x close

          วันนี้ (10 พ.ค.) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ เนื่องในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พ.ศ. 2550 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยพระราชพิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 7.30 น. ฤกษ์พิธีไถหว่านเวลา 8.39-9.19 น.

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จะมีขึ้นในเดือน พ.ค. ของทุกๆ ปี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ประเพณีนี้ถือปฏิบัติตั้งแต่อดีตกาล โดยมุ่งหวังให้เป็นสิริมงคลแก่ฤดูกาลเพาะปลูกใหม่

          พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่งกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์อีกอย่างหนึ่ง พระราชพิธีพืชมงคลจะประกอบพระราชพิธีวันแรกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือเรียกสั้นๆ ว่า พิธีแรกนา 

          เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ จัดให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มขึ้นในพระราชพิธีต่างๆ ทุกพิธี ดังนั้น พระราชพิธีพืชมงคล จึงเริ่มมีขึ้นนับแต่นั้นมา โดยได้จัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และมีชื่อเรียกรวมกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

          ระหว่างพิธีจะมีการทำนายปริมาณน้ำฝน ในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง พระยาแรกนาจะเลือกผ้า 3 ผืน ที่มีความยาวต่างขนาดกัน ตามชอบใจ ผ้าทั้ง 3 ผืนจะดูคล้ายกัน ถ้าพระยาแรกนาเลือกผืนที่ยาวที่สุดก็ทายว่า ปริมาณฝนจะมีน้อย ถ้าเลือกผืนที่สั้นที่สุดทายว่าปีนี้ปริมาณน้ำฝนจะมาก และถ้าเลือกผืนที่มีความยาวปานกลาง ทายว่ามีปริมาณน้ำฝนพอปริมาณ

           หลังจากสวมเสื้อผ้าเรียกว่าผ้านุ่งเรียบร้อยแล้ว พระยาแรกนาจะไถลงไปบนพื้นที่ท้องสนามหลวง ด้วยพระนังคัลสีแดงและสีทอง ซึ่งลากโดยพระโคผู้สีขาว ตามขบวนด้วยเทพีทั้ง 4 ผู้ซึ่งหาบกระเช้าทองและกระเช้าเงิน ที่บรรจุด้วยเมล็ดข้าวเปลือก นอกจากนี้ มีคณะพราหมณ์เดินคู่ไปกับขบวนพร้อมทั้งสวดและเป่า สังข์ไปพร้อมกัน

          เมื่อเสร็จจากการไถแล้ว พระโคจะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้า เมล็ดงา น้ำและเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น หลังจากพระราชพิธีจบลง ฝูงชนจะกรูเข้าไปแย่งเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาจะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตนเอง เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์ และปีนี้นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับหน้าที่พระยาแรกนา

          ทางด้านการรักษาความปลอดภัย พล.ต.ต.ภานุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และกองทัพภาคที่ 1 จัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ เพิ่มจากปีที่แล้ว 2 เท่า แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 900 นาย ทหาร 200 นาย และเจ้าหน้าที่เทศกิจ 100 นาย ดูแลความปลอดภัยบริเวณรอบที่ประทับ พร้อมนำรั้วเหล็กมากั้นรอบพิธี 

          ซึ่งประชาชนที่จะเข้าไปบริเวณงานจะถูกตรวจอย่างละเอียด ส่วนบริเวณรอบนอกจะจัดตั้งด่านตรวจค้นทั้งหมด 4 จุด เนื่องจากภายในงานมีบุคคลสำคัญ ทั้งคณะรัฐมนตรี คณะทูต และประชาชน ที่มาร่วมงาน เชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรง เพราะประชาชนทุกคนมาร่วมงานด้วยจิตใจที่ดี
 
 
ข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อัปเดตล่าสุด 13 พฤษภาคม 2554 เวลา 09:04:47 1,058 อ่าน
TOP