x close

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์




อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์
    
อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์

           อาจารย์ใหญ่ คือ การบริจาคร่างกายเป็นกายวิทยาทาน เป็นสิ่งที่สร้างประโยชน์และคุณค่า เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ค้นคว้าเรียนรู้ และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยในอนาคต
    
           เริ่มต้นชีวิตของมนุษย์เกิดมาพร้อมร่างกายที่มีเนื้อหนัง กระดูก และอวัยวะต่าง ๆ ครบ 32 ประการ หรืออาจมีบางคนที่ผิดปกติไปบ้าง แต่เมื่อยามที่ต้องละสังขาร ก็จะแหลือเพียงร่างไร้วิญญาณที่รอให้ญาติมิตรนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งหลังจากนั้นก็จะนำร่างไปฝัง หรือเผา ตามความเชื่อ แต่ในปัจจุบันยังมีทางเลือกหลังความตายที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับวงการแพทย์ นั่นก็คือการบริจาคร่างกายเป็น “อาจารย์ใหญ่” หรือเรียกว่า "กายวิทยาทาน”
    

           เมื่อเอ่ยถึงอาจารย์ใหญ่ หลาย ๆ คนอาจจินตนาการถึงความหลอนและความน่าสะพรึงกลัวของศพคนตาย ที่มีเรื่องเล่าสุดหลอนสืบต่อกันมา ทั้งที่จริงแล้ว อาจารย์ใหญ่ คือ ร่างของผู้ที่ได้แสดงเจตนาจะบริจาคร่างไว้ก่อนที่จะหมดลมหายใจให้กับนักศึกษาแพทย์ได้ใช้ในการศึกษาหาความรู้ในเรื่องของระบบร่างกายเพื่อช่วยผู้ป่วยต่อไปในอนาคต

           ทั้งนี้มีการระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้อุทิศร่างกายจะต้องไม่เสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง และต้องมีอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายครบถ้วน ซึ่งในปัจจุบันมีอาจารย์ใหญ่ 3 รูปแบบคือ
    
           1. แบบเก่า คือจะรับศพมาแล้วก็จะนำมาฉีดน้ำยาซึ่งมีส่วนผสมของฟอร์มาลีนมากถึง 10% จากนั้นจึงนำมาลงบ่อดองไว้นานประมาณ 2 ปี จึงจะนำไปใช้ได้ จะมีกลิ่นแรง แต่ข้อดีคือมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดใน 3 แบบ
    
           2. แบบแช่แข็ง คือ จะนำศพไปแช่แข็งในตู้แช่ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายและเลือดแข็งตัว สามารถแช่เก็บไว้ได้นาน จะมีลักษณะเหมือนมนุษย์มากที่สุด เพราะยังคงมีน้ำเลือดอยู่ในร่างกาย แต่ข้อเสียคือระยะเวลาหลังเอาออกมาใช้ครั้งแรกค่อนข้างน้อย เพราะจะสามารถเก็บไว้ได้นานแค่ 3 เดือนเท่านั้น
    
           3. แบบนุ่ม จะมีข้อดีคือสามารถทิ้งศพไว้ได้นานถึง 5 วัน ก่อนนำศพฉีดน้ำยาแบบพิเศษ แล้วจะนำมาแช่ในแท็งก์นานประมาณ 3 เดือนก่อนใช้งาน ข้อดีคือเมื่อนำร่างออกมาใช้ครั้งแรกมีระยะเวลาในการเก็บรักษายาวนานอย่างน้อย 2 ปี

           วิธีการเตรียมร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อการศึกษา และวิจัยทางการแพทย์
    
           1. หลังจากรับร่างอาจารย์ใหญ่มาจากวัดแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะทำการติดหมายลำดับหมายเลขไว้ที่ร่างเพื่อบอกลำดับที่ และตัดผมออก

           2. เพิ่มน้ำยาเข้าร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นน้ำยาพิเศษที่ทำให้ศพนิ่ม

