x close

ธีรยุทธ์ หนุน คสช. ใช้อำนาจพิเศษจัดการคนทำผิด ลดเสียงวิจารณ์

ธีรยุทธ์ หนุน คสช. ใช้อำนาจพิเศษจัดการคนทำผิด ลดเสียงวิจารณ์

           ธีรยุทธ์ บุญมี แนะ คสช. ควรใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์พิเศษให้เต็มที่เพราะไม่ได้มีบ่อย จะได้ลดเสียงวิจารณ์ เชื่อนายกฯ กำหนดเลือกตั้งและวางกรอบไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจไว้จะช่วยทำให้สถานการณ์นิ่ง ชี้ปัญหาการเมืองไทยซับซ้อนควรทดลองแล้วค่อย ๆ ปรับปรุง
 
           วันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และนักวิชาการชื่อดัง ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคณะผู้บริหารในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการใช้อำนาจพิเศษ ผ่านหัวข้อ “ธีรยุทธ บุญมี : ปฏิรูปการเมืองไทย มองจากประสบการณ์ชีวิต” โดยยก 4 หัวข้อมีรายละเอียดพอสรุปดังนี้

1. คสช. มองปัญหาประเทศไทยอย่างไร ?

 
           คสช. เก่งในแง่ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีทางทหาร โดยเลือกวางตัวตามกฎหมาย คือ การปกป้องคุ้มครองตามสถานะหน้าที่ในหัวข้อนี้ตนถือว่า คสช. สอบผ่าน แต่ไม่แน่ใจว่าการวิเคราะห์ปัญหาว่าภารกิจใหญ่ของประเทศจริง ๆ และเส้นทางที่ควรจะเดินไปข้างหน้า คสช. ได้วิเคราะห์ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ถูกต้องที่ คสช. นำเอาภารกิจปรองดองเป็นหลักเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้น แต่เมื่อภารกิจของ คสช. สิ้นสุดลงตามโรดแม็ป ปัญหาความวุ่นวายจะหมดลงตามไปด้วยหรือไม่ ศาสตร์ทางการเมืองที่แท้จริง คือการรอมชอม ประนีประนอม แบ่งปันผลประโยชน์ เพื่อให้เกิดการยอมรับ แต่ไม่ใช่ประนีประนอมแบบจอมปลอมระหว่าง ถูก-ผิด หรือ ชั่ว-ดี
 
2. ทบทวนภาพโดยกว้างประเทศไทย

           การที่ประเทศไทยปฏิรูปทีละด้าน คนละช่วงเวลาไม่ใช่การปฏิวัติประชาธิปไตยโดยแท้จริงเหมือนประเทศตะวันตก ทำให้โครงสร้างอำนาจของประเทศไทยไม่เคยมีภาวะสมดุล การตรวจสอบถ่วงดุลทางอำนาจจึงเป็นเพียงทฤษฎีไม่เป็นผลจริงจัง ทั้งยังเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสูญเสียอำนาจกับฝ่ายได้อำนาจ ทำให้เกิดกลุ่มได้อำนาจ ผลประโยชน์ และการควบคุมทรัพยากรกลุ่มใหม่เกิดขึ้น คือ กลุ่มนักการเมืองและกลุ่มทุน สภาพโดยรวมที่เรากำลังเห็นคือ การแบ่งคนไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือพวก super haves คือพวกอภิทุน อภิเศรษฐี อภิรวย กับพวก have nots คือพวกชาวบ้านที่เป็นพวกอภิจนหรือจนซ้ำซาก
 
3. ความเห็นต่างในเรื่องการปฏิรูปประเทศของเมืองไทยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ

 
           1. ประเทศไทยอยู่กันอย่างนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว ปัญหาหมักหมมร้ายแรงต่าง ๆ ที่ผู้ต้องการปฏิรูปการเมืองไทยนั้น เป็นเพียงคำพูดที่แต่งเติมเสริมแต่งจนเป็นกระแสทำให้เกิดการ ชุมนุม วุ่นวาย ความไม่รู้รักสามัคคีขึ้น?แนวคิดเช่นนี้ คือ การคาดฝันว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ ถ้าเชื่อว่าทำได้ก็ลองเสนอเป็นแผนปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมา
 
