x close

ส.ว. ป้ายแดง ใครเป็นใครในวุฒิสภา มาดูเบื้องหลัง สว 2557


เปิดปูมเบื้องหลัง ว่าที่ ส.ว. ป้ายแดง ใครเป็นใคร ในวุฒิสภา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

             ส.ว.ป้ายแดง มาดูประวัติเบื้องลึกเบื้องหลัง ของว่าที่ ส.ว. ป้ายแดง ในแต่ละจังหวัด ว่าใครเอี่ยวกลุ่มการเมืองใด

            วานนี้ (31 มีนาคม 2557) สำนักข่าวอิศรา ได้เปิดเผยข้อมูลของว่าที่ ส.ว. ป้ายแดง ที่เพิ่งประกาศผลการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะดูเงียบเหงา แต่ก็ไม่มีเรื่องร้ายใด ๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี จนได้ว่าที่ ส.ว. ในทุก ๆ จังหวัด

            อย่างไรก็ดี ทางสำนักข่าวอิศรา ก็ขอรวบรวมข้อมูลของว่าที่ ส.ว. ที่ชนะเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด แบบเจาะลึกมาให้ได้ทราบกัน ว่า รายชื่อของแต่ละคนนั้น เอี่ยวกับกลุ่มการเมืองใดบ้าง และมีความใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองอย่างไร มานำเสนอให้ได้ทราบกัน

         
ภาคเหนือ

            ว่าที่ ส.ว. เชียงใหม่ - อดิศร กำเนินศรี

            อดิศร กำเนิดศรี อดีตรองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เป็นฐานเสียงหลักของตระกูลชินวัตร ซึ่งคะแนนก็มาแรงแซงตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว นอกจากนี้ ยังสนิทกับอดีต ส.ส.เชียงใหม่ ของพรรคเพื่อไทยคน ทำให้ อดิศร เอาชนะ นายกฤษณพงษ์ พรมบึงรำ  แกนนำกลุ่มรักเชียงใหม่ 51  ฐานเสียงใหญ่ของ เพชรวรรต วัฒนพงศ์ศิริกุล อย่างขาดลอย
 
            ว่าที่ ส.ว. ลำพูน - ตรี ด่านไพบูลย์

            ตรี ด่านไพบูลย์ ว่าที่ ส.ว. คนนี้ ประวัติก็ไม่ธรรมดา เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่ง อดีต ส.ส.ลำพูน อยู่หลายสมัย อีกทั้ง  นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน ที่อิงฐานพรรคเพื่อไทย พี่ชายของนายตรี ก็ยังเป็นเด็กของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

            ว่าที่ ส.ว. เชียงราย - มงคล ดวงแสงทอง

            มงคล ดวงแสงทอง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม จ.เชียงราย  พลิกโผ เอาชนะตัวเต็งอย่าง ปรีชา พัวนุกุลนนท์  ที่มีตระกูล ติยะไพรัช  คอยให้การสนับสนุนไปได้สำเร็จ

            ว่าที่ ส.ว. ลำปาง - วราวุฒิ หน่อคำ

            วราวุฒิ หน่อคำ อดีตประธานสภาทนายความภาค 5 ก็สามารถล้ม บุญชู ตรีทอง อดีต ส.ส.ลำปาง หลายสมัยไปได้ ท่ามกลางกระแสข่าวลือว่า วราวุฒิ ได้แรงหนุนจากคนเสื้อแดงไปค่อนข้างเยอะ 

            ว่าที่ ส.ว. นครสวรรค์ - ร.อ.จักรวาล ตั้งภากรณ์

            อดีตรองนายก อบจ.นครสวรรค์ พี่ชาย บรรยิน ตั้งภากรณ์ อดีต ส.ส.นครสวรรค์ และ อดีต รมช.พาณิชย์ ซึ่งมีความสนิทสนมกับ สมศักดิ์ เป็นอย่างดี


ภาคอีสาน

            ว่าที่ ส.ว. อุดรธานี - อาภรณ์ สาราคำ

            เรียกได้ว่าคะแนนทิ้งห่างคู่แข่งแบบหายห่วงเลยล่ะ สำหรับ อาภรณ์ สาราคำ ภรรยาของ ขวัญชัย ไพรพนา  ประธานชมรมคนรักอุดรฯ ที่ลงสมัคร ส.ว.อุดรธานี ซึ่งเธอได้รับแรงหนุนจากกลุ่มคนเสื้อแดงอย่างล้นหลาม
 
            ว่าที่ ส.ว. ร้อยเอ็ด - สมเกียรติ พื้นแสน
 
            สมเกียรติ พื้นแสน อดีต ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาร้อยเอ็ด คนนี้ก็ทำคะแนนได้ดี เนื่องจากเป็นน้องชายของ พล.ต.อ.วิรุฬ ฟื้นแสน อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย

