x close

ประวัติคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ


jaruwan

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เบอร์ 8

          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ กับประวัติความเป็นมา ตั้งแต่ครอบครัว จนถึงการเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและ คตส.

          ในที่สุดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยความราบรื่น แม้ว่าบรรยากาศเลือกตั้งค่อนข้างเหงาหงอย มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ถึงครึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมดก็ตาม

          ทว่าการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้ ไฮไลท์สำคัญคงหนีไม่พ้นพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่มีผู้สมัครมากถึง 18 คน ลงช่วงชิงเก้าอี้ ส.ว.กรุงเทพฯ เพียงตัวเดียวเท่านั้น โดยผู้สมัครที่โดดเด่นคุ้นหน้าคุ้นตาประชาชนกันเป็นอย่างดีก็มีคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.), พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาท อดีตผู้บังคับการกองปราบปราม หรือนายโฆสิต สุวินิจจิต อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

          แต่สุดท้าย ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการก็ปรากฏว่า คุณหญิงจารุวรรณ กวาดคะแนนไปได้ 552,530 คะแนน ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่าง พล.ต.ต.สุพิศาล ที่ได้ 267,947 คะแนน ถือว่าห่างมากพอสมควร ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด กรุงเทพฯ ก็จะมี ส.ว. หญิงคนที่สองติดต่อกัน ต่อจากนางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ดังนั้น เราจะมารู้จักกับคุณหญิงจารุวรรณเพิ่มเติมกัน

    
ชีวิตครอบครัว  

          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2488 ชื่อเล่นชื่อ เป็ด โดยเป็นบุตรคนโตจากทั้งหมด 8 คนของนายเต็ม ยรรยง และนางยรรยง ยรรยง ส่วนชีวิตสมรส คุณหญิงจารุวรรณ ได้สมรสกับนายทรงเกียรติ เมณฑกา นักธุรกิจด้านสิ่งพิมพ์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ดังนี้

          1. นายกิตติวัฒน์ เมณฑกา

          2. นางสาวขจาริน เมณฑกา

          3. นางสาวศุภางค์ เมณฑกา

    
การศึกษา

          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา จบการศึกษาจากโรงเรียนศึกษาวัฒนา ก่อนที่จะต่อในระดับชั้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แล้วเข้าเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จบปริญญาโทด้านการบัญชีและการตรวจสอบ มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาเอกด้านนโยบายสาธารณะและการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

    
ชีวิตการทำงาน 

          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เริ่มต้นทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่บริษัท NCR ก่อนเข้าทำงานด้านบัญชีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และได้สอบชิงทุน ก.พ. ในส่วนของ สตง. จนได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในช่วงที่คุณหญิงจารุวรรณศึกษาต่อนั้น ก็ได้ทำงานที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่สหรัฐฯ ด้วย

          ภายหลังจากเรียนจบ คุณหญิงจารุวรรณกลับมาทำงานที่ สตง. จนสามารถขยับตำแหน่งได้เรื่อย ๆ ได้เป็น ผอ.สตง.ภูมิภาค, ผู้ช่วย ผอ.สตง และ รอง ผอ.สตง.

    
          ทั้งนี้ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของการรับราชการของคุณหญิงจารุวรรณ เกิดขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เป็นองค์กรอิสระ โดยต้องมีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จำนวน 10 คน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จำนวน 1 คน ด้วยเหตุนี้ คุณหญิงจารุวรรณ จึงสมัครเป็น คตง. อย่างไรก็ตาม ในตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ทาง คตง. ได้คัดเลือกเหลือ 3 คน ได้แก่ นายประธาน ดาบเพชร, คุณหญิงจารุวรรณ และนายนนทพล นิ่มสมบูรณ์ ผลปรากฏว่า นายประธาน ได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

          อย่างไรก็ตาม ทางนายปัญญา ตันติยวรงค์ ประธาน คตง. กลับเสนอ 3 รายชื่อให้แก่วุฒิสภา แทนที่จะเสนอชื่อผู้ที่ได้รับเลือกเพียงคนเดียว ก็คือนายประธาน สุดท้ายกลายเป็นกลุ่มวุฒิสภาสนับสนุนคุณหญิงจารุวรรณ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทน ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้เป็นคดีความยาวนานถึง 12 ปี โดยจะขอกล่าวถึงในภายหลัง

          ต่อมา สถานการณ์ทางการเมืองไทยเริ่มไม่นิ่ง มีการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จนสุดท้ายก็เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้จัดการยุบ คตง. แล้วแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณเป็นรักษาการประธาน คตง. ที่ถูกยุบ พร้อมกับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ คตส. คอยตรวจสอบคดีทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณไปด้วย

การทำงานในบทบาท คตส.

