x close

เปิดเส้นทางเวนคืนที่ดิน รถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด

ครม. เห็นชอบแผนรถไฟรางคู่

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Thai PBS News

           เปิดเส้นทางเวนคืนที่ดิน สร้างรถไฟร่วมไทย-จีน คมนาคมเร่งประเมิน-เวนคืนที่ดินใน 6 เดือน คาดเริ่มก่อสร้างเส้นทางแรก กรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด 1 ก.ย.นี้ เงินลงทุนเฉียด 2 แสนล้าน

           วันนี้ (29 มกราคม 2558) พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ รวม 873 กิโลเมตร ที่ร่วมพัฒนากับรัฐบาลจีน จะยึดผลศึกษาเดิมของจีนเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยจะเร่งสรุปโครงการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) การออกแบบรายละเอียด ตลอดจนการประเมินค่าก่อสร้าง และเวนคืนที่ดิน ภายในระยะเวลา 6 เดือน โดยตั้งเป้าเริ่มงานเดือนมีนาคม-กันยายนนี้

           โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะลงพื้นที่สำรวจเส้นทางในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้เฟสแรกคือเส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด เริ่มก่อสร้างในวันที่ 1 กันยายนนี้ และมีกำหนดเสร็จ 2 ปีครึ่ง หรือภายในเดือนธันวาคม 2560 ส่วนเฟสที่ 2 เส้นทาง แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย จะเริ่มสร้างอย่างช้าไตรมาส 1/59 ซึ่งล่าสุดได้จัด 2 ทีมลงสำรวจพื้นที่แล้ว โดยมีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (CRC) เป็นผู้นำทีมร่วมกับฝ่ายไทย

           อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องพิจารณาต่อคือความยาก-ง่ายของเส้นทางที่จะก่อสร้าง ซึ่งทางจีนเสนอว่าช่วง แก่งคอย-นครราชสีมา-หนองคาย ให้ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีขึ้นไป ส่งผลให้ล่าช้าจากแผนงานที่ไทยเสนอ เนื่องจากเป็นพื้นที่ผ่านภูเขา ต้องทำการเจาะอุโมงค์และใช้เทคโนโลยีสูง สำหรับเส้นทางสร้างได้เร็วคือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย เพราะเป็นที่ราบและเวนคืนน้อย ส่วนช่วง แก่งคอย-มาบตาพุด ทำยากเช่นกัน เพราะผ่านพื้นที่อุทยาน ต้องมีการเวนคืน

           ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ผลศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิมที่จีนศึกษาให้เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย มีระยะทาง 615 กิโลเมตร ก่อสร้างตามแนวรถไฟเดิม รูปแบบก่อสร้างระดับดินตลอดเส้นทาง ค่าก่อสร้าง 198,000 ล้านบาท เฉลี่ย 330 ล้านบาท/กิโลเมตร มีช่วงแก่งคอยเป็นพื้นที่ภูเขาต้องเวนคืนกว้าง 20 เมตร ของแนวเส้นทางเพื่อเจาะอุโมงค์ ซึ่งบริเวณนี้ปัจจุบันเป็นพื้นที่ประทานบัตรผู้ประกอบการปูน 4 บริษัท อาทิ ปูนซิเมนต์ไทย ปูนทีพีไอ ปูนนครหลวง

           ขณะที่ผลศึกษารถไฟความเร็วสูงของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ศึกษาเสร็จและส่งรายงานอีไอเอแล้วคือ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 256 กิโลเมตร ส่วนช่วง นครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร อยู่ระหว่างศึกษาโครงการ โดยรวมเส้นทางจะสร้างคู่ขนานแนวรถไฟเดิม ยกเว้นบางช่วงที่ปรับรัศมีโค้งให้มีเหมาะสมกับความเร็วรถไฟซึ่งต้องเวนคืนที่ดินมาก แนวช่วง กรุงเทพฯ-ภาชี 84 กิโลเมตร ใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่

           สำหรับแนวเส้นทาง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ สนข. ศึกษาเสร็จจุดเริ่มต้นอยู่ที่สถานีบางซื่อ ผ่านสถานีดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา มาถึงชุมทางบ้านภาชี จากนั้นแยกเข้าสู่เส้นทางรถไฟสายอีสาน จากบ้านภาชีมุ่งหน้าเข้าสู่จังหวัดสระบุรี ผ่านสถานีปากช่อง จากนั้นเส้นทางจะเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองไปยังสถานีปลายทางที่นครราชสีมา