           2. ปัญหาในประเทศไทยเป็นปัญหาใหญ่ ซับซ้อนเกินกว่าจะหาวิธีแก้ไขได้ คงต้องใช้วิธีเช่นที่ผ่านมา คือทดลองแก้ไขกันไปเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือก็ต้องปรับตัวอยู่กับมันไป ผมเองอาจเป็นพวกโรแมนติก ยังมีความหวังกับโลก จึงเชื่อมาโดยตลอดว่าเราน่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยเราได้ โดยประเด็นสำคัญที่ผมเสนอไว้คือ พฤติกรรมหรือวิถีชีวิตของคนจะสอดคล้องกับค่านิยมหรือความเชื่อของเขา และถัดมา ค่านิยม ความเชื่อของเขาก็จะต้องสอดคล้องกับโครงสร้างของสังคม เช่น สังคมที่โครงสร้างอำนาจเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน จะให้ชาวบ้านที่ไร้อำนาจมีความคิดและพฤติกรรมที่แสดงออกว่าตัวเองเสมอภาค เท่าเทียมกับคนรวยหรือเจ้าใหญ่นายโต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
 
           ทั้งนี้การสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นกับสังคม ไทยจริง ๆ จึงต้องปฏิรูปทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย อย่าว่าแต่ทหารซึ่งวิชาชีพไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป แม้แต่เทคโนแครต ผู้เชี่ยวชาญ นักบริหาร เมื่อเจอสภาพความจริงแล้วก็จะเกิดความท้อถอยเป็นส่วนใหญ่
 
4. ข้อคิดในการเริ่มต้นปฏิรูปการเมือง

           1. การปฏิรูปประเทศไทยเป็นไปได้ แต่ต้องเลือกทำเฉพาะบางจุดก่อนเท่านั้น

           2. การพยายามในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปการเมืองเคยมีมาแล้ว 2 ครั้ง ในปี 2540 และ 2550 แต่ไม่บรรลุเป้าหมาย ความพยายามในครั้งนี้คงคล้ายคลึงกัน การจะสร้างประชาธิปไตยที่พอใช้ได้ ต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเมืองของคนไทย

           3. หน้าที่กองทัพได้รับคือการคลี่คลายความสงบภายใน แต่ไม่ใช่การทำหน้าที่รัฐบาล การเป็นรัฐบาลเป็นภารกิจที่คณะนายทหารรับเข้ามาเอง ถ้าทำได้ดีก็เป็นโบนัสที่คนชื่นชม แต่ถ้าล้มเหลวก็เป็นเงื่อนไขที่จะถูกวิจารณ์โจมตีได้ง่าย

           4. ในสังคมประชาธิปไตยการที่จะใช้อำนาจพิเศษไม่ง่ายต้องเห็นข้อประจักษ์ที่ชัดแจ้งคนจึงจะยอมรับ ช่วงแรกที่ คสช. เข้ามาจัดการกับมาเฟีย และอำนาจสีเทา นักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ต่างได้รับเสียงชื่นชม ถ้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษให้สมชื่อกับสถานการณ์พิเศษ กำจัดอิทธิพลนอกระบบ ผู้กระทำความผิดคนก็จะยอมรับ การวิพากษ์วิจารณ์ก็จะเงียบลงไปเอง
 
           นอกจากนี้การกำหนดเวลาเลือกตั้งของนายกรัฐมนตรี และแนวคิดในการไม่สืบทอดอำนาจจะช่วยให้สถานการณ์ยิ่งนิ่งลง และนายกฯ ควรจะเชื่อว่าอำนาจการตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ ควรเป็นของประชาชน เพราะทหารคงไม่มีบทบาทในสถานการณ์พิเศษบ่อยครั้ง
 
           ทั้งนี้ถ้าช่วงเวลาที่เหลืออยู่นายกฯ ทุ่มเทแรงกายแรงใจออกไปพบประชาชนทุกภาค สนับสนุนเป็นเกราะป้องกันให้ประชาชนออกมาตรวจสอบควบคุมดูแลระเบียบวินมอเตอร์ไซค์ หาบเร่แผงลอย ร้านค้าซูเปอร์สโตร์ การก่อสร้างซ่อมแซมสาธารณูปโภค และการใช้ทรัพยากรในชุมชนท้องถิ่นของตน เพื่อเป็นการฝึกฝนวิถีชีวิตประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ก็จะเป็นคุณประโยชน์มหาศาล
 
           นายธีระยุทธ์ ทิ้งท้ายว่า “สถานการณ์พิเศษ” ไม่ใช่เกิดขึ้นง่าย คนไม่ได้ยอมรับง่าย ต้องถือมันเป็นสิ่งมีค่า และใช้มันตามลักษณะตัวมันเองก็เพื่อสิ่งที่พิเศษจริง ๆ
 


ภาพจาก เฟชบุ๊ก ธีรยุทธ บุญมี

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ธีรยุทธ์ หนุน คสช. ใช้อำนาจพิเศษจัดการคนทำผิด ลดเสียงวิจารณ์ อัปเดตล่าสุด 27 มีนาคม 2558 เวลา 20:49:20 13,407 อ่าน
TOP