x close

รอชม ซูเปอร์มูน-จันทร์สีเลือด สุดหายาก พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 18 ปี

พระจันทร์สีเลือด

          จับตา ปรากฏการณ์พระจันทร์สีแดงอิฐ จันทรุปราคาเต็มดวง ขณะดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุด แม้ไทยมองไม่เห็น แต่ยังสามารถชม ซูเปอร์มูน ดวงจันทร์เต็มดวงสุกสว่าง เช้าวันที่ 28 กันยายนนี้

          วันนี้ (27 กันยายน 2558) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (28 กันยายน) จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ใกล้โลกที่สุดในรอบปี แต่น่าเสียดายที่ประเทศไทยจะมองไม่เห็นดวงจันทร์สีแดงอิฐ แต่จะยังสามารถเห็นปรากฏการณ์ซูปเปอร์มูน ที่ดวงจันทร์เต็มดวงสุกสว่างใหญ่กว่าปกติ 2-3%

          ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน แต่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นได้เนื่องจากตรงกับเวลากลางวัน โดยพื้นที่ที่สามารถสังเกตเห็นได้คือแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ดวงจันทร์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือที่เรียกว่า "ซูปเปอร์มูน"

          ทั้งนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก นับเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นเพียง 5 ครั้ง ได้แก่ ปี พ.ศ. 2453, 2471, 2489, 2507 และ 2525 และหากพลาดจากวันพรุ่งนี้ (28 กันยายน) จะเกิดครั้งต่อไปในปี พ.ศ. 2576 โดยสำหรับชาวไทยที่ต้องการชมปรากฏการณ์ซูเปอร์มูน สามารถรอชมได้ทั่วประเทศในช่วงเช้าของไทย

         
          อนึ่ง จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในระนาบเดียวกัน โดยมีโลกคั่นอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก คนบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก

          ช่วงเวลาที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวงจะเรียกว่า "จันทรุปราคาเต็มดวง" ซึ่งคนบนโลกจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากแสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุดที่ตามองเห็นได้ ซึ่งจะเกิดการหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์

ภาพจาก เฟซบุ๊ก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
เว็บไซต์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รอชม ซูเปอร์มูน-จันทร์สีเลือด สุดหายาก พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 18 ปี อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2558 เวลา 20:15:22 20,029 อ่าน
TOP