x close

ส่งห่วงกระป๋อง... ส่งต่อความห่วงใย คืนความเท่าเทียมให้เราเท่ากัน



 

 

ส่งห่วงกระป๋อง... ส่งต่อความห่วงใย คืนความเท่าเทียมให้เราเท่ากัน


“คนเท่ากัน” วลีสั้นๆ อันนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะสิทธิในทางการเมืองหรือการแสดงออกเพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงบุคคลที่มีความบกพร่องทางกายอีกด้วย เพราะทุกคนมีสิทธิในความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันโดยกำเนิด ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูลผู้พิการและทุพพลภาพของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2557 พบว่ามีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียน และมีบัตรประจำตัวทั่วประเทศทั้งหมด 1,456,213 คน แบ่งเป็นชาย 789,961 คน หญิง 666,252 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้พิการขาขาดประมาณ 50,000 คน และจากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2550 พบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้ที่ต้องถูกตัดขากลายเป็นคนพิการรายใหม่ราว 3,500 คน ซึ่งคาดว่ามีคนพิการขาขาดอีกไม่ต่ำกว่า 19,310 คน ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการขาเทียม ด้วยข้อจำกัดหลายๆอย่าง

และจากสาเหตุที่ว่ามา ส่งผลให้การประกอบกิจวัตรประจำวันและการดำรงชีวิตมีข้อจำกัด หรือไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ทั้งการถูกเลือกปฏิบัติ ไม่มีใครรับเข้าทำงาน และไม่ได้รับบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น สำหรับสาเหตุของความพิการขาขาดส่วนใหญ่นั้นเกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน อุบัติเหตุ ความพิการแต่กำเนิด และโรคมะเร็ง

 

สำหรับพวกเขาเหล่านี้ “ขาเทียม” นับเป็นอุปกรณ์สำคัญอย่างยิ่ง ก็เพื่อให้พวกเขาสามารถดำรงชีวิตได้อย่างคนปกติทั่วไป แต่ปัจจัยหลักที่เป็นปัญหาก็คือ ต้นทุนการผลิตขาเทียมต่อข้างมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อย่างต่ำๆ จะอยู่ที่ข้างละประมาณ 30,000 บาท ยิ่งถ้าเป็นขาเทียมที่นำเข้า ราคาจะสูงถึง 70,000 บาท เลยทีเดียว






ในบรรดาวัสดุ ที่นิยมนำมาสร้างขาเทียมมากที่สุดก็คือ “อะลูมิเนียม” ซึ่งปัจจุบัน มีการนำของเก่ามารีไซเคิลกันมากขึ้น อาทิเช่น ถาดอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ที่ใช้รองแป้งในตลับแป้งเครื่องสำอาง กระป๋องน้ำอัดลม ฝาเครื่องดื่มต่างๆ ห่วงฝาดึงทุกชนิดที่ทำด้วยอะลูมิเนียมบริสุทธิ์ ซึ่งเราสามารถทราบได้ง่ายๆ โดยการใช้แม่เหล็กดูด อะลูมิเนียมจะไม่ติดขึ้นมา และนอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องใช้ในบ้านต่างๆ ทั้ง หม้อ กะทะอะลูมิเนียมเก่าๆ ราวตากผ้าที่ทำจากอะลูมิเนียมบริสุทธ์ เพลตแม่พิมพ์ของโรงพิมพ์ หรือแม้แต่ถุงน่องที่เก่าและขาดก็สามารถนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นเบ้าสำหรับขาเทียมได้อีกด้วย

 

ในบรรดาวัสดุอะลูมิเนียมทั้งหมดที่กล่าวมา ที่นิยมบริจาคมากที่สุดก็คือ “ห่วงกระป๋อง” โดยเหตุผลหลักๆ ที่ห่วงกระป๋องเป็นตัวเลือกก็คือ ผลิตจากอะลูมิเนียมอย่างดี มีน้ำหนักเบา สามารถขนส่งได้ง่ายทางไปรษณีย์ เนื่องจากเรามีการดื่มเครื่องดื่ม หรือบริโภคอาหารกระป๋องกันเป็นประจำอยู่แล้ว ซึ่งการรวบรวมฝากระป๋องให้ได้จำนวนที่มากพอแล้ว จะมีการทำการส่งไปยังหน่วยงานที่เปิดรับเป็นรอบๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการการผลิตขาเทียม นับเป็นการคืนชีวิต คืนความสุข คืนความเท่าเทียมในการ “เป็นคน” ให้พวกเขาสามารถยืนหยัดในสังคมเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ส่งห่วงกระป๋อง... ส่งต่อความห่วงใย คืนความเท่าเทียมให้เราเท่ากัน อัปเดตล่าสุด 1 สิงหาคม 2557 เวลา 18:03:27 12,833 อ่าน
TOP