พลังประชาชน รักความยุติธรรม สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม
 
           กิตติรัตน์ ณ ระนอง และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ยืนยัน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ขณะที่องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย แนะทำถนนลูกรังให้หมดก่อน
 
           เมื่อวานนี้ (8 มกราคม 2557) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน นำโดยนายจรูญ อินทจาร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่


กิตติรัตน์ ณ ระนอง
 
           ในช่วงบ่าย ตั้งแต่เวลา 13.45 น. องค์คณะศาลรัฐธรรมนูญได้ทำการไต่สวนพยานในส่วนของรัฐบาลก่อน  ขณะที่พยานในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ ศาลจะนัดมาไต่สวนภายหลัง โดยตอนหนึ่งของการไต่สวน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ปฏิบัติหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้แทนของนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นเบิกความ โดยสรุปได้ว่า กรณีที่กระทรวงการคลังและรัฐบาล พิจารณาที่จะออกกฎหมายฉบับนี้ เพื่อที่จะนำไปใช้จ่ายลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...
 
           ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำการศึกษาโครงการดังกล่าว ด้วยการขอความเห็นจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และทาง ครม. ก็เห็นว่า มีอำนาจที่จะเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ โดยเป็นการปฏิบัติไม่ขัดต่อมาตราใดมาตราหนึ่ง ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ รวมถึงมีการสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่าสามารถทำได้
 
           และเมื่อรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นและเร่งด่วนระดับหนึ่ง เพราะการดำเนินการในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่ง ต้องใช้เวลาดำเนินการนานหลายปี ดังนั้นหากการดำเนินการมีความรวดเร็วตั้งแต่เบื้องต้น ก็จะทำให้โครงการเสร็จสิ้นได้
 
           จากนั้น น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และนายชนรรค์ พุทธมิลินประทีป รอง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (สงบ). ขึ้นเบิกความต่อ โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้สอบถามแนวคิดและความเห็นจากบุคคลทั้งสองว่า สามารถใช้เงินจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยไม่จำเป็นต้องออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงินหรือไม่
 
           รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีความรัดกุมหรือไม่ และอาจเกิดความรั่วไหลหรือไม่ ขณะเดียวกันเมื่อกู้เสร็จแล้วจะต้องใช้หนี้คืนภายในระยะเวลากี่ปีทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย  และหากโครงการผ่านไป 2 ปี  จะสามารถกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพิ่มอีกได้หรือไม่
 
           น.ส.จุฬารัตน์ ชี้แจงแบบกว้าง ๆ ว่า ตามกฎหมายไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะต้องใช้หนี้คืน แต่ได้มีการประมาณการทางวิชาการว่า โครงการนี้เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นทรัพย์สินของประเทศนับร้อยปี และรัฐบาลมีความสามารถที่จะนำเงินมาจ่ายชำระดอกเบี้ยโดยไม่เป็นภาระมาก ซึ่งสมมติฐานทางวิชาการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้น่าจะชำระได้ภายใน 50 ปี   อย่างไรก็ตาม คำถามที่ระบุว่าหากโครงการผ่านไป 2 ปี จะสามารถกู้เงินได้อีกหรือไม่ ยอมรับว่าไม่สามารถทำได้
 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

           จากนั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขึ้นเบิกความว่า ภาพรวมของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการเตรียมกรอบวงเงินไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท ภายในระยะเวลา 7 ปี เพื่อให้มีวงเงินสำคัญที่จะมาดำเนินโครงการสำหรับการลงทุนของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่ใช่การอนุมัติโครงการ
 
           ซึ่งการอนุมัติโครงการทุกโครงการต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโดยทุกโครงการต้องทำตามที่กฎหมายเกี่ยวข้อง ทั้งนี้โครงการทั้ง 53 โครงการไม่มีการทำผิดตามรัฐธรรมนูญ เพราะได้ทำการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ปฏิบัติตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นตามระเบียบต่าง ๆ ที่อยู่ในโครงการใหญ่ของประเทศทั่วไป
 