          คดีแรกที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ทำในฐานะ คตส. ก็คือคดีเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ของสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้นเป็นผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งความผิดในคดีนี้เกี่ยวข้องกับการจัดประมูลและฮั้วประมูล ซึ่งทำให้รัฐเกิดความเสียหาย โดยสุดท้ายคดีนี้ทางอัยการสูงสุดระบุถึงความไม่สมบูรณ์ของคดี ก่อนที่ คตส. จะหมดวาระเพียงแค่ 3 วัน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อ ซึ่งทาง ป.ป.ช. ก็มีมติยกคำร้อง

          นอกจากนี้ คดีอื่น ๆ ที่ คตส. ได้ตรวจสอบการทุจริตในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ มีดังนี้

          1. คดีที่ดินรัชดา ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นระยะเวลา 2 ปี

          2. คดีจัดซื้อกล้ายาง มูลค่า 1.4 พันล้านบาท

          3. คดีทุจริตออกสลากพิเศษรางวัลเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัวของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

          4. คดีการให้กู้เงินของผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์


          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่คุณหญิงจารุวรรณดำรงตำแหน่ง ก็ได้มีปัญหาและคดีความเกิดขึ้น ดังที่เป็นข่าวก็คือ

คดีความการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

          คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2544 จากการที่พนักงานอัยการและนายประธาน ผู้ที่ถูกเสนอชื่อต่อวุฒิสภาให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ยื่นฟ้องนายปัญญา ประธาน คตง. ในขณะนั้น ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ยื่นรายชื่อ 3 คนแก่วุฒิสภา แทนที่จะยื่นรายชื่อนายประธานซึ่งเป็นผู้ที่ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่จากกรรมการเพียงคนเดียว ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้จำคุกนายปัญญา 3 ปี ไม่รอลงอาญา

          อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้อง ส่วนศาลฎีกาก็ได้ยกคำร้องของศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกนายปัญญา 3 ปี โดยรอลงอาญา 2 ปี ฐานเป็นความผิดสำเร็จ ในปี 2556 รวมระยะเวลาของคดีนี้ทั้งหมดคือ 12 ปี

ปัญหาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตามกำหนดคือวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ซึ่งอายุครบ 65 ปีพอดี อย่างไรก็ตาม คุณหญิงจารุวรรณ ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยอ้างประกาศของ คปค. ที่ระบุว่า ถ้ายังไม่มีการเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินคนใหม่ คนเก่าก็ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปก่อน ซึ่งสุดท้ายสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตีความเรื่องดังกล่าวว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นตำแหน่งตั้งแต่อายุครบ 65 ปีแล้ว เนื่องจากประกาศของ คปค. ไม่ได้ยกเว้นเหตุการพ้นตำแหน่งตาม พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดินแต่อย่างใด

ป.ป.ช. ลงมติมีความผิด ม.157 ไม่ได้จัดสัมมนา สตง.


          เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ลงมติว่า คุณหญิงจารุวรรณ มีความผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หลังจากที่ได้ลงนามอนุมัติการจัดสัมมนาเรื่อง สตง. ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา วันที่ 31 ตุลาคม 2546 ภายในค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 479,980 บาท แต่ในข้อเท็จจริงการสัมมนากลับไม่ได้ตรงกับรายละเอียด เพราะตรวจสอบพบว่าทางคณะได้เบิกงบหลวงไปใช้ในการทอดกฐิน ก่อนที่คุณหญิงจารุวรรณจะชี้แจงว่าการทอดกฐินนั้นใช้เงินส่วนตัว

การลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว. 2557

          คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.กรุงเทพฯ ได้รับหมายเลข 8 โดยมีคะแนนเสียงมาเป็นลำดับที่ 1 ด้วยคะแนน 552,530 อย่างไรก็ตาม คุณหญิงจารุวรรณก็ถูกร้องเรียน หลังจากที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต ส.ว.สรรหา ได้ขึ้นเวที กปปส. ปราศรัยชวนให้เลือกคุณหญิงจารุวรรณ มาเป็น ส.ว. เพื่อโค่นระบอบทักษิณ ซึ่งต้องดูต่อไปว่าจะส่งผลต่อการเลือกตั้ง ส.ว. ครั้งนี้หรือไม่

          ทั้งหมดนี้ก็เป็นประวัติของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ และเป็นแคนดิเดตรายชื่อแรก ๆ ที่มีโอกาสได้เป็นประธานวุฒิสภาชุดใหม่เลยทีเดียว

    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
     








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประวัติคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ว่าที่ ส.ว.กรุงเทพฯ อัปเดตล่าสุด 1 เมษายน 2557 เวลา 14:39:09 19,004 อ่าน
TOP