x close

ธีระชัย เสนอ 3 วิธีปฏิรูประบบข้าราชการ สกัดการเมืองครอบงำ

 
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala
 
          อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอวิธีปฏิรูประบบข้าราชการไทย 3 วิธี ป้องกันไม่ให้ถูกฝ่ายการเมืองครอบงำ และมีการเลือกข้าง

          วันนี้ (22 เมษายน 2557) เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการเขียนข้อความเสนอวิธีการปฏิรูประบบข้าราชการไทยว่า ตอนนี้ระบบข้าราชการไทย ถูกฝ่ายการเมืองครอบงำ จนทำให้ต้องเลือกข้าง ส่งผลให้การบริหารประเทศมีปัญหา ดังนั้นจึงขอเสนอวิธีปฏิรูปข้าราชการ 3 วิธี ดังนี้
         
          1. การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ตามแนวคิดของ กปปส. อาจจะทำให้ข้าราชการลดการเลือกข้าง เลือกพรรคการเมือง เพื่อตำแหน่ง

          2. สร้างข้อห้ามข้าราชการได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อตัดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากฝ่ายการเมือง

          3. ห้ามนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ แต่ควรเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ ซึ่งมาจากอดีตข้าราชการ

          สำหรับข้อความทั้งหมดของนายธีระชัย มีดังนี้

          ปฏิรูป ระบบข้าราชการ

          ถ้าย้อนเวลาไปหลายสิบปี จะพบว่าข้าราชการไทย เป็นตัวจริงเสียงจริง ที่บริหารประเทศ

          ข้าราชการในที่นี้ ผมพูดในบทบาทของผู้ที่ปฏิบัติงานสาธารณะ มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า civil servant

          ในสมัยก่อนนั้น เด็กเรียนจบมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ จะนิยมทำราชการมากกว่าเอกชน เพราะจะสามารถสร้างผลงานได้เต็มที่

          การทำงานของข้าราชการเป็นหลัก ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ประเทศในภูมิภาคก็เช่นกัน ผมยังจำได้ เมื่อเดินทางไปต่างประเทศกับข้าราชการผู้ใหญ่ในสมัยนั้น การพูดคุยกันนอกรอบ บ่อยครั้งจะมีการเปรียบเทียบข้าราชการระดับสูง ของประเทศภูมิภาค

          เขาจะวิจารณ์กันว่า ประเทศนี้ ประเทศนั้น มีนักเรียนต่างประเทศที่มีความสามารถ เป็นข้าราชการอยู่กี่ระดับ ประเทศใดที่มีบุคลากรเด่นรองไว้หลายชั้น ก็จะเป็นที่นิยม

          หลายประเทศ ระบบราชการมีการให้ทุนการศึกษา เพื่อสอบแข่งขันกัน ไปเรียนในประเทศสหรัฐ อังกฤษ ฮอลแลนด์

          ผู้แทนเอกชนตะวันตกคนหนึ่งบอกผมว่า ในยุคนั้น วิธีดูอนาคตของประเทศในภูมิภาค ว่าจะสดใสและมีศักยภาพมากน้อยเพียงใดนั้น ง่ายมาก เพียงแต่เข้าไปพูดคุยกับข้าราชการ ระดับสูงสุด และระดับรอง ๆ ลงไป

          ถ้าพบว่าข้าราชการมีความฉลาดหลักแหลม มีวิสัยทัศน์ ก็เดาได้เลยว่า ประเทศนั้น ๆ จะก้าวหน้ารุ่งเรืองแน่นอน

          ประเทศไทยในสมัยนั้น พรรคการเมืองจะไม่ค่อยยุ่งกับข้าราชการ และการวางนโยบายก็จะปล่อยให้ข้าราชการเป็นผู้ชงเรื่องเป็นหลัก

          บางคนจะพูดเล่น ๆ ด้วยซ้ำว่า พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุด ก็คือ พรรค "ข้าราชการ"

          แต่ในยุคหลัง ภาพนี้เปลี่ยนไป ระบบราชการไม่สามารถดึงดูดนักเรียนเก่งได้มากเท่าเดิม เพราะภาคเอกชนมีการพัฒนาเร็ว ระดับเงินเดือนและสวัสดิการของเอกชน ทิ้งห่างราชการ