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์

           3. จากนั้นจะนำร่างอาจารย์ใหญ่มาดองไว้ในถัง เพื่อให้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้รับการรักษาสภาพเป็นอย่างดี ซึ่งแต่ละถังจะมีร่างอาจารย์ใหญ่อยู่ประมาณ 6-8 ท่าน และต้องใช้เวลาดองร่างประมาณ 6 เดือน หรือ 1 ปี จึงจะสามารถนำไปให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียน

           4. ระหว่างการดองร่างอาจารย์ใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่คอยเพิ่มระดับน้ำไม่ให้แห้ง เพราะถ้าน้ำแห้งจะทำให้ร่างอาจารย์ใหญ่เสียได้

           5. เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด จะทำพิธีบวงสรวงเพื่อนำร่างอาจารย์ใหญ่ขึ้นจากบ่อดองและทำความสะอาดร่างอาจารย์ใหญ่ ก่อนขนย้ายร่างไปไว้ในห้องเรียน

           ทั้งนี้ระยะเวลาใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ในการศึกษาคือ 1 ปี และระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรับร่าง-พระราชทานเพลิงศพ ใช้เวลา 2-3 ปี และเมื่อนักศึกษาแพทย์ได้ใช้ประโยชน์จากร่างของอาจารย์ใหญ่แล้วครบตามกำหนด ทุกปลายปีจะมีการจัดสวดอภิธรรม พิธีพระราชทานเพลิงศพให้แก่อาจารย์ใหญ่ทุกท่าน และนำอัฐิไปลอยอังคารต่อไป

           สำหรับขั้นตอนในการบริจาคร่างกายในการเป็นอาจารย์ใหญ่ของแต่ละโรงพยาบาลจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจะขอหยิบยกระเบียบการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นตัวอย่าง ดังนี้

           ขั้นตอนการบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงพยาบาลจุฬาฯ

           ขั้นตอนแสดงความจำนงอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

           1. หลักฐานที่ใช้ในการแสดงความจำนงอุทิศร่างกายฯ

           - ใช้สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ
 
           2. วิธีการ

           - แสดงความจำนงโดยตรง ณ สถานที่ที่รับอุทิศ ซึ่งจะได้รับบัตรแสดงความจำนงภายใน 10 นาที

           - ส่งเอกสารแสดงความจำนงมาทางไปรษณีย์ พร้อมจ่าหน้าซองถึงตัวท่านเอง ติดแสตมป์ แล้วส่งมาที่แผนกอุทิศร่างกายฯ ศาลาทินทัต รพ.จุฬาฯ  ซึ่งจะส่งบัตรกลับไปให้ ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1-2 เดือน  โทรศัพท์  02-2564281 , 02-2564628 , 02-2564685 , 02-2527028 ต่อ 0 หรือ 4 หรือ 7

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์
 
อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์

           3. สถานที่แสดงความจำนงอุทิศร่างกายฯ

           - ศาลาทินทัต โทรศัพท์  02-2564281 , 02-2564628 , 02-2564685 , 02-2527028 ต่อ 7

           - ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ อาคารแพทยพัฒน์ ชั้น 11 โทรศัพท์  02-2564281 , 02-2564628 , 02-2564685 , 02-2527028 ต่อ 0 หรือ 4

           ขั้นตอนการบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงพยาบาลศิริราช
 
           คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลศิริราช

           เอกสารที่ต้องเตรียม

           1. รูปถ่ายหน้าตรงขนาด 1 นิ้ว หรือ 2 นิ้วจำนวน 2 ใบ เขียน ชื่อ-นามสกุล ไว้ด้านหลัง

           2. สำเนาบัตรประชาชน 1 ฉบับ

           การอุทิศร่างกายสามารถดำเนินการได้ 2 ทาง คือ ติดต่อโดยตรงที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ หรือส่งแบบฟอร์มทางไปรษณีย์
 
           ขั้นตอนแสดงความจำนงอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา

           1. กรอกแบบฟอร์มอุทิศร่างกาย 2 ชุดให้เหมือนกัน เขียนด้วยตัวบรรจงอย่างชัดเจน

           2. ลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมให้เรียบร้อย

           3. ให้พยานที่เป็นญาติลงลายมือชื่อ 2 ท่าน

           4. ระบุเจตจำนงหลังการศึกษาเสร็จแล้วข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารพินัยกรรม

           5. ส่งแบบฟอร์มที่กรอกแล้วทั้ง 2 ชุด พร้อมรูปถ่าย และสำเนาบัตรประชาชน ทางไปรษณีย์ มาที่ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนพระราม 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 และให้เขียนที่มุมซองว่า “อุทิศร่างกาย”

           6. ผู้อุทิศร่างกายจะได้รับเอกสารการอุทิศร่างกายคืน 1 ชุด และบัตรประจำตัวผู้อุทิศร่างกาย (กรณีส่งแบบฟอร์มมาทางไปรษณีย์ จะได้รับบัตรฯ และเอกสารภายใน 1 เดือน)

           • หากทำบัตรหายหรือเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ให้แจ้งภาควิชาฯ ในวัน และเวลาราชการ

           • ท่านที่ต้องการยกเลิกพินัยกรรมการอุทิศร่างกายฯ กรุณาแจ้งให้ภาควิชาฯ ทราบ

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์
 
           คุณสมบัติอาจารย์ใหญ่ และข้อจำกัดในการรับศพผู้อุทิศร่างกาย

           1. ให้แจ้งการเสียชีวิตของผู้อุทิศร่างกายฯ ให้เร็วที่สุดภายใน 24 ชั่วโมง

           2. ห้ามฉีดน้ำยารักษาสภาพศพ ทางภาควิชาฯ จะจัดการฉีดเอง

           3. ไม่รับศพที่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุหรือเป็นศพที่เกี่ยวข้องกับคดี หรือเสียชีวิตด้วยโรคติดต่อร้ายแรง เช่น โรคไวรัสตับอักเสบบี โรควัณโรค และโรคเอดส์ กรณีเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในช่องอก หรือช่องท้อง เจ้าหน้าที่ภาควิชาฯ จะพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะนำร่างมาเตรียม เพื่อแพทย์ฝึกทำหัตถการและวิจัยทางการแพทย์หรือไม่

           4. ไม่เป็นศพที่มีอวัยวะขาดหายไปหรือไม่ครบสมบูรณ์

           5. ไม่รับศพที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดก่อนเสียชีวิต (ยกเว้นศพที่บริจาคดวงตา)

           6. ไม่รับร่างที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 40 กิโลกรัม หรือมากกว่า 70 กิโลกรัม หรือมีร่างกายที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้ศึกษาได้ เช่น แขนขา โก่ง หรือ คดงอ ผิวหนังเป็นแผลพุพอง มีกลิ่นเหม็น

           7. ในกรณีที่เก็บศพของภาควิชาฯ เต็มจะไม่สามารถรับร่างได้

           8. รับศพในระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ถ้าระยะทางเกินที่กำหนดญาติต้องนำร่างมาส่งเอง
 
           สำหรับผู้ที่สนใจบริจาคร่างกายเพื่ออุทิศเป็นอาจารย์ใหญ่ สามารถติดต่อไปยังโรงเรียนแพทย์แต่ละแห่งได้ดังนี้

           - โรงพยาบาลศิริราช : ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ตึกกายวิภาคศาสตร์ ชั้น 1 โรงพยาบาลศิริราช โทร.0-2419-7035 หรือ 0-2411-0241-9 ต่อ 7035

           - โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ติดต่อที่แผนกอุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ศาลาฑินทัต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โทร.0-2256-4628 และ 0-2256-4281

           - โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โทร.0-2254-5198 หรือ 0-2246-1358-74 ต่อ 4101, 4102

           - คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ โทร.0-2260-1532, 0-2260-2234-5 ต่อ 4501

           - โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า โทร.0-2246-0066 ต่อ 93606
 
           สำหรับต่างจังหวัดสามารถบริจาคได้ที่โรงเรียนแพทย์ในภูมิภาค

อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์

           สิ่งที่ทายาทต้องดำเนินการเมื่อผู้อุทิศร่างเสียชีวิต

           ทั้งนี้เมื่อผู้บริจาคร่างกายเสียชีวิต ทายาทจะต้องเป็นผู้ดำเนินการติดต่อโรงพยาบาล และทำตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่โรงพยาบาลระบุไว้ ยกตัวอย่างของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีดังนี้

           1. เมื่อผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาเสียชีวิต ทายาทมีสิทธิ์ในการจะมอบร่างให้โรงพยาบาล หรือคัดค้านการมอบร่างให้โรงพยาบาลได้ โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย และโรงพยาบาลจะไม่เรียกร้องสิทธิ์ใด ๆ ในร่างนั้นทั้งสิ้น

           2. ในกรณีที่ทายาทยินดีมอบร่างให้โรงพยาบาล ควรติดต่อหน่วยงานราชการการปกครอง (อำเภอ  กิ่งอำเภอ เขต)  เพื่อทำหลักฐานใบมรณบัตร

           3. ติดต่อโรงพยาบาล เพื่อแจ้งการรับร่าง โดยติดต่อที่ฝ่ายกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

           4. ทายาทเตรียมหลักฐานไว้ให้กับเจ้าหน้าที่รับร่าง ดังนี้

           - สำเนาใบมรณบัตร จำนวน 3 ฉบับ

           - สำเนาบัตรประจำตัวของทายาท ผู้มอบร่างผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา จำนวน 1 ฉบับ

           - เจ้าหน้าที่ที่ไปรับร่างจะแสดงบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลและนำเอกสารหนังสือสำคัญการมอบศพ  ให้ญาติกรอกรายละเอียด ลงนามเป็นหลักฐาน พร้อมมอบเอกสารคำแนะนำภายหลังการรับศพ จำนวน 1 ฉบับ

           - เมื่อโรงพยาบาลรับร่างมาแล้ว ร่างผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา ถือเป็นมรดกที่มอบไว้ให้กับโรงพยาบาล ซึ่งจะนำมาใช้ศึกษา วิจัยทางการแพทย์ตามความเหมาะสม ดังนี้

           1. เพื่อใช้ในการศึกษาด้านกายวิภาคศาสตร์ ของนิสิตแพทย์

           2. เพื่อการศึกษา วิจัยและฝึกหัตถการ การรักษา ของแพทย์และบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข

           3. เพื่อการศึกษาของนักศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุขอื่น ๆ

           4. เพื่อเก็บเนื้อเยื่อบางส่วนสำหรับการรักษาทางการแพทย์

           สิ่งที่ทายาทจะได้รับ

           1. ใบประกาศเกียรติคุณแก่ทายาท เมื่อนำร่างมาศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

           2. กำลังดำเนินการขอให้ทายาทของผู้ที่บริจาคร่างมาเตรียมไว้ศึกษา เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์สภากาชาดไทยเช่นเดียวกับผู้บริจาคดวงตา และอวัยวะให้สภาชาดไทย
 
           จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่ในทางตรงข้ามกลับสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นอีกมาก และเป็นการทำในสิ่งที่มีคุณค่าต่อเพื่อนมนุษย์



world_id:555c613438217a2140000003



ภาพจาก รายการกบนอกกะลา


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

redcross.or.th , sc.mahidol.ac.th , รายการกบนอกกะลา


   


  


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาจารย์ใหญ่ ครูผู้ไร้ลมหายใจ อุทิศร่างกายให้วงการแพทย์ อัปเดตล่าสุด 30 มิถุนายน 2558 เวลา 11:26:07 69,152 อ่าน
TOP