x close

กอสส. ชี้โรงกลั่น IRPC เสี่ยงระเบิด เหตุขาดการประเมินร้ายแรง


กอสส. ชี้โรงกลั่น IRPC เสี่ยงระเบิด เหตุขาดการประเมินร้ายแรง
กอสส. ชี้โรงกลั่น IRPC เสี่ยงระเบิด เหตุขาดการประเมินร้ายแรง (แฟ้มภาพ)


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กอสส. ชี้ เหตุระเบิดโรงกลั่น IRPC เกิดขึ้นเพราะโรงงานขาดการประเมินอันตรายร้ายแรงที่สุดหลายจุด ด้านกรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC รับปัญหามาจากระบบการบริหารจัดการและคุณภาพพนักงาน

          สืบเนื่องจากกรณีท่อของหน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา (VGOHT) ของบริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน) หรือ IRPC รั่วและเกิดเพลิงไหม้ในโรงงาน IRPC ที่จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 นั้น ล่าสุดในวันนี้ (17 กันยายน 2557) องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) เปิดเผยกับเว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ ว่า เหตุที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลต่อ กอสส. เป็นอย่างมาก และเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ กอสส. ได้รับมอบหมายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้เข้าไปตรวจสอบโครงการก่อสร้างและขยายกิจการของ IRPC ในหลายโครงการ พบว่าโครงการหลายจุดในหลายโรงงานขาดการประเมินในอันตรายร้ายแรงที่สุด

          โดยเหตุดังกล่าวอาจเกิดจากการดำเนินโครงการในส่วนของการขนส่งสารอันตรายทางท่อภายใน และที่สำคัญที่สุดก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ระเบิดไม่นาน ทาง กอสส. ได้มีการประชุมคณะกรรมการและได้แจ้งเตือนถึงอันตรายของท่อหลายจุดไปแล้ว แต่ทาง กอสส. ไม่ทราบว่า IRPC ได้มีการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น

          ทั้งนี้ กอสส. เข้าไปตรวจ IRPC ตั้งแต่ปี 2554 มี 2 โครงการ คือโครงการผลิตโพรพิลีนและโครงการโรงงานเอทิลเบนซีนสไตรีนโมโนเมอร์ (ส่วนขยายครั้งที่ 1) และปี 2556 มีตรวจโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC ส่วนขยาย โดยเฉพาะโครงการเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC ส่วนขยาย ซึ่งกรรมการ กอสส. 4 คนได้ให้ความเห็นที่น่ากังวล

          ตัวอย่างเช่น รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ระบุว่า ขาดการประเมินอันตรายร้ายแรงที่สุดซึ่งอาจเกิดจากการดำเนินโครงการในส่วนของการขนส่งสารอันตรายทางท่อภายใน และขาดการประเมินอันตรายร้ายแรงที่สุดซึ่งอาจเกิดจากการดำเนินโครงการกรณีที่มีการระเบิดของถังเก็บกักสารเคมีขนาดใหญ่ ที่กระจายอยู่ในที่ตั้งโครงการและบริเวณที่เกี่ยวข้อง

          ขณะที่ นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ระบุว่า ขาดการประเมินผลกระทบแบบต่อเนื่อง (Domino Effect) ทั้งในกรณีการระเบิด หรือจากเหตุรั่วไหลของถังเก็บสารเคมีรวมทั้งขาดการประเมินกรณีการระเบิด ลุกลามไปยังถังเก็บสารเคมีที่อยู่ใกล้เคียง และหรือถังเคมีของโรงงานอื่น ๆ ในเขตประกอบการด้วย

          นอกจากนี้ในการฝึกซ้อมแผนป้องกันอุบัติเหตุของเขตประกอบการยังน้อยเกินไป และไม่ครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบ จากข้อมูลการซ้อมแผนป้องกันอุบัติภัยของเขตประกอบการ IRPC ได้มีการฝึกซ้อมปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในเขตประกอบการ มีจำนวนโครงการที่เขตจำนวนถึง 35 โรงงาน แต่ละโครงการล้วนแล้วแต่มีการใช้สารเคมีที่แตกต่างกัน กระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน อาจทำให้การฝึกซ้อมไม่ทั่วถึง

          ด้าน นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวว่า สาเหตุที่ท่อรั่วไหลและเกิดเพลิงไหม้เกิดจากการขนส่งน้ำมันและก๊าซในท่อมีความเร็วมากเกินไป และท่อก็มีขนาดเล็กเกินไป เมื่อเวลาผ่านไป 17 ปี ทำให้ท่อถูกกัดกร่อนจนบางลงและมีการรั่วไหลในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลต่อเนื่องมาตั้งแต่การออกแบบและก่อสร้างโรงงาน หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ IRPC ได้เข้าตรวจท่อที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด โดยตั้งงบประมาณ 100 ล้านบาทมาตรวจทั้งโรงงาน เพื่อจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ แต่จะป้องกันได้ 100% หรือไม่ คงตอบไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุระเบิดเกิดขึ้นได้ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ก็สามารถจัดการทุกอย่างได้หมด ผลกระทบน้อยมาก แสดงว่าระบบป้องกันหลังเกิดอุบัติเหตุใช้ได้

          ทั้งนี้ยอมรับว่า สาเหตุหลักของทุกบริษัทที่เกิดเหตุการณ์นี้ส่วนใหญ่เกิดจากระบบการบริหารจัดการ และคุณภาพพนักงาน เช่น ระบบซ่อมบำรุง ระบบตรวจสอบ ทำให้ทางกลุ่ม ปตท. ทั้งหมดเริ่มนำระบบ Operational Management System-OMS มาปรับปรุงทั้งกลุ่ม โดยนำวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของบริษัทในเครือทั้งหมดมารวบรวมกัน และจ้างที่ปรึกษาต่างประเทศเข้ามา ซึ่งทุกคนต้องปรับให้เข้ากับระบบนี้ ต้องปรับการบำรุงรักษา ระบบซ่อมบำรุง และเรื่องคน ซึ่งจะเป็นมาตรฐานเทียบเคียงกับระบบของโลก แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กอสส. ชี้โรงกลั่น IRPC เสี่ยงระเบิด เหตุขาดการประเมินร้ายแรง โพสต์เมื่อ 17 กันยายน 2557 เวลา 19:08:21 7,738 อ่าน
TOP