x close

หนี้ตำรวจยอด 9,000 ล้าน ตะลึง จ่อปลด 100 นาย หลังศาลสั่งล้มละลาย

ยอดหนี้ตำรวจ 9,000 ล้าน จ่อปลด 100 นาย

          ผบช.ภ.4 ชี้ หนี้ตำรวจในสังกัดสูงถึง 9,000 ล้านบาท เผยปลดตำรวจในสังกัดแล้ว 5 นาย จ่อปลดอีก 100 นาย หลังศาลสั่งล้มละลาย เตรียมหาทางออกป้องกันคิดสั้นฆ่าตัวตาย


          เมื่อวานนี้ (7 สิงหาคม 2558) พล.ต.ท. บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 เปิดเผยว่า ขณะนี้ บช.ภ.4 ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ของข้าราชการตำรวจในสังกัด ผบช.ภ.4 ด้วยการปลดข้าราชการตำรวจระดับชั้นประทวนในสังกัด ภ.จว.อุดรธานี จำนวน 5 นาย ที่ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย และเตรียมที่จะปลดอีกประมาณ 100 นาย ที่เป็นข้าราชการตำรวจใน ภ.จว.12 จังหวัดในสังกัด บช.ภ. 4 ซึ่งมี ภ.จว.อุดธานี ภ.จว.ขอนแก่น ภ.จว.หนองบัวลำภู ภ.จว.มุกดาหาร และ ภ.จว.ร้อยเอ็ด

          โดยที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีนโยบายป้องกันไม่ให้ตำรวจฆ่าตัวตาย บช.ภ.4 จึงรับนโยบายมาปฏิบัติ พบว่า สาเหตุหลักที่ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายคือ เป็นหนี้สินเกินตัว และถูกให้ออกจากราชการ ปัญหาจึงเกิดขึ้นกับสังคมอย่างมากมาย อีกทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขาดกำลังพล จึงต้องมีนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 เพื่อไม่ต้องการให้ข้าราชการตำรวจตัดสินปัญหาชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย

          สำหรับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ มีสถิติฆ่าตัวตายเฉลี่ย 29 นายต่อปี โดยในปี 2555 มากที่สุดถึง 47 ราย ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการตำรวจชั้นประทวน โดยสายงานที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ สายงานป้องกันปราบปราม หน่วยงานที่มีการฆ่าตัวตายมากที่สุด คือ บช.ภ.5 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน หน้าที่การงาน สุขภาพ และอื่น ๆ ในส่วนของ บช.ภ.4 ในปีงบประมาณ 57 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีข้าราชการตำรวจในสังกัดฆ่าตัวตาย 4 ราย

          ส่วนการดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558 พบว่าข้าราชการตำรวจได้เป็นหนี้สินธนาคาร โดยข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 จำนวน 21,000 นาย เป็นหนี้ธนาคารออมสินประมาณ 12,000 นาย แต่ละนายจะมีหนี้สินตั้งแต่ 200,0000- 2,000,000 บาท คิดเป็นยอดหนี้สินมากถึง 9,000 ล้านบาท และข้าราชการตำรวจ บช.ภ.4 ที่ถูกธนาคารออมสินฟ้องล้มละลาย มีประมาณ 2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการชั้นประทวน และบางรายมียศถึง พ.ต.อ. ตนจึงต้องกระตุ้นเตือนให้ข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 ที่เป็นหนี้สินธนาคารออมสินได้ไปเจรจาแก้ปัญหาหนี้สินก่อนที่จะถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย

          อย่างไรก็ตาม บช.ภ.4 ได้ประสานงานกับธนาคารออมสินภาค 10 และภาค 11 เข้ามาเจรจากับข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 ที่เป็นหนี้ธนาคารออมสิน เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ของตำรวจ บช.ภ.4 โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ ของข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ภ.4 ได้มีวิธีการและแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจมีหนี้สินล้นพ้นตัว ล้มละลาย เงินไม่พอใช้ ด้วยการยืดงวดให้มากขึ้น ผ่อนชำระหนี้แต่ละเดือนให้ลดลงจาก 2 หมื่นบาทให้เหลือ 4-5 พันบาท และให้ข้าราชการตำรวจคนนั้นไปกู้สหกรณ์ตำรวจ บช.ภ.4 มาตัดยอดเงินกู้จากธนาคารออมสินให้เหลือน้อยลงเพื่อตัดยอดลงมาให้ต่ำลง เป็นการชำระหนี้สินระยะยาว ซึ่งหนี้สินก็เหมือนเดิม แต่การชำระหนี้สินได้ยาวขึ้น จะช่วยลดการแก้ปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายได้ในระดับหนึ่ง

ภาพจาก สรปิงนิวส์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนี้ตำรวจยอด 9,000 ล้าน ตะลึง จ่อปลด 100 นาย หลังศาลสั่งล้มละลาย โพสต์เมื่อ 8 สิงหาคม 2558 เวลา 10:34:30 13,483 อ่าน
TOP