           นอกจากนี้ยังมีรายงานเรื่องการเบิกจ่าย เพื่อให้สามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้ รวมทั้งยังแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามโครงการนี้ ได้มีการหารือกับหน่วยงานระดับโลก และหารือกับทางภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น เพื่อความโปร่งใสในการทำโครงการดังกล่าว
 
           นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า เรื่องความโปร่งใสตนกังวลเรื่องนี้มากที่สุด แต่ก็ต้องเรียนว่าความโปร่งใสอยู่ที่ระบบ ซึ่งไม่อาจเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. นี้ จึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าโครงการดังกล่าวยังสนับสนุนในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพราะทำให้การคมนาคมขนส่งสะดวกขึ้น ส่วนการก่อหนี้เกินตัวนั้น ทางสำนักงานบริหารหนี้ได้คิดเรื่องนี้ไว้แล้ว สำหรับวงเงินของโครงการดังกล่าวนั้นอยู่ที่ 4.2 ล้านล้านบาท แต่ขณะนี้ได้นำมาใช้ในวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวินัยทางการเงินที่กฎหมายได้กำหนดไว้
 
สุพจน์ ไข่มุกต์


           ทั้งนี้ ระหว่างที่ นายชัชชาติ เบิกความอยู่นั้น นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายชัชชาติถึงความจำเป็นในการออกตราร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ก่อนจะกล่าวด้วยความเห็นส่วนตัวว่า รู้สึกเป็นห่วงว่าการกู้เงินครั้งนี้จะสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน จึงเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่มีความจำเป็นต่อประเทศไทย หากเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน

           "สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องคิดล่วงหน้า ไม่ใช่คิดแต่เฉพาะประเทศไทย ต้องคิดถึงระดับภูมิภาค อนุภูมิภาค ระดับสากลด้วย มันถึงจะคุ้ม สิ่งเหล่านี้ถ้าเราจะทำมันไม่สามารถทำได้ในชั่วคืนเดียวแล้วมากู้ 2 ล้านล้าน เพื่อเอาระบบความเร็วสูงมา ถ้าเป็นระบบรางคู่ ผมจะไม่พูดสักคำเดียว แล้วไม่ต้องเสียเวลามานั่งอยู่ตรงนี้ด้วย เพราะระบบรางคู่จำเป็นมาก ไม่ต้องเสียเวลาไปสับหลีกกัน เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเงินกู้ 2 ล้านล้านนี่ คุณชัชชาติตายไปเกิดใหม่มารุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังใช้หนี้ไม่หมดเลย"

           จากนั้น ในเวลาต่อมา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ประเทศไทยต้องการปฏิรูปทุกด้าน โดยเฉพาะด้านการศึกษา ไม่ใช่ระบบคมนาคมอย่างเดียว ขอให้รัฐบาลไปคิดเรื่องนี้อย่างรอบคอบก่อนจะลงมือทำ ทั้งนี้เห็นว่า รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และอยากให้คำนึงถึงภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นอีก 50 ปี ข้างหน้าอีกด้วย
 
           ทั้งนี้ หลังการไต่สวนเสร็จสิ้นลงในเวลา 16.25 น. นายบุญส่ง  กุลบุปผา ตุลาการศาล รธน. เผย รายชื่อพยานผู้เชี่ยวชาญที่ศาลจะเรียกไต่สวนในขั้นตอนต่อไป ประกอบด้วย

           • นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

           • นายพิสิฐ  ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

           • น.ส.สุภา ปิยะจิตติ  รองปลัดกระทรวงการคลัง

           • นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

           • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 
           เนื่องจากศาลได้เลื่อนการชี้แจงในวันนี้ และให้มาชี้แจงในวันที่ 15 มกราคม 2557  เวลา 10.00 น. แทนกำหนดการเดิม



 
คลิป "โต้ง-ชัชชาติ" เบิกความกู้ 2 ล้านล้าน ตุลาการ ชี้ รถไฟเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย โพสต์โดยคุณ LAKORNHD Thaitv (Official)




 





 
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็น ทำถนนลูกรังให้หมดก่อน อัปเดตล่าสุด 9 มกราคม 2557 เวลา 18:12:43 109,877 อ่าน
TOP
x close