x close

เปิดกฎหมายสมัย ร.5 ระบุชัด ห้ามปล่อยโคมลอย ฝ่าฝืนเจอคุก


ราชกิจจานุเบกษา สมัยรัชกาลที่ 5 ห้ามปล่อยโคมลอยโดยไม่ได้รับอนุญาต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทย โดย พฤฒิพล ประชุมผล

           ย้อนอ่านราชกิจจานุเบกษา ปี 2443 สมัยรัชกาลที่ 5 ระบุชัด ห้ามปล่อยโคมลอยโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้องกันเหตุไฟไหม้ ฝ่าฝืนเจอปรับ จำคุก หากตกใส่บ้านเรือนใครต้องชดใช้เท่าความเสียหายที่เกิดขึ้น


           กลับมาเป็นกระแสให้สังคมได้ถกเถียงกันอีกครั้ง สำหรับประเด็นการปล่อยโคมลอย สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา เศษโคมลอยได้เข้าไปติดในใบพัดเครื่องบินสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่ท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ เป็นเหตุให้สายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว เพื่อตรวจเช็กเครื่อง และนับว่าโชคดีที่เศษโคมไม่พัดเข้าเครื่องยนต์หลัก เพราะไม่เช่นนั้นอาจเกิดไฟลุก จนเครื่องยนต์ระเบิด สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้

           ไม่ใช่แค่เครื่องบินที่ได้รับผลกระทบจากโคมลอย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวบ้านเรือนหลายหลังถูกไฟไหม้เสียหายอย่างหนัก จากการที่โคมไฟลอยมาหล่นใส่หลังคาบ้าน บางปีถึงขั้นคร่าชีวิตผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น นั่นจึงทำให้วันนี้หลายคนเริ่มกลับมาตั้งคำถามว่า ควร "ห้าม" การปล่อยโคมลอยหรือไม่ เพราะสิ่งที่ปฏิบัติกันอยู่เหมือนกับปล่อยความทุกข์ของตัวเองให้ลอยไปหาคนอื่น ซึ่งบางเหตุการณ์ก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

           แต่ถึงกระนั้นก็มีหลายคนที่ออกมาโต้แย้งว่า ไม่ควรห้ามการปล่อยโคมลอย โดยอ้างว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวล้านนาที่ควรสืบทอดไว้ ไม่สามารถห้ามได้ ซึ่งภายหลัง อาจารย์ธิตินัดดา จินาจันทร์ นักวิจัยกลุ่มล้านนาคดี สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อมูลว่า จริง ๆ แล้วตามประเพณีล้านนาจะปล่อยโคมลมในช่วงวันลอยกระทงเท่านั้น เพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ไม่มีการลอยโคมไฟ เพื่อลอยทุกข์ ลอยโศก และปล่อยกันพร่ำเพรื่ออย่างที่เห็นในทุกวันนี้

           ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบกฎหมายในอดีตก็พบว่า ราชกิจจานุเบกษา ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) ได้เคยประกาศห้ามปล่อยโคมลอยในมณฑลพายัพ เพื่อป้องกันปัญหาเพลิงไหม้บ้านเรือนราษฎร ซึ่งหากใครฝ่าฝืนปล่อยโคมลอยโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องถูกปรับและจำคุกไม่เกินกว่า 1 เดือน นอกจากนี้หากโคมที่ปล่อยไปทำความเสียหายให้บ้านเรือนไหน จะต้องชดใช้ตามราคาทรัพย์สินที่เสียหายด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การออกกฎหมายห้ามปล่อยโคมลอยอันจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่นนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อนแล้ว โดยข้อความต้นฉบับที่ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 17 วันที่ 17 มีนาคม 119 มีดังนี้

ประกาศสำหรับปล่อยโคมลอยมณฑลพายัพ
      
           พระยานริศรราชกิจ ข้าหลวงใหญ่ หลวงจรรยายุตกฤตย์ ข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพ เห็นพ้องกันว่าการที่มหาชนปล่อยโคมลอยขึ้นบนอากาศในเวลาเทศกาลต่าง ๆ ในมณฑลพายัพอยู่เนือง ๆ นั้น ย่อมกระทำให้บ้านเรือนเกิดเพลิงไหม้เสมอ โดยเหตุที่ปล่อยโคมลอยนึกจะปล่อยที่แห่งใด ตำบลใดก็ปล่อยได้ จึงมีเหตุตามที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นนั้น เพราะเหตุฉะนั้นจึงประกาศให้มหาชนทั้งหลายทุกชาติทุกภาษาซึ่งอยู่ในมณฑลพายัพทราบทั่วกันว่า
      
           ข้อ ๑ ตั้งแต่วันออกประกาศนี้เดือนหนึ่งเปนต้นไป เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดอยากจะปล่อยโคมลอยในเวลาใดเวลาหนึ่ง ก็ปล่อยได้ไม่ห้าม แต่ผู้ที่จะปล่อยโคมลอยนั้นต้องมาขออนุญาตจากแขวงนครหรือเมืองนั้นก่อนจึงจะปล่อยได้
      
           ข้อ ๒ เมื่อมีผู้มาขออนุญาตต่อแขวงว่าจะปล่อยโคมลอยแล้วก็ให้แขวงอนุญาตให้ แต่แขวงจะต้องกะที่ให้ผู้นั้นปล่อยโคมลอยได้ในที่ ๆ แขวงเห็นสมควรว่า ที่ปล่อยได้นั้นไม่เปนอันตรายต่อบ้านเรือน
      
           ข้อ ๓ ถ้าผู้ใดปล่อยโคมลอยขึ้นโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตก็ดี หรือปล่อยที่อื่นนอกจากแขวงอนุญาตก็ดี ผู้ที่ปล่อยนั้นมีความผิดถานลเมิด จะต้องปรับเปนเงินพินัยไม่เกินกว่า ๒๐ บาท หรือจำคุกไม่เกินกว่า ๑ เดือน แลถ้าโคมลอยที่ปล่อยนั้นตกลงมาถูกบ้านเรือนฤาเข้าของสิ่งใดผู้ที่ปล่อยนั้นจะต้องใช้ตามราคาของที่เสียมากแลน้อยด้วย
      

           ประกาศมา ณ วันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๙
           ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ น่า ๗๓๖ วันที่ ๑๗ มีนาคม ๑๑๙







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดกฎหมายสมัย ร.5 ระบุชัด ห้ามปล่อยโคมลอย ฝ่าฝืนเจอคุก โพสต์เมื่อ 5 มกราคม 2558 เวลา 16:07:48 48,174 อ่าน
TOP