          ในทางกลับกัน ภาคการเมืองกลับสามารถดึงดูดคนเก่งได้มากกว่าราชการ ภาคการเมืองจึงเริ่มเป็นผู้กำหนดนโยบาย แทนที่จะรับลูกจากข้าราชการเป็นหลัก

          นอกจากนี้ วิธีคิดของข้าราชการ ก็อาจจะมีข้อจำกัด เพราะจะเน้นแบบอนุรักษนิยม เป็นขั้นเป็นตอน ไม่กล้าเสี่ยงมากเกินไป

          ที่จริง การที่นักการเมืองเป็นคนคิดนำ ทำนองเป็นผู้ขายฝัน และข้าราชการเป็นคนท้วงติง ทำนองเป็นผู้ช่วยตีกรอบความฝัน การร่วมมือกันระหว่างสองฝ่าย ก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ไม่เป็นปัญหาเท่าใด

          แต่ข้าราชการยังมีอีก 2 บทบาท

          หนึ่ง ข้าราชการต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง มิให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ระหว่างพรรคการเมือง

          สอง ข้าราชการต้องทำหน้าที่ป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการถ่วงดุลกับนักการเมือง ถ้าหากนักการเมืองจะทำการทุจริต

          ในบทบาทที่หนึ่งนั้น ขณะนี้มีปัญหามาก

          ผมเคยเดินทางไปต่างจังหวัดหลายปีก่อน ได้พูดคุยกับเพื่อน ขณะนั้นเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัดดังกล่าว และเป็นห้วงเวลาก่อนการเลือกตั้งทั่วไป

          เขาสารภาพว่า เขาตัดสินใจช่วยพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจอิทธิพลที่เขามี ขอร้องให้กลุ่มคนต่าง ๆ ในจังหวัด

          เขาบอกว่าจำเป็นต้องเลือกข้าง เพื่อให้มีโอกาสเลื่อนขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          ภายหลัง พรรคดังกล่าวชนะการเลือกตั้งอย่างขาดลอย และภายหลังเพื่อนของผมก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด

          แนวคิดอย่างนี้ เป็นอันตรายต่อขบวนการทางการเมือง และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้รับทราบว่า ข้าราชการผู้ใหญ่ที่ต้องการเลื่อนตำแหน่ง ต้องไปวิ่งเต้นกับนักการเมืองมากขึ้น บางครั้งต้องไปวิ่งเต้นถึงต่างประเทศ ยิ่งกระทบความน่าเชื่อถือของข้าราชการ

          ในบทบาทที่สองนั้น นอกจากข้าราชการพึงจะยับยั้งชั่งใจ ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่นเองแล้ว ข้าราชการจะต้องยับยั้ง มิให้นักการเมืองทุจริตด้วย

          และในระยะหลังนี้ บทบาทนี้ได้ลดลง ดังเห็นได้จากกรณีที่ ป.ป.ช. กล่าวหา ว่ามีการทุจริตในการขายข้าวแบบ G to G ที่ปลอม และเลี่ยงการประมูล ข้อมูลในสื่อกรณีดังกล่าว มีข้อพิรุธน่าสงสัยอยู่หลายจุด แต่ก็ไม่เห็นว่าข้าราชการได้มีการโต้แย้งหรือไม่อย่างใด

          แนวคิดในการปฏิรูป จึงอาจมีหลายจุด ตัวอย่างเช่น

          จุดแรก แนวคิดของ กปปส. ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด อาจจะช่วยแก้ปัญหาการเลือกข้างในทางการเมืองได้ทางหนึ่ง

          จุดที่สอง ควรมีข้อห้ามบางอย่าง ในการแต่งตั้งข้าราชการ เข้าเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อมิให้นักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ ดึงดูดล่อใจให้ข้าราชการเลือกข้าง
         
          จุดที่สาม ควรห้ามนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในการโยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง ข้าราชการ แต่ควรใช้กลไกคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยอดีตข้าราชการเท่านั้น

          แนวคิดข้างต้นคงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

          ผมจึงอยากเชิญชวนผู้อ่าน ให้ช่วยกันคิดและวิจารณ์กันต่อ ๆ ไป เพื่อช่วยกันทำให้ระบบข้าราชการ เป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างเต็มที่

 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธีระชัย เสนอ 3 วิธีปฏิรูประบบข้าราชการ สกัดการเมืองครอบงำ อัปเดตล่าสุด 22 เมษายน 2557 เวลา 15:54:17 6,644 อ่าน
TOP