            ว่าที่ ส.ว. ศรีสะเกษ - วิลดา อินฉัตร

            เป็นอีกพื้นที่เสื้อแดง สำหรับ วิลดา อินฉัตร น้องสาว นางสาวมาลินี อินฉัตร อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย คว้าเก้าอี้ ส.ว. ไปครอบครองได้สำเร็จ

            ว่าที่ ส.ว. อุบลราชธานี - สมชาย เหล่าสายเชื้อ

            เรียกได้ว่านอนมาแบบไม่มีพลิกโผเลยทีเดียว สำหรับ  สมชาย เหล่าสายเชื้อ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตโยต้าดีเยี่ยมอุบลราชธานี  ที่มีความสนิทสนมกับ เกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงอดีต ส.ส.อุบลราชธานี เพื่อไทยทั้งพรรค

            ว่าที่ ส.ว. ยโสธร - ประยูร เหล่าสายเชื้อ

            เป็นอีกหนึ่งเครื่อข่ายของพรรคเพื่อไทย อีกทั้ง ประยูร เหล่าสายเชื้อ ยังเป็นภรรยาของนายสมชาย เหล่าสายเชื้อ  จึงทำให้เธอเข้าวินเป็น ส.ว. ได้โดยปริยาย

            ว่าที่ ส.ว. มหาสารคาม - ศรีเมือง เจริญศิริ

            ศรีเมือง เจริญศิริ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งเคยได้เข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ที่สะพานผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2553 งานนี้เหล่าเสื้อแดงก็ร่วมหนุน ทำให้ ศรีเมือง เข้าวินไปอย่างไร้คู่แข่ง

            ว่าที่ ส.ว. ชัยภูมิ - บัณฑูรย์ เกียรติก้องชูชัย

            หนึ่งเดียวในพรรคภูมิใจไทย ที่คว้าตำแหน่ง ส.ว. ซึ่ง บัณฑูรย์ เกียรติก้องชูชัย เป็น พี่ชายนายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย อดีต ส.ส.ชัยภูมิ ภูมิใจไทย

            ว่าที่ ส.ว. นครราชสีมา - พงษ์ศิริ กุสุมภ์
 
            อดีตผู้ว่าฯ หลายจังหวัด อีกทั้งยังมีข่าวสนิทสนมกับ แกนนำพรรคชาติพัฒนาหลายคนโดยเฉพาะ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ  เพราะเคยเป็นรองผู้ว่าฯ นครราชสีมา มาก่อน จึงทำให้ พงษ์ศิริ กุสุมภ์ นั่งเก้าอี้ ส.ว. ได้อย่างสบาย ๆ

            ว่าที่ ส.ว. สระแก้ว - ดวงพร เทียนทอง

            หลานสาวของ เสนาะ เทียนทอง ซึ่งรักษาเก้าอี้ ส.ว. ให้กับตระกูลเทียนทองได้สำเร็จ ทำให้ตำแหน่งทางการเมืองเกือบทั้งหมดของ จ.สระแก้ว อยู่ในความดูแลของตระกูลเทียนทอง


ภาคใต้

            ว่าที่ ส.ว. พังงา - วระชาติ ทนังผล

            วระชาติ ทนังผล อดีตรองนายก อบจ.พังงา และอดีตเป็นแกนนำ กปปส. ที่ขอท้าชิงตำแหน่ง ส.ว. และฐานเสียงของ กปปส. ก็หนุนให้ วระชาติ คว้าเก้าอี้ได้สำเร็จ

            ว่าที่ ส.ว. ตรัง - สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ

            สมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ว.ตรัง เจ้าเก่า พี่ชาย นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง ปชป. ก็กลับมาคว้าแชมป์ เข้าเส้นชัยอย่างไร้กังวล

            ว่าที่ ส.ว. พัทลุง - ทวี ภูมิสิงหราช

            ทวี ภูมิสิงหราช  อดีตรองนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง แกนนำ กปปส.พัทลุง  ก็คว้าชัยอย่างไม่อยาก ถึงแม้จะมีแชมป์ 2 สมัย ลงเข้าแข่งขัน แต่ก็สามารถเอาชนะได้อย่างสำเร็จ

            ว่าที่ ส.ว. ชุมพร - พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์

            ลูกหม้อของ ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร แกนนำ กปปส. อย่าง พ.ต.อ.นรินทร์ บุษยวิทย์ อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร ก็ได้รับแรงหนุนอย่างท่วมท้น คว้าชัยไปในที่สุด
 
            ว่าที่ ส.ว. กระบี่ - อภิชาติ ดำดี

            อภิชาติ ดำดี นักพูดชื่อดัง และอดีต ส.ส.ร. ปี 2550 เป็นผู้ที่ปรากฏตัวบนเวที กปปส. อยู่บ่อยครั้ง จึงไม่แปลกที่จะเข้าวินไปอย่างสบาย ๆ

            ว่าที่ ส.ว. ประจวบคีรีขันธ์ - สืบยศ ใบแย้ม
 
            เคยเป็นอดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มาก่อน ซึ่งครั้งนี้ ก็คว้าชัยได้สำเร็จ ไม่ทำให้ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการ พรรค ปชป. ต้องผิดหวัง เนื่องจากทั้งสองคนคอยให้การสนับสนุนกันมาตลอด


ภาคกลาง

            ว่าที่ ส.ว. กำแพงเพชร - จุลพันธ์ ทับทิม

            จุลพันธ์ ทับทิม อดีตนายก อบจ.กำแพงเพชร มีข่าวลือว่าได้รับแรงหนุนจาก สายปรีชา มุสิกุล อดีต ส.ส. กำแพงเพชร พรรคประชาธิปัตย์มาหลายสมัย

            ว่าที่ ส.ว. เพชรบุรี - ลักขณา สุภาแพ่ง

            เอาชนะแบบขาดลอยเช่นกัน สำหรับ ลักขณา สุภาแพ่ง น้องสาว อภิชาติ สุภาแพ่ง อดีต ส.ส. เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์

            ว่าที่ ส.ว. ปทุมธานี  - นิพัทธา อมรรัตนเมธา

            เบียดเอาชนะตระกูล หาญสวัสดิ์ ไปได้แบบพลิกล็อก สำหรับ นิพัทธา อมรรัตนเมธา อดีต ส.ว. ปทุมธานี อดีตผู้ว่าฯ ปทุมธานี เบียดเอาชนะตระกูล

            ว่าที่ ส.ว. ชัยนาท - มณเฑียร สงฆ์ประชา

            มณเฑียร สงฆ์ประชา  พี่ชายนางนันทนา สงฆ์ประชา ว่าที่ ส.ส. ชัยนาท พรรคเพื่อไทย แรงเชียร์จากพรรคเพื่อไทยก็ส่งให้คว้าชัยไปได้อีกคน

            ว่าที่ ส.ว. สมุทรสงคราม - บุญยืน ศิริธรรม
 
            เป็นนักเคลื่อนไหวด้านผู้บริโภค ที่เข้าวินในตำแหน่ง ส.ว. สมุทรสงคราม ซึ่งถือว่าเป็นเอ็นจีโอเพียงหนึ่งเดียวในสภาสูงของเมืองไทยในขณะนี้

            ว่าที่ ส.ว. สมุทรปราการ - วราภรณ์ อัศวเหม

            เข้าวินแบบไม่มีคู่แข่ง สำหรับ วราภรณ์ อัศวเหม ถึงแม้คู่แข่งจะอิงกระแสคนเสื้อแดง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะตระกูลอัศวเหมได้


ภาคตะวันออก

            ว่าที่ ส.ว. ตราด - บุญส่ง ไข่เกษ

            บุญส่ง ไข่เกษ ชนะด้วยแรงเสียงจากชาวบ้าน เนื่องจากเป็น ส.ส. ตราด พรรคประชาธิปัตย์ มากหลายสมัย
 
            ว่าที่ ส.ว. ระยอง สุรชัย ปิตุเตชะ

            สุรชัย ปิตุเตชะ  อดีต สจ. ระยอง คะแนนนำลิ่วมาเล เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจาก สาธิต ปิตะเตชะ รองหัวหน้าประชาธิปัตย์


ตะวันตก

            ว่าที่ ส.ว. ตาก - ชิงชัย ก่อประภากิจ

            ชิงชัย ก่อประภากิจ เคยเป็น อดีตนายก อบจ.ตาก สนิทกับแกนนำประชาธิปัตย์
 

กรุงเทพมหานคร

            ว่าที่ ส.ว. กทม. - คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

            ยังไม่เปิดตัวว่าอิงไปขั้วใด แต่จากประสบการณ์การทำงาน ทั้งอดีตผู้ว่าตรวจการแผ่นดินและเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งมีบทบาทตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งคาดว่าการทำงานในบทบาท ส.ว. ของ คุณหญิงจารุวรรณ จะตรวจสอบได้ดุเด็ดเผ็ดแน่นอน


            อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าจับตามองว่า ส่วนมากผู้ที่ได้เก้าอี้ ส.ว. มักจะมีความสนิทสนมกับผู้มีอิทธิพลหรือนักการเมืองในจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115 บุคคลผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภา (5) ไม่เป็นบุพการี คู่สมรสหรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  นอกจากนี้ในมาตรา 119 ระบุอีกว่า สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลงเมื่อ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 115

            เอ้า ! งานนี้ ต้องมาติดตามดูว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส.ว. ป้ายแดง ใครเป็นใครในวุฒิสภา มาดูเบื้องหลัง สว 2557 อัปเดตล่าสุด 8 เมษายน 2557 เวลา 11:47:42 41,505 อ่าน
TOP