x close

สามารถ จี้ รัฐบาล เปิดข้อมูลเงินกู้ โครงการรถไฟ ไทย-จีน




         
          สามารถ ราชพลสิทธิ์ จี้ รัฐบาล เปิดข้อมูลเงินกู้ โครงการก่อสร้างรถไฟ เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ หวั่นคนไทยแบกรับหนี้เพิ่ม

          วันที่ 28 มิถุนายน 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์" ระบุถึงกรณีการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางเส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)

          โดยข้อความในเฟซบุ๊กของนายสามารถ “ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์” มีรายละเอียดดังนี้

          ทำไม MOU รถไฟไทย-จีน ต้องเก็บเงื่อนไขเงินกู้เป็นความลับ?

          การก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางเส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding หรือ MOU) ภายหลังการประชุมระหว่างไทย-จีน เป็นจำนวน 4 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่กรุงปักกิ่ง ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ และครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ที่เมืองคุนหมิง

          ผมขอสรุปข้อตกลงทางการเงินระหว่างไทย-จีน เพื่อการก่อสร้างรถไฟเส้นทางดังกล่าวดังนี้

          1. MOU ครั้งที่ 1 ระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะเร่งการดำเนินงานกำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงรูปแบบความร่วมมือและกรอบทางการเงินอย่างเร่งด่วน

          2. MOU ครั้งที่ 2 ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงเบื้องต้นที่จะหารือในรายละเอียดร่วมกันในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่ง เช่น การระดมทุนในประเทศไทย และเงินกู้เงื่อนไขพิเศษจากจีน โดยที่ประชุมหวังว่าจะได้ข้อยุติเกี่ยวกับเงื่อนไขทางการเงินในการประชุมครั้งที่ 3

          3. MOU ครั้งที่ 3 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องในหลักการที่จะระดมเงินทุนจากหลายแหล่ง ประกอบด้วยงบประมาณรัฐบาลไทย เงินกู้ภายในประเทศ และเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน/หรือเงินกู้เชิงพาณิชย์จากธนาคารเพื่อการนำเข้า และส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะตัดสินใจเรื่องแหล่งเงินทุนหลังจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วเสร็จ ทั้งนี้รวมถึงเงื่อนไขเงินกู้ต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาชำระหนี้ และระยะเวลาปลอดหนี้ เป็นต้น

          4. MOU ครั้งที่ 4 ระบุว่า จะพิจารณาจำนวนเงินกู้ และเงื่อนไขเงินกู้จากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังจากการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้วเสร็จ ทั้งสองฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า กระทรวงการคลังของประเทศไทยจะเป็นผู้สนับสนุนเงินลงทุนเพื่อให้โครงการเริ่มก่อสร้างได้ตามกำหนดเวลา ที่สำคัญ ใน MOU ครั้งนี้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ทั้งสองฝ่ายให้การรับรองว่าข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเงินกู้ที่มีการหารือในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นความลับ

          ใน MOU ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการร่วมลงทุน ไม่ระบุว่าแต่ละฝ่ายจะลงทุนมากน้อยเพียงใด และจีนจะมีเงื่อนไขการให้กู้เงินอย่างไร แต่ผมทราบมาว่าจีนจะไม่ร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟเส้นทางดังกล่าวกับไทยตามที่ผมได้โพสต์มาแล้วหลายครั้ง แต่จีนจะให้ไทยกู้เงินบางส่วนเพื่อใช้ในการก่อสร้าง พร้อมทั้งจีนจะรับจ้างก่อสร้างงานบางส่วนที่ผู้รับเหมาไทยไม่ถนัด อีกทั้ง จีนจะขายขบวนรถไฟ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่มีในไทย หากรูปแบบการลงทุนเป็นไปเช่นนั้นจริง จีนก็จะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในกรณีที่โครงการขาดทุน แต่จีนจะได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยเงินกู้ การได้งานก่อสร้าง การขายขบวนรถไฟและวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการมีเส้นทางออกทะเลอีกเส้นทางหนึ่ง

          หากไทยต้องกู้เงินจากจีน คนไทยต้องรับผิดชอบใช้หนี้เงินกู้ ดังนั้น จึงเป็นความชอบธรรมที่เราชาวไทยจะต้องรับรู้ข้อมูลการกู้เงินจากจีน ซึ่งประกอบด้วย จำนวนเงินต้น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาปลอดหนี้ ระยะเวลาชำระหนี้ รวมทั้งเงื่อนไขเงินกู้อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเงินกู้จากจีน เพื่อประโยชน์ต่อโครงการและชาวไทยทั้งมวล




ภาพจาก เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สามารถ จี้ รัฐบาล เปิดข้อมูลเงินกู้ โครงการรถไฟ ไทย-จีน โพสต์เมื่อ 28 มิถุนายน 2558 เวลา 14:43:03 3,829 อ่าน
TOP