           สำหรับที่ตั้งสถานีมีทั้งอยู่ที่เดิมและสร้างใหม่ ถัดจากสถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ภาชี จะสร้างอยู่ที่เดิม มาถึงสระบุรีจะสร้างอยู่ที่ใหม่ ห่างสถานีรถไฟเดิม 3 กิโลเมตร เยื้องศูนย์การค้าเซ็นทรัล สถานีปากช่องจะอยู่ที่ราชพัสดุหนองสาหร่าย ห่างสถานีเดิม 5 กิโลเมตร และสถานีนครราชสีมาจะอยู่ที่เดิม ส่วนช่วง นครราชสีมา-หนองคาย มี 3 สถานี คือ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย เบื้องต้นตำแหน่งอยู่ที่สถานีรถไฟเดิม

           แหล่งข่าวยังกล่าวอีกว่า รูปแบบโครงสร้างมีทั้งทางยกระดับกว่า 100 กิโลเมตร เพราะผ่านเขตเมือง ทางระดับพื้น 58 กิโลเมตร สะพานบก 4 กิโลเมตร และอุโมงค์ 4 แห่งช่วง ภาชี-โคราช มีอุโมงค์รถไฟบริเวณผาเสด็จถึงหินลับ ในพื้นที่ประทานบัตรเหมืองหินโรงปูนซีเมนต์ 3 บริษัท มี 2 อุโมงค์ความยาว 202 เมตร กับ 3,326 เมตร อุโมงค์รถไฟบริเวณริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง โดยเป็นอุโมงค์ 2 ช่วง อยู่บริเวณสถานีคลองขนานจิตร ความยาว 557 เมตร และ 1,243 เมตร

           สำหรับเงินลงทุนเฟสแรก (กรุงเทพฯ-โคราช) อยู่ที่ 170,450 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืนกว่า 8,000 ล้านบาท สำหรับเวนคืนที่ดิน 926 ไร่ ยังไม่รวมที่ราชพัสดุ ตั้งแต่ ภาชี-โคราช ค่าก่อสร้าง 140,855 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษา 3,000 ล้านบาท และระบบรถไฟฟ้า 31,700 ล้านบาท ส่วนเฟส 2 (โคราช-หนองคาย) คาดว่าค่าก่อสร้างอยู่ที่ 108,245 ล้านบาท

           ทั้งนี้แนวช่วงแรกปรับ 2 ช่วง คือ ช่วงแก่งคอยที่ผ่านพื้นที่ประทานบัตรปูนซีเมนต์ และช่วงอ่างเก็บน้ำลำตะคอง จะสร้างทางวิ่งยกระดับเลียบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองและยกระดับข้ามทางรถไฟเดิม จากนั้นแนวเส้นทางเลียบอ่างเก็บน้ำ ก่อนข้ามทางรถไฟเดิมอีกครั้ง แล้วจึงกลับมาขนานกับแนวทางรถไฟเดิม ระยะทางบริเวณนี้ 17 กิโลเมตร

           สำหรับช่วง แก่งคอย-มาบตาพุด จะสร้างคู่ขนานกับทางคู่สายแก่งคอย-คลอง 19-ฉะเชิงเทรา 106 กิโลเมตร ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังประมูลก่อสร้าง มีเวนคืน 119 ไร่ ย่านสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา ชุมทางบ้านภาชี ชุมทางแก่งคอย และสร้างอุโมงค์ 1 แห่ง ช่วงเขาพระพุทธฉาย 736 เมตร

           โดยการก่อสร้างจะแยกรางออกจากกัน แนวเส้นทางเริ่มจากแก่งคอย ผ่านคลองสิบเก้ามาออกฉะเชิงเทรา และไปเชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบัง มีเป้าหมายใช้เป็นเส้นทางขนสินค้า และเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้สะดวกขึ้น


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดเส้นทางเวนคืนที่ดิน รถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-มาบตาพุด โพสต์เมื่อ 29 มกราคม 2558 เวลา 13:34:36 45,341 อ่าน